ทัศนะต่อกฎหมายตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงฉบับใหม่

เผยแพร่เมื่อ: 11/10/2563
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา นายกสมาคม ส.อ.ป.

ทัศนะต่อกฎหมายตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงฉบับใหม่

 

          ความคิดเห็นต่อกฎหมายตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงฉบับใหม
          16 ปีผ่านไป แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ใน version ปี 63 แทบไม่แตกต่างจากฉบับ version ปี 47 เลย ความคิดเห็นแรกจึงออกมาแบบว่า “เสียของ” เสียดายโอกาสที่การปรับปรุงกฎหมายควรเป็น Major change แล้ว (อ่านรอบแรกนึกว่ากองราชกิจจานุเบกษาหยิบผิด ไปเอาของเก่ามาประกาศซะอีก)
          เสียดายกับโอกาสที่ควรจะได้กฎหมายดี ๆ ออกมาใช้งาน - Why?
          1. การไม่ใช้หลักวิชาการประเมินความเสี่ยงสุขภาพมาใช้งาน - ทุกวันนี้คนเราสัมผัสสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และร่างกายก็มีช่องทางการดำรงชีวิตให้ปลอดภัย และหลักการพื้นฐานทางพิษวิทยา ก็พูดเรื่อง Dose & Time Exposure มาตั้งแต่ยุค พาราเซลซัส (คศ.1493-1541) แล้ว การกำหนดโดยใชั “ปัจจัยเสี่ยง” จึงไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ มาตรฐาน OEL ทั้งของไทยและต่างประเทศ ก็ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงของผู้สัมผัส ซึ่งหากระดับการสัมผัสไม่เกินค่า OEL นั่นหมายความว่าตลอดระยะการทำงานชั่วชีวิต (40 ปี) คน ๆ นั้นยังปลอดภัย (ACGIH, NIOSH, HSE, etc.)
          ใน UK.HSE Health Surveillance Cycle เขียนไว้ชัดเจนว่า step 1 คือ ทำ Risk assessment and controls และ step 2 คือ การถามว่า Do I need health surveillance? ถ้าพบว่ายังมึความเสี่ยงจึงจะทำการเฝ้าระวังสุขภาพ
( If there is still a risk to health after the implementation of all reasonable precautions, you may need to put a health surveillance programme in place,) (ที่มา: HSE website ค้น ณ วันที่ 11 ตุลาคม 63)

          2. ความไม่สอดคล้องของกฎหมาย - กฎหมายฉบับนี้กำหนดโดยยึด “ปัจจัยเสี่ยง” นั่นแปลว่า หากทำงานที่มีปัจจัยนี้อยู่ ก็เข้าข่ายต้องตรวจสุขภาพ ไม่สนใจเรื่องระดับการสัมผัส แต่ในกฎกระทรวงว่าด้วยความร้อน แสงสว่าง และเสียง กลับกำหนดโดยยึดระดับการสัมผัส TWA ตั้งแต่ 85 dBA จึงต้องเฝ้าระวังการได้ยิน หากต่ำกว่านี้ก็ไม่ต้อง
ซึ่งเป็นการกำหนดที่ถูกต้องแล้ว

          3. การไม่บูรณาการกับกฎหมายที่มีอยู่ - กฎกระทรวงว่าด้วยสารเคมีอันตราย พ.ศ.2562 ข้อ 31 กำหนดว่าให้นำผลการประเมินความเสี่ยงนี้ไปใช้ประกอบการวางแผนการตรวจสุขภาพ และการเฝ้าระวังสุขภาพ แต่กฎกระทรวงฉบับใหม่นี้กลับเน้นไปว่าหากผลการตรวจสุขภาพออกมาในลักษณะที่ควรตรวจสุขภาพตามระยะเวลาอื่น (โดยนัยยะหมายถึงถี่กว่า 1 ปี) ก็ให้ตรวจตามระยะเวลานั้น
          นอกจากนี้ ในมาตรา 32 ของพรบ.ความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2554 มีการกำหนดให้นายจ้างประเมินอันตราย ดูผลกระทบ แล้วกำหนดแผนควบคุม พิจารณาให้ดีจะเห็นว่ามีเจตนารมณ์ที่จะให้ทำการควบคุม เมื่อควบคุมแล้ว ก็ไม่น่าจะต้องทำอะไรต่ออีก นอกจากการ Maintain ระบบ และการเฝ้าระวังการสัมผัส

