ครบรอบ 50 ปี ของการมี OSHAct สหรัฐอเมริกา....กฎหมายนี้ช่วยลดการประสบอันตรายหรือไม่

เผยแพร่เมื่อ: 09/05/2563....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคมฯ...,

 

ครบรอบ 50 ปี ของการมี OSHAct สหรัฐอเมริกา : กฎหมายนี้ช่วยลดการประสบอันตรายหรือไม่ ?

เมื่อปี 1970 สหรัฐอเมริกาออกพรบ.ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มาปีนี้ก็ครบ 50 ปีแล้ว สืบเนื่องจากพรบ.ดังกล่าว มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา 2 หน่วยงาน คือ NIOSH ทำหน้าที่ด้านการวิจัยและการศึกษา และ OSHA ทำหน้าที่ออกกฎหมายและบังคับใช้ 

ในโอกาสนี้ ทาง NIOSH ก็ไปค้นตัวเลขมาตอบโจทย์ว่าการมี OSHAct ช่วยลดจำนวนการประสบอันตรายจากการทำงานลงหรือไม่ (เพราะผมจำได้ว่าเคยอ่านพบว่าในสภาผู้แทนราษฏรของเขา ก็มีการยกเหตุผลที่ต้องกำหนด OSHAct ว่าเนื่องมาจากการประสบอันตรายของลูกจ้างมีมากเหลือเกิน ต้องออกกฎหมายมาดูแลความปลอดภัยของลูกจ้างกันแล้ว) 

พบว่าได้ผลครับ ตัวเลขการประสบอันตรายลดลงจากเดิมมากทีเดียว อย่างเช่น ในปี 1970 (ปีที่ออกพรบ.นี้) พบว่าลูกจ้างเสียชีวิต 16.9 ต่อลูกจ้าง 100,000 คน (จากเหตุที่สามารถป้องกันได้) แต่ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแรงงานของเขาพบว่าในปี 2018 นั้น จำนวนลูกจ้างที่เสียชีวิตจากการทำงานมีเพียง 3.5 ต่อลูกจ้าง 100,000 คน (ในขณะที่จำนวนลูกจ้างมีมากกว่าเดิมถึงสองเท่า)

ส่วนสถิติการเกิดเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยอย่างร้ายแรงนั้น ตัวเลขเมื่อปี 1972 อยู่ที่จำนวน 3.5 ต่อลูกจ้าง 100 คน และลดลงเหลือเพียง 3.1 ต่อลูกจ้าง 100 คน

สำหรับประเทศไทย เรามีพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พศ. 2554 มาจนบัดนี้ก็ 9 ปีเข้าไปแล้ว ก็น่าสนใจว่าจะมีผลต่อการลดจำนวนผู้ประสบอันตรายจากการทำงานมากน้อยเพียงใด

แต่ถ้าเราดูสถิติการประสบอันตรายจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ใน 20 กว่าปีที่ผ่านมา จำนวนลูกจ้างผู้ประสบอันตรายคิดต่อลูกจ้างแสนคนนั้น พบว่าจากเดิม ๆ ตกที่ประมาณ 35-40 คนต่อลูกจ้าง 100,000 คน เหลือประมาณ 12-13 ต่อลูกจ้าง 100,000 คน เท่านั้นเอง ก็เรียกว่าประสบผลสำเร็จทีเดียว (แม้ว่าตัวเลขจะต่ำกว่าความเป็นจริงก็ตาม) (หมายเหตุ : ตัวเลขของไทย มาจากความจำนะครับ ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เปิดจากตารางโดยตรง) 

หมายเหตุ : 1. อาจมีบางท่านแย้งว่าตัวแปรในเรื่องนี้มีมาก อาจไม่ได้มาจากการมี OSHAct เท่านั้น อันนี้ก็จริงครับ แต่ทาง NIOSH เขาก็ยืนยันว่าที่เขารายงานข้างต้นก็ไม่ผิด จริงแท้แน่นอน อ่านดูนะครับ Although other factors, such as changes in technology or shifts in employment across industry sectors may have also played a role, the OSH Act clearly has helped make workplaces safer and healthier 

                  2. สำหรับประเทศไทย ก็รอคนวิจัยนะครับว่าที่สถิติดีขึ้นนั้น มีเหตุผลมากจากสิ่งใดบ้าง แต่ที่แน่ ๆ ก็น่าจะมาจากการบังคับใช้กฎหมายของทางการ และฝีมือของจป.วิชาชีพไม่มากก็น้อยแหละครับ ใช่ไหมครับ

Visitors: 361,581