เมื่อตกจากที่สูงต้องทำอย่างไร (ต่อ) EP.2

เผยแพร่เมื่อ: 13/07/2563....,
เขียนโดย คุณรุจน์ เฉลยไตร  
CEO บริษัท เพอร์เฟคเซฟตี้เทรนนิ่งแอนด์คอนซัลติ้ง จำกัด
รองประธานชมรมจป.พระนคร

 

เมื่อตกจากที่สูงต้องทำอย่างไร (ต่อ)

 

          จาก EP.1 ที่ผมได้เล่าจากประสบการณ์ของผม ในเรื่องตกจากที่สูงในช่วงที่ทำงานใหม่ๆว่ามันมีความรู้สึกอย่างไรและรอดมาได้อย่างไรนั้น ซึ่งนับว่าผมโชคดีมากๆเลยที่ไม่เป็นอะไรมาก เนื่องจากมีทักษะในการตกจากที่สูงตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมต้นที่ครูวิมลสอนไว้ ซึ่งถ้าวันนั้นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของผมหัก ป่านนี้ผมอาจจะพิการไปแล้วก็ได้เพราะมีวิธีการช่วยแบบผิดๆจากรปภ.และเพื่อนๆผม ที่ช่วยกันใช้เชือกผูกตัวผมแล้วช่วยกันดึงขึ้นจากบ่อที่ลึกประมาณ5เมตรที่ผมตกลงไปครั้งกระโน้น

 

          “การช่วยเหลือผู้ที่ตกจากที่สูง อันดับแรกเลยต้องเช็คว่าเขามีสติอยู่หรือป่าว ถ้ามีสติอยู่ให้ถามอาการ ถ้ามีบาดแผลให้รีบห้ามเลือดทันที แต่ถ้าไม่หายใจให้รีบทำ CPRแต่ที่สำคัญห้ามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเด็ดขาด ต้องให้ทีมผู้ช่วยเหลือเป็นผู้เคลื่อนย้ายเท่านั้น

          ผมพูดชัดเจนและเสียงดังเพราะพูดผ่านเครื่องขยายเสียงต่อหน้าพนักงานประมาณ 350 คน ในเช้าวันจันทร์เดือนเมษายนที่อากาศค่อนข้างร้อนระหว่างทำกิจกรรม Safety Talk ในงานก่อสร้างขนาดใหญ่โครงการหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะ Safety Manager และเข้าใจเรื่องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ หลังจากที่ได้ไปอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพมาแล้ว เสียงที่ตอบกลับมามีทั้งเสียงปรบมือแบบดังมาก และเสียงโห่ร้องดังกึกก้องและยาวนานมาจากพนักงานที่ยืนอยู่กลางแดดประมาณ 20 คน

   “เขาน่าจะตบมือไล่มึงมากกว่านะ” ช่างชัยรัตน์ เพื่อนสนิทที่เป็นวิศวกร กระซิบข้างหูผมด้วยเสียงเบาๆที่เราได้ยินกันเพียง 2 คน

   “กูรู้แล้ว!!  เขาคงร้อนเพราะมายืนตากแดดนานแล้วมั้ง” ผมกระซิบเบาๆแก้เขินตอบเขา พร้อมทั้งสั่งเลิกแถวแยกย้ายไปทำงาน ส่วนผมเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อทำภารกิจประจำวัน ที่ใครๆชอบแซวกันคือหน้าที่หลักของ Manager คือ “ประชุม รับแขก แด..กาแฟ นั้นแหละครับ แต่ถ้าอยู่ในสมัยนี้อาจจะมีเติมอีกไปอีกคำหนึ่งก็คือ แชร์Facebook ด้วยครับ

   เวลาผ่านไปนานเท่าไรไม่รู้แต่ผมจำได้ว่ากำลังตอบคำถามของช่างชัยรัตน์ เพื่อนสนิทของผมคนเดิม เรื่องแบบที่ใช้ในการตรวจสอบเครน ที่ผู้รับเหมาส่งมาให้ตรวจก่อนเอารถเครนเข้าโครงการก่อสร้าง

   “ปั้นจั่นกับเครนมันต่างกันอย่างไงวะรุจน์’’ ช่างชัยรัตน์ถามผมด้วยเสียงนุ่มๆช้าๆสไตล์คนเรียบร้อยชนิดเข้าห้องส้วมยังนั่งพับเพียบเลย 555

   “ปั้นจั่นเป็นภาษาทางราชการในกฎหมาย ส่วน เครน (Crane) คือภาษาอังกฤษ”

