การนำกฎทอง 7 ข้อ ของ VISION ZERO มาประยุกต์เพื่อการเสริมสร้าง ภาวะผู้นำ ในระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001

เผยแพร่เมื่อ: 11/09/2563
เขียนโดย คุณสวินทร์ พงษ์เก่า
กรรมการบริหารสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ 

การนำกฎทอง 7  ข้อ ของ VISION ZERO มาประยุกต์เพื่อการเสริมสร้างภาวะผู้นำ ในระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ISO 45001 

 

 

          ความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในองค์กรทุกองค์กรนั้น ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหาร ที่ต้องมีภาวะผู้นำอย่างแท้จริง  เรามิอาจปฎิเสธได้ว่า ความสำเร็จขององค์กรในเรื่องการบริหารงานอาชีวอนามัย จะเกิดขึ้นได้จากผู้บริหารทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร จะเป็นบุคคลที่เป็นปัจจัยที่จะนำมาสู่ความสำเร็จ

          ผู้นำ คือ บุคคลที่สามารถชักจูงโน้มน้าวหรือชี้นำบุคคลอื่น  ให้ปฎิบัติงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ  ดังนั้นการแสดงภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในการที่ผู้นำจะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน  ถ้าจะมาพิจารณาภาวะผู้นำในบริบทของอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแล้ว ผู้ที่จะนำพาองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์แห่งความเป็นศูนย์ ( Vision Zero) จะต้องเป็นผู้นำที่แสดงภาวะผู้นำด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยเป็นต้นแบบ และทำให้ผู้ปฎิบัติงานทุกคนเกิดความศัทธา อันจะทำให้เกิดวัฒนธรรมเชิงป้องกันอย่างยั่งยืน ( Preventive  Culture)

          ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำคำถามสำหรับการประเมินตนเองกฎทอง 7  ข้อ ของ VISION ZERO มาประยุกต์เพื่อการเสริมสร้างภาวะผู้นำในระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินผลภาวะผู้นำด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  ด้วยตนเอง และเป็นการประเมินเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการปรับปรุง และเสริมสร้างภาวะผู้นำด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างมืออาชีพ

          ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001:2018 นี้เป็นระบบที่ออกแบบโดยใช้แนวทางการนำมาประยุกต์ตาม “High level structure” ซึ่งจะเป็นโครงสร้างเดียวกันกับมาตรฐานอื่นๆ ได้แก่  ISO9001:2015 (Quality Management System) , ISO14001:2015  (Environment  Management System) เป็นต้น

          ที่มาของการพัฒนาของมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001:2018 นี้ ได้มีการพิจารณาเนื้อหาของมาตรฐานอื่นๆ ได้แก่  OHSAS18001, ILO OSHMS 2001 (International Labor Organization) โดยโครงสร้างของข้อกำหนด ISO 45001:2018  นี้    มี 10 ข้อซึ่งเป็นโครงสร้างแบบ High level structure โดยโครงสร้างดังกล่าว สามารถนำระบบการจัดการมาตรฐานอื่น มาทำการบูรณาการร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการบริหารแบบ TQM (Total Quality  Management)  ซึ่งมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับทุกระบบงานแบบทั่วทั้งองค์กร ทำให้เกิดคุณภาพทั่วทั่งองค์กร และตอบสนองวัตถุประสงค์สูงสุดขององค์กรคือการเพิ่มผลผลิต (Productivity) เพื่อให้องค์กรสู่ความยั่งยืน

          หากพิจารณาในข้อกำหนดข้อที่ 5 ของ ISO 45001 ความเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Leadership and worker participation) ถือว่าเป็นหัวใจและเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การแสดงภาวะผู้นำของผู้บริหารนั้น นอกจากเป็นผู้มอบนโยบายและมอบหมายบุคคลที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนระบบจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนทรัพยากรให้พอเพียงในการขับเคลื่อนระบบแล้ว ผู้บริหารจะต้องแสดงออกถึงภาวะผู้นำในเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างมุ่งมั่น เด่นชัด และมีความต่อเนื่อง    

          จากประสพการณ์ของผู้เขียนที่ได้ทำงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนานกว่า 35 ปี และได้มีโอกาสอบรมและศึกษาแนวทางของ  VISION ZERO – Seven Golden Rules ที่สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ได้นำกลยุทธ กฎทอง 7  ข้อ ของ  International Social Security Association – ISSA)  ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit Organization) ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและเสนอแนะยุทธศาสตร์ Vision Zero– Seven Golden Rules เพื่อการบริหารจัดการและสร้างเสริมความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน โดยมีกลยุทธ์เชิงป้องกันเพื่อมุ่งไปสู่โลกอนาคตแห่งความปลอดภัย ปราศจากการเสียชีวิตจากการทำงาน และไม่มีอุบัติเหตุที่รุนแรง และไม่เป็นโรคจากการทำงาน เป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางในการป้องกันการเกิดอันตรายจากงาน โดยการนำมิติทางด้านความปลอดภัย สุขภาพ และความผาสุก (Safety   Health  Wellbeing ) มาบูรณาการเพื่อการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานในสถานประกอบการทุกระดับ

