น้ำชาล้นแก้ว

เผยแพร่เมื่อ: 29/07/2563....,
เขียนโดย คุณบัญชา ศรีธนาอุทัยกร
ผู้จัดการสมาคมฯ / สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ
, SHAWPAT

 

เรื่อง น้ำชาล้นแก้ว

 

          การเริ่มต้นในการทำงาน โดยเฉพาะเรียนจบมาใหม่ เป้าหมายอย่างเดียวที่อาจารย์สอน คือ “การสร้างความปลอดภัยในการทำงาน” มีความรู้และเครื่องมือมากมายที่อาจารย์สอนและปลูกฝัง และให้วิญญาณโดยการหล่อหลอมสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ที่เต็มร้อยคือ ความกระตือรือร้นที่จะทำงาน มาทราบในภายหลัง ภาษาอังกฤษเรียกความรู้สึกนี้ว่า “PASSION” และจะโชคดีหรือไม่ ทราบได้ว่าตัว PASSION นี้อยู่กับเรามาโดยตลอด ความกระตือรือร้นที่จะทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย

          ตอนที่จะทำงานกับองค์กรแห่งหนึ่ง ลองไปสมัครดูและมีโอกาสได้สัมภาษณ์ทันทีหลังเขียนใบสมัครเสร็จ มีแต่ใจซื่อถามอะไรมาก็ตอบไป พอผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้สอบถามกลับ คำถามที่ประกอบไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นและอยากรู้จักให้มากขึ้น ก็พรั่งพรูออกมาเรื่อยๆ ใช้เวลาจากบ่ายวันนั้นจนเลยเวลาเลิกงาน  ผู้บริหารระดับสูงหลายท่านกรุณาและพยายามที่จะตอบคำถามให้ได้ทุกคำถาม (โดยมารู้จักภายหลังว่านั่นคือ ขั้นตอนสำคัญของการทำ “การประเมินสถานะเบื้องต้น” (initial status review) ขององค์กร ทั้งบุคคล ระบบ และวัฒนธรรมการทำงาน

          การถามตอบถึงความคาดหวังของการจ้างงานตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ” และ “สถานการณ์ความปลอดภัยในปัจจุบันขององค์กรและสิ่งที่องค์กรปรารถนา” สำหรับองค์กรข้ามชาติแห่งนี้ ความรู้สึกกลับรับรู้ในสิ่งที่เป็นอยู่นั้น ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากการบอกเล่าผ่านคำตอบ การที่หมอจะการรักษาคนไข้ที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วยและคิดว่าแข็งแรงมาก ยังง่ายกว่าสถานการณ์ที่พบนี้เสียอีก การได้เรียนรู้จากการ ถาม-ตอบ จึงต้องนำไปวางเป็นกลยุทธ์ต่อไปถ้าจะสานงานต่อนี้

          ข้อเสนอที่จะ “วัดผลการดำเนินงานของผู้เขียนในอีกหกเดือนข้างหน้า” ในองค์กรที่มีพนักงานกว่าสองพันคน จึงถูกนำเสนอกับหัวหน้าของหัวหน้างานในวันที่ตกลงเริ่มเข้าทำงานในสัปดาห์แรก แต่มีข้อแม้ว่า “การวัด” นั้นต้องมีผล ณ ปัจจุบันเป็นจุดเปรียบเทียบ หลังจากนั้นการประเมินสถานะขององค์กรจึงรับความเห็นชอบให้ทำได้  ผู้เขียนการวิเคราะห์องค์กรพบว่า โดยที่ผู้บริหารเป็นอเมริกันชน สายบังคับบัญชารายงานตรงกับสำนักงานในประเทศสหรัฐฯ ระบบประเมินของศาสตราจารย์ด้านเคมีชาวอเมริกัน จึงถูกเลือกนำมาใช้ในการประเมินระบบความปลอดภัยขององค์กร (Loss Prevention, Prof. Dan Petersen) ต่อมาเลือกผู้ทำการประเมิน แน่นอนต้องการความน่าเชื่อถือ พนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไป จำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ 80 ของกลุ่มนี้ และกลุ่มของสมาชิกคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ทั้ง 7 คน ซึ่งมีหัวหน้าช่างจบปริญญาตรีเพียงคนเดียว องค์ประกอบสุดท้ายคือ การทำความเข้าใจในแบบประเมินที่เลือกมาใช้ และการประเมินที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ต้องสอนให้เข้าใจ และผู้สอนต้องเป็นที่น่าเชื่อถืออีกด้วย ด้วยองค์ประกอบทั้งสามข้างต้น ทำให้การชี้แจงแบบประเมินและทำแบบประเมินในขณะเดียวกันทีละข้อพร้อมกัน เพื่อที่จะแน่ใจว่าเป็นที่เข้าใจของผู้ประเมิน และข้อท้วงติงที่อาจจะมีขึ้นจะสามารถอธิบายให้เป็นที่ยอมรับได้ง่ายลง

          การนำเสนอผลการประเมินในที่ประชุมผู้บริหารซึ่งเป็นผู้สามารถตัดสินใจ และเป็นผู้กำหนดทิศทางขององค์กรได้ นับว่าเป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยผลการประเมินจะต้องนำเสนอให้รับรู้พร้อมกันในที่ประชุม  และอีกความท้าทายหนึ่งที่ต้องสื่อสารในภาษาที่ไม่ถนัด ดังนั้นการเตรียมการอย่างดีในแผ่นใสที่จะใช้ในการนำเสนอ (ปิ้ง บนเครื่องฉายแผ่นใส) ให้ที่ประชุมทราบ ด้วยความตั้งใจที่ดีและ Passion ที่มีนับว่าเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน และกลยุทธ์ที่ดีของการทำงานนี้ให้ลุล่วงได้ ถึงแม้จะไม่ง่ายนักแต่ถือเป็นก้าวแรกของการทำงานได้เป็นอย่างดี

          ความพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ (เมื่อมีการรับรู้ผลการประเมิน) และกลไกที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ที่มีทั้งผู้บริหารระดับสูงสุด และระดับรองลงมาอยู่ด้วย) จึงเกิดขึ้น ถือเป็นก้าวที่สำคัญอย่างมาก ทุกคนทุกระดับในองค์กรจะต้องมีการอบรมบทบาท หน้าที่ เรื่องความปลอดภัยใหม่ทั้งองค์กร ถึงแม้ว่าคณะผู้บริหารบริษัทฯ จะไม่ได้รับการอบรมด้านความปลอดภัยใหม่ตามที่ตกลงในที่ประชุมฯ และผู้บริหารสูงสุดจะเข้าประชุมคณะกรรมการชุดใหม่แค่การประชุมครั้งแรกเพียงครั้งเดียวก็ตาม แต่ข่าวสารของคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ก็ได้รับการแจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ เป็นประจำทุกเดือน และบันทึกผลการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและส่งให้ผู้บริหารสูงสุดและคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ ภายในไม่เกิน 3 วันหลังจากการประชุม

          กลับมาคิดถึงองค์ความรู้ในปัจจุบันที่ถูกพัฒนาและสื่อสารในวงกว้าง เรื่องของผู้เขียนอาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปของทุกท่าน โดยเฉพาะท่านที่ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ และขั้นตอนดังกล่าวถูกระบุเป็นข้อกำหนดในระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญ คือ หัวใจ (ความตั้งใจ และความจริงใจ) ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งผู้เขียนยังเชื่อว่ายังเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีในการทำงาน

Visitors: 361,742