   ผมกำลังอธิบายอย่างคล่องแคล่ว...และกำลังพูดต่อ

   “ช่างรุจน์!! ว.2 มีคนตกจากนั่งร้าน ที่โซน บี เรียกรถพยาบาลด่วน”  เสียงวิทยุที่วางอยู่บนโต๊ะผมดังขึ้น

   ผมกับช่างชัยรัตน์เพื่อนคู่หู รีบขับรถไปที่เกิดเหตุทันที ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวของผม  “ยามาฮารุ่นเมทนางพญา” ที่พ่อซื้อเป็นรางวัลที่เรียนปวช.ปี 1แล้วที่ไม่ถูกรีไทร์

   “เฮ้ย..ลุงทำอะไรนะ!” ผมตะโกนสุดเสียง เมื่อเห็นลุงคำ โฟร์แมนเก่าแก่ของบริษัทที่จะเกษียณปีหน้า  กำลังกดไปที่หน้าอกด้านซ้ายของชายกลางคนที่นอนอยู่บนพื้นซีเมนต์ ที่บริเวณข้างมีส่วนประกอบของนั่งร้านตกอยู่หลายชิ้น ระหว่างที่กดก็ลงไปก็มีเลือดพุ่งขึ้นมาเปื้อนเสื้อผ้าของลุงคำเต็มไปหมด

   “ลุงทำอะไรนะ!” ผมพูดขณะดึงตัวแกออกมาจากลุงจัน (ซึ่งผมรู้ตอนหลังว่าแกตกมานั่งร้าน)

   “ทำCPR ไงครับ นายช่าง” แกพูดอย่างรวดเร็วด้วยท่าทางที่มั่นใจเต็มที่

   “ผม..เจ็บ..แผล..ครับ” ลุงจันที่นอนหงายมีเลือดทะลักเป็นลิ้มๆออกมาจากบริเวณพุงพูดด้วยเสียงอ่อยๆและขาดๆหายๆ

   “อ้าว! ฟื้นแล้วรึวะ” ลุงคำพูดสวนมาในทันที

   “ข้า ยังไม่ตาย โว้ย..เหล็กมันแทงที่พุง ตอนตกมาจากนั่งร้าน  เอ็งมาถึงก็ไม่ถามอะไรสักคำกดที่หน้าอกข้า อย่างเดียวเลย..” ลุงจันพูดด้วยเสียงดังและชัดเจนด้วยอาการโมโห เสมือนว่าอาการเจ็บปาดแผลจะหายไปแบบปลิดทิ้ง

   “ลุงใจเย็นๆลุงนอนเฉยๆอย่าเพิ่งขยับตัว เจ็บไหนบ้างครับ” ผมบอกกับลุงจันพร้อมทั้งปลดกระดุ้มเสื้อแขนยาวสีดำของแกออก จึงเห็นแผลมีลักษณะเป็นรู โตประมาณนิ้วหัวแม่มือมีเลือดไหลทะลักออกมา ผมจึงใช้ผ้าก๊อดสีขาว ที่ไม่รู้ว่าใครส่งมาให้ มาปิดปากแผลด้วยมือค่อนข้างจะสั่นเพราะนี่ก็เป็นครั้งแรกของผมที่เห็นเลือดสดๆของคนไหลออกมามากขนาดนี้ สักพักหนึ่งเลือดก็ออกมาค่อนน้อย ซึ่งผมคิดในใจว่า “เลือดมันหยุดเนื่องจากผมใช้ผ้าอุดหรือเลือดออกมาหมดตัววะเนี๊ยะ..” ผมคิดในใจเพื่อไม่ให้ใครได้ยิน

   “ตอนนี้เจ็บที่แผลอย่างเดียวครับช่าง” ลุงจันบอกกับผมด้วยเสียงอ่อยๆขาดๆหายๆเหมือนเดิม

   “ทำใจดีๆไว้ลุง รถพยาบาลกำลังมาผมเรียกไปนานแล้ว นอนนิ่งๆอย่าเพิ่งพยายามขยับตัว” ผมปลอบแก่ พร้อมทั้งสังเกตตามร่างกายของแกว่ามีส่วนไหนผิดรูปไปบ้าง

   *** ผมรู้สึกว่าการรอรถพยาบาลของโครงการในครั้งนี้ มันนานมาก นานจนเห็นว่าลุงจันตัวแกเริ่มซีดเนื่องจากเสียเลือดมาก.. แต่ถึงอย่างไรรถพยาบาลและทีมพยาบาลของโครงการก็มาถึงและช่วยชีวิตลุงจันได้ในครั้งนั้นหลังจากเขาแจ้งว่าหาทางเข้าที่เกิดเหตุไม่เจอทำให้เสียเวลาไปหลายนาที***