          การนำกลยุทธ์เชิงป้องกันของวิสัยทัศน์สู่ความเป็นศูนย์ไปปฏิบัตินั้น เป็นงานใหญ่อย่างยิ่งที่จำเป็นต้องมีการทุ่มเทเสียสละและการมีส่วนร่วมทุกๆคนในองค์กร ที่จะขับเคลื่อนงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มุ่งไปสู่ วิสัยทัศน์ของความเป็นศูนย์ เพื่อความปลอดภัย สุขภาพที่ดี และความผาสุก ของทุกคนในองค์กรอย่างยั่งยืน

          Vision Zero – Seven Golden Rules
                    1. 
มีความเป็นผู้นำ – แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของท่าน (Take leadership – demonstrate commitment)
                    2. 
ชี้บ่งอันตราย – ควบคุมความเสี่ยง (Identify hazards – control risks)
                    3. 
กำหนดเป้าหมาย – พัฒนาแผนงานโปรแกรม (Define targets – develop programs)
                    4. 
ทำให้แน่ใจว่าได้มีการจัดทำระบบด้านความปลอดภัย และสุขภาพอนามัย – จัดการองค์กรให้ดี (Ensure a safe and healthy system – be well organized)
                    5. 
ทำให้แน่ใจว่า เครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานที่ทำงาน มีความปลอดภัยและไม่มีผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย (Ensure safety and health in machines, equipment and workplaces)
                    6. 
ปรับปรุงคุณสมบัติของบุคลากร – พัฒนาความรู้ความสามารถ (Improve qualification – develop competence)
                    7. 
ลงทุนในด้านบุคลากร – สร้างแรงจูงใจพวกเขาโดยการ ให้เขามีส่วนร่วม (Invest in people – motivate by participation)

          ในกฎทองทั้ง 7 ข้อ จะเป็นคำถามที่ให้ผู้บริหาร นำไปประเมินตนเอง และการประเมินก็จะใช้รูปแบบอย่างง่ายคือ เป็นสัญญลักษณ์สี คือ เขียว  เหลือง  แดง (เหมือนสัญญาณไฟจราจร)  โดยผู้ประเมินจะอ่านคำถามที่ถามในกฎทองแต่ละข้อ และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้  หากผู้ประเมินได้ ดำเนินการในข้อนั้นๆโดยมีวิธีการที่ชัดเจน (มี Approach) และทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  ก็ประเมินเป็นสีเขียว เสมือนมีสัญญาณไฟเขียวที่ปล่อยรถให้วิ่งผ่านอย่างคล่องตัว  หากการดำเนินการไม่มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ เสมือนไฟเหลือง รถต้องชลอความเร็ว แต่หากไม่ได้มีการดำเนินการด้วยตนเอง  ตามกฎทองแต่ละข้อ ก็เปรียบเสมือนสัญญาณไฟแดง รถต้องหยุด

          การประเมินโดยใช้  Vision Zero – Seven Golden Rules  จะทำให้ผู้บริหารสามารถมองเห็นจุดปรับปรุงที่ตนเองจะสามารถนำมาพัฒนา และเป็นการสะท้อนภาวะผู้นำ ด้าน อาชีวอนามัยและความปลอดภัยของตนเองอย่างแท้จริง

          สำหรับแบบประเมิน ที่ผู้เขียน ได้นำเสนอนี้จะเป็นแบบประเมิน ที่เน้นเฉพาะคำถามหลัก ในลักษณะภาพรวมของคำถามในแต่ละกฎทอง (Overall  Question)  ซึ่งหากองค์กรใดที่มีความสนใจ ทางสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์   ก็ยินดีที่จะให้คำแนะนำในการใช้ Vision Zero – Seven Golden Rules  ในการประเมิน

กฎทองข้อที่ 1 มีความเป็นผู้นำ – แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของท่าน (Take  leadership – demonstrate commitment)

กฎทองข้อที่ 2 ชี้บ่งอันตราย – ควบคุมความเสี่ยง (Identify hazards – control risks)

กฎทองข้อที่ 3  กำหนดเป้าหมาย – พัฒนาแผนงานโปรแกรม (Define targets – develop programs)

กฎทองข้อที่ 4 ทำให้แน่ใจว่าได้มีการจัดทำระบบด้านความปลอดภัย และสุขภาพอนามัย – จัดการองค์กรให้ดี
(Ensure a safe and healthy system – be well organized)

กฎทองข้อที่ 5  ทำให้แน่ใจว่า เครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานที่ทำงาน มีความปลอดภัยและไม่มีผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย
(Ensure safety and health in machines, equipment and workplaces)

กฎทองข้อที่ 6 ปรับปรุงคุณสมบัติของบุคลากร – พัฒนาความรู้ความสามารถ (Improve qualification – develop competence)

กฎทองข้อที่ 7  ลงทุนในด้านบุคลากร – สร้างแรงจูงใจพวกเขาโดยการให้เขามีส่วนร่วม (Invest in people – motivate by participation)

 

          การประเมินโดยใช้กฎทองทั้ง 7 ข้อ จะทำให้ผู้บริหารสามารถประเมินด้วยตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนา มิได้ประเมินให้เห็นข้อบกพร่องแต่อย่างใด แต่ Vision Zero – Seven Golden Rules นี้จะเป็นเสมือนเข็มทิศที่มีจุดมุ่งไปสู่การเสริมสร้างภาวะผู้นำด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร เพื่อทำให้ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001 มุ่งไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ที่จะทำให้ผู้ปฎิบัติงานทุกคนในองค์กรมีความปลอดภัย มีสุขภาพอนามัยที่ดี และมีความผาสุก (Safety   Health  Wellbeing )  ตลอดไป


Visitors: 365,528