โรงงานเรามีกิจกรรมใดที่ทำให้คนของเราเป็นโรคจากการประกอบอาชีพ หรือประชาชนเป็นโรคจากสิ่งแวดล้อมหรือไม่

โดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา

 เรื่อง โรงงานเรามีกิจกรรมใดที่ทำให้คนของเรา

เป็นโรคจากการประกอบอาชีพ

หรือประชาชนเป็นโรคจากสิ่งแวดล้อมหรือไม่

          เรื่องที่ 2 สารเคมีตัวใด ชื่อหรืออาการสำคัญอะไรที่เข้าข่ายต้องทำการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม

          ในมาตรา 7 (1) มีความสำคัญมาก คือกฎหมายให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่ามีชื่อหรืออาการสำคัญอะไรที่เข้าข่ายจะเป็นโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อกำหนดออกมาแล้ว ผลตามมาก็คือต้องทำการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุม ซึ่งรวมถึงการแจ้งทางการว่าลูกจ้างเรา หรือลูกค้าเรา (กรณีเป็นหน่วยตรวจสุขภาพ) ป่วยหรืออาจป่วยเป็นโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม

          ตั้งแต่วันที่ 2 กพ. 64 เป็นต้นมา ประกาศสธ.2 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ฉบับแรกเป็นเรื่องของงาน Occ H มีการกำหนดว่า 5 โรคหรืออาการสำคัญที่ถือว่าเป็นโรคจากการประกอบอาชีพ อีกฉบับเป็นของงาน Env กำหนด 2 โรคหรืออาการสำคัญที่ถือว่าเป็นโรคจากสิ่งแวดล้อม ในเชิงการทำงาน แปลความจากกฎหมายได้ว่า จป.วิชาชีพ และคนวงการนี้ ต้องไปดูแล้วละครับว่ามีงาน (Job/Task) อะไรในโรงงานเราหรือในสปก.เราที่ “จะมีสารเคมีต่อไปนี้” หรือไม่ (ดูประกาศสธ.ได้ที่นี้ https://ddc.moph.go.th/uploads/files/11320210203104425.PDF)

                    1. สารตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว
                    2. ฝุ่นซิลิกา
                    3. โรคจากภาวะอับอากาศ
                    4. แอสเบสตอส (ใยหิน)
                    5. สารกำจัดศัตรูพืช

          ส่วนคนที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ไปดูครับว่าโรงงานเราปล่อยสารพวกนี้ออกไปทางอากาศ น้ำ ดิน ฯลฯ ตามแต่กรณี ที่ประชาชนอาจได้รับสัมผัสหรือไม่ (ดูตัวประกาศสธ.ได้ที่นี้ https://ddc.moph.go.th/uploads/files/11420210203104637.PDF)
                    1. สารตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว
                    2. PM 2.5

          จากข้างต้น เราก็ต้องชี้บ่งให้ได้ว่าฝุ่นจากกิจกรรมใด ๆ ของเราทำให้เกิด PM 2.5 หรือไม่

          นี้เป็นเพียงกฎหมายรองฉบับแรก ๆ เท่านั้น น่าจะมีตามมาอีกเยอะ เพราะสารเคมีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคพาณิชกรรม ยังมีอีกมากมาย (แต่ว่าไปแล้ว โรคจากการประกอบอาชีพทั้ง 5 โรคนั้น สามารถพบได้ในหลายอาชีพในหลายประเภทกิจการ ยกตัวอย่างสารตะกั่ว พวกเราลองดูในช่อง comment นะครับ จะเห็นว่าคนที่จะสัมผัสสารตะกั่วมีมากมายเลย ดังนั้นอย่าชะล่าใจว่าในกระบวนการผลิตเราไม่มีสารนี้แล้ว จะแปลว่าคนของเราจะไม่สัมผัสสารตะกั่วนะครับ)

          ส่วนในงานสิ่งแวดล้อม สารมลพิษที่ต้องตรวจวัดในปล่องก็ดี ในบรรยากาศทั่วไปก็ดี ทางกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการกำหนดมากกว่าที่กำหนดในประกาศสธ. แต่เรื่อง PM 2.5 ก็ต้องบอกว่าทันสมัยมาก และท้าทายการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายมากทีเดียว

          เพื่อให้ครบถ้วน พวกเราก็อย่าลืมนะครับว่ามีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน (ออกมาเมื่อปี 2550 กําหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้น “ตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการ ทํางาน” ดังนี้
                    1. โรคที่เกิดขึ้นจากสารเคมี (37+1 สารเคมี)
                    2. โรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางกายภาพ (9+1 โรค)
                    3. โรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางชีวภาพ
                    4. โรคระบบหายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทํางาน (10+1 โรค)
                    5. โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทํางาน (2+1 โรค)
                    6. โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทํางานหรือสาเหตุจากลักษณะงานที่จําเพาะหรือมีปัจจัยเสี่ยงสูงในสิ่งแวดล้อมการทํางาน
                    7. โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทํางานโดยมีสาเหตุจาก 15+1 สาร
                    8. โรคอื่น ๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจาก การทํางาน

(ดูรายละเอียดตามนี้) https://www.mol.go.th/laws/ประกาศกระทรวงแรงงาน-เร-12/

          ในฐานะคนทำงานด้าน HSE เราจึงต้องบูรณาการกฎหมายต่าง ๆ ด้วย และมาช่วยคิดกันว่าควรเสนอกรมควบคุมโรคว่าควรกำหนดเพิ่มโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมอะไรอีกบ้าง

#Meet_OHSWA_President

Visitors: 361,776