          4. การมองข้าม Impact Analysis ก่อนออกกฎหมาย - ปกติเวลาออกกฎหมาย จะไม่ยึดเกณฑ์สุขภาพเป็นหลัก ต้องพิจารณาถึงเรื่องเทคโนโลยีที่มีอยู่ และเรื่องความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจด้วย เชื่อไหมครับ โรงงานที่มาบตาผุด ทำการทาสีตีเส้นภายในโรงงานทุกปี ซึ่งใช้เวลาไม่กี่วัน แต่ต้องมาปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ (ตั้งแต่ปี 47) ทั้ง ๆ ที่ความเสี่ยงต่ำมาก ๆ การกำหนดให้ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงและกำหนดให้ทำทุกปี จึงเป็นการทำที่เรียกว่า Over concern, over protection (กรณี low risk)
          อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เขียนในบทนำของเอกสารชื่อ Common Sense Common Safety (อ่านในแผ่นภาพที่โพสต์) รายงานโดย Lord Young of Graffham ที่บ่งบอกถึงเรื่องการกำหนดให้ทำอะไรที่มากเกินไปแม้จะมีความเสี่ยงต่ำก็ตาม รายงานฉบับนี้ ทำให้ HSE ต้องทบทวนเรื่องมาตรการต่าง ๆ ให้วางอบู่บนผลการประเมินความเสี่ยง

          5. ***** ผลกระทบตามมาที่น่าเป็นห่วงคือ จะไม่มีโรงงานไหนคิดจะทำ Engineering control เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากต้องทำการตรวจสุขภาพอยู่ดี ***** สภาพการทำงาน คุณภาพอากาศ ฯลฯ ก็จะไม่ได้รับการดูแล อันจะส่งผลไปถึงปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชนโดยรอบอีกด้วย

          6. สถานพยาบาลของเอกชน - ไม่น่าเชื่อถือและไว้วางใจ (เลยหรือ?) - ในข้อ 10 กำหนดว่าหากหลักฐานจากสถานพยาบาลของราชการหรือที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้น พบว่าลูกจ้างไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้ ก็ให้นายจ้างเปลี่ยนงานให้ตามที่เห็นสมควร ข้อความนี้ไม่รวมถึงผลตรวจที่มาจากสถานพยาบาลเอกชน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจของภาคเอกชน (ไม่ไว้ใจหมอจากเอกชนเลยนะเนี่ย) หรือนี้จะเป็นกรรมที่เห็น เพราะเคยมีข่าวอยู่บ้างว่าการแข่งกันที่ราคาทำให้คุณภาพอาจเป็นที่สงสัย และมีคำถามว่าแล้วโรงงานที่ส่งตรวจกับโรงพยาบาลเอกชน หากพบกรณีดังกล่าว ลูกจ้างก็เสียโอกาสนี้ไป นี้คือความแตกต่างที่ไม่ควรเกิดขึ้นหรือไม่

          7. ผูกมัดและเข้มงวดเกินเหตุหรือไม่ - อ่านข้อ 4 แล้ว รู้สึกแปลก ๆ ว่าเป็นเรื่องต้องตีความรึเปล่า กล่าวคือกฎหมายเขียนว่า หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย “ไม่ว่ากรณีใด ๆ” ทำให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันติดต่อกัน นายจ้างจะให้กลับมาทำงานเลยไม่ได้ แต่ต้อง “ขอควํามเห็นจากแพทย์ผู้รักษาหรือแพทย์ประจําสถานประกอบกิจการ หรือจัดให้มีการตรวจสุขภาพ ลูกจ้างโดยแพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ หรือผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง”

          ลองพิจารณาต่อไปนี้ ว่าต้องตีความหรือไม่ :
                    1) ปวดหัวจากการเป็นหวัด ลา 3 วันติดต่อกัน จะเข้าข่ายไหม
                    2) ขาแพลงเพราะลื่นล้ม ลา 3 วันติดต่อกัน จะเข้าข่ายไหม
                    3) และอีกหลายตัวอย่าง ฯลฯ

          รวมทั้งยังมีคำถามว่า มีแพทย์เพียงพอที่จะดำเนินการตามที่กำหนดนี้ใช่ไหม (กำหนดเป็นกฎหมายแล้วต้องปฏิบัติได้) แพทย์ที่ทำการรักษา ไม่ใช่แพทย์อาชีวเวชศาสาตร์ เก่งทางรักษาขาแพลง จะรู้เรื่อง Occ Disease ไหม จะเข้าใจ Hazard ที่สัมผัสอยู่ไหม ฯลฯ
 
          อะไรที่ต้องตีความ มันเสี่ยงต่อการลืมตัวของเจ้าหน้าที่อยู่นะครับ

          ข้อเขียนนี้ เขียนด้วยความประสงค์และเจตนาที่ดี ที่หวังจะเห็นการกำหนดกฎหมายเชิงปกป้องที่เหมาะสม

รศ.สราวุธ สุธรรมาสา
นายก ส.อ.ป.

#Meet_OHSWA_President
 
 

 

Visitors: 365,712