   “รถพยาบาลโคตรมาช้าเลยวะ !! กว่าจะมาถึงคนก็จะตายอยู่แล้ว คนช่วยเหลือก็ทำผิดๆ แสดงว่าไม่มีแผนฉุกเฉินกันเลยนี่หว่า..ช่างรุจน์” ช่างชัยรัตน์ พูดด้วยเสียงดังใส่หน้าผมจนทำผมรู้ว่าเมื่อเช้าเขากินข้าวกับน้ำพริกกะปิแน่นอน เพราะน้ำลายที่กระเด็นใส่หน้าผมมีกลิ่นกะปิออกมาด้วย

*****ช่างชัยรัตน์ เข้าใจผิดแล้ว..ที่บอกว่าผมไม่มีแผนฉุกเฉิน..! มีครับ..แต่ผมไม่เคยซ้อมต่างหากเล่า..!! ทีมช่วยเหลือที่มาช้าเพราะไปที่ผิด..คนช่วยเหลือผมก็สอนเขาบ่อยๆ..!! แต่ก็ไม่เคยอบรมให้ความรู้เขาแบบจริงๆจังๆ ต่างหาก..*****ผมพูดกับตัวเองเบาๆ…

   “ลุงคำ..ทำไมถึงกดหน้าอกซ้ายลุงจัน” ผมถามลุงคำ หลังจากที่ทีมพยาบาลนำลุงจันไปรพ.แล้ว

   “เอ้า..ก็หัวใจคนเราอยู่อกด้านซ้ายไงช่าง..ผมทำ CPR ไงครับช่างรุจน์ ” แก่ตอบผมในลักษณะแบบว่าดูถูกผมว่า..นี่ช่างไม่รู้เลยรึวะ!! ประมาณนั้น

   “ลุงเคยช่วยมากี่คนแล้ว” ผมแกล้งถามต่อ

   “3คน!! ตายหมด 3 คนเลยครับช่างรุจน์” แกยังตอบด้วยเสียงเบาและยิ้มๆ

   “จิ๊กโด่” ผมอุทานออกมาอย่างลืมตัว

   “ลุงคำ..การทำ CPR ต้องกดตรงจับผู้ป่วยนอนหงาย นั่งคุกเข่าข้างผู้ป่วย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก (ตำแหน่งตรงกลางระหว่างหน้าอก ระดับเดียวกับหัวนมพอดี) และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที ไม่ใช่ตรงที่หน้าอกด้านซ้ายนะลุง” ผมอธิบายพร้อมทั้งทำท่าทางให้ดู

   “กดระหว่างหน้าอก ระดับเดียวกับหัวนมพอดี.!!.แล้วถ้าเป็นผู้หญิงที่ชราภาพแบบเมียผมล่ะช่างรุจน์จะกดตรงไหน” แก่ถามแบบซื่อๆน่าตาย สไตล์คนภาคอีสาน ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน 555!! ปัจจุบันแกเกษียณไปหลายปีแล้ว ได้ข่าวล่าสุดเมื่อต้นปีจากช่างชัยรัตน์ว่า แกกลับไปอยู่บ้านของแกที่จังหวัดทางภาคอีสาน อุทิศตนเพื่อสังคมโดยการเป็นอาสากู้ภัยนะครับ แต่รับรองครับ ว่าทำ CPR เป็นแน่นอน เพราะจากวันนั้นผมได้จัดให้มีการอบรมอย่างจริงจังเลยครับ

          จากเหตุการณ์ลุงจัน ตกจากนั่งร้านในวันนั้นทำให้ผมกลับมาคิดทบทวน ก็ได้รู้ว่ามันเกิดจากระบบการจัดการเรื่องการช่วยเหลือผู้ที่ตกจากที่สูงอย่างมีระบบนั่นเอง ซึ่งระบบที่ดีมันต้องมีแผนรองรับ3แผนด้วยกันคือ แผนป้องกันการเกิดเหตุ แผนขณะเกิดเหตุและแผนหลังเกิดเหตุนั่นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ผมก็มีหมดแล้ว..!! แต่ขาดทดลองใช้จริงและซ้อมครับ ผมจึงดำเนินการอย่างจริงจัง และนับจากนั้นไม่มีอุบัติเหตุเรื่องพนักงานตกจากที่สูงอีกเลยตลอดจนงานเสร็จสมบรูณ์

 

Visitors: 365,540