มาตรฐานของรถบรรทุกขนส่ง ช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างไร

เผยแพร่เมื่อ 7/2/2567
เขียนโดย คุณวีริศ จิรไชยภาส

มาตรฐานของรถบรรทุกขนส่ง ช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างไร

          ฉบับที่แล้ว ได้กล่าวถึงความสำคัญกับการกำหนดคุณสมบัติ และคุณลักษณะของพนักงานขับรถขนส่ง ซึ่งช่วยในการลดการเกิดอุบัติเหตุจากการขนส่ง และช่วยเพิ่มคุณภาพในการทำงาน และเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรไปแล้ว มาในฉบับนี้ จะขอเพิ่มเติมถึงมาตรฐานของตัวรถบรรทุก หรือรถขนส่ง ที่จะช่วยในการลดอุบัติเหตุทางจราจรได้อีกทางหนึ่ง

          ก่อนอื่น เราต้องกำหนดให้ชัดเจนก่อนว่า รถบรรทุกขนส่งที่จะนำมาใช้ในการจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปยังลูกค้าหรือสถานที่