การพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งที่ จป. ควรรู้ EP.1

เผยแพร่เมื่อ: 26/07/2563 ....
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

  

ตอนที่ 1 การพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

          การพัฒนาประเทศ ในด้านต่างๆ นอกจากยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้นแล้ว กลับมีผลข้างเคียงของการพัฒนาที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่ายิ่งพัฒนามากขึ้น กลับทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมามากมาย เช่นกัน เช่น ปัญหาขยะท่วมทะเล ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาน้ำแข็งขั่วโลกละลายจากภาวะโลกร้อน และอีกสารพัดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นตามที่ปรากฎในข่าวจากทั่วโลกทั้งนี้ เมื่อนำผลได้กับผลเสียมาหักลบกัน จึงยังมีข้อสงสัยว่าตกลงแล้ว คุมค่าหรือเปล่า? อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ตอบสนองความสะดวกสบายให้มนุษย์ยังคงต้อง พัฒนาต่อไป ดังนั้น เราคงต้องหันมามองด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะสร้างความบอบช้ำให้กับสิ่งแวดล้อมของเราให้ได้น้อยที่สุด หรืออย่างน้อยรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ได้นานที่สุด

          แนวคิดหนึ่งที่เป็นแนวคิดสากลเพื่อประเมินผลสุทธิของการพัฒนา คือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ที่เสนอโดยสหประชาชาติ ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้รับเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นกรอบในการพัฒนาและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

          ในส่วนของมิติด้านสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง 5 เรื่อง ได้แก่
                    - เป้าหมายที่ 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล
                    - เป้าหมายที่ 7: พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
                    - เป้าหมายที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                    - เป้าหมายที่ 14: การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
                    - เป้าหมายที่ 15: การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

          รัฐบาลไทยได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) ซึ่งเผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2561 ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังกล่าวถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องนําไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกําหนดกลยุทธ์และแผนงานและการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในแบบทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเป็นการดําเนินการบนพื้นฐานการเติบโตร่วมกัน ในทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยให้ความสําคัญกับการสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้าน อันจะนําไปสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป

          นอกจากนี้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็นตลอดจนระบบผลิตทางการเกษตรที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกับความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ขณะที่ระบบนิเวศต่างๆ มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง ทําให้นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญและความสนใจกับการเป็นสังคมสีเขียว การรักษาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรวมถึงการสร้างสมดุลความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารที่มีแนวโน้มจะมีความสําคัญเพิ่มมากขึ้น กฎระเบียบและข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเข้มข้นและเข้มงวดขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมกิจกรรมระดับสูงว่าด้วยการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส (High-level Event on the Entry into Force of the Paris Agreement) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2559 โดยประเทศต่าง ๆ ตกลงร่วมกันที่จะมุ่งรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และให้มีความพยายามเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ผลกระทบที่เกิดขึ้นยิ่งมีนัยสำคัญและเป็นผลกระทบที่กว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ กระทบต่อการทำกินและรายได้ของเกษตรกร ก่อให้เกิดความยากจน เป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร และท้ายที่สุด เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงเป็นภัยต่อโลกปัจจุบัน แต่มีผลถึงลูกหลานของพวกเราในอนาคตการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส เป็นก้าวที่สำคัญยิ่งก้าวหนึ่งของไทย ประเทศไทยเข้าร่วมเพราะตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่จะรักษาโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลาน จึงต้องร่วมมือกันจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว เป็นการส่งสัญญาณถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ

          สำหรับในตอนหน้า จะขอกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของภาคอุตสาหกรรม ที่มีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นให้โรงงานอุตสาหกรรมมีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีความปลอดภัย มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

Visitors: 366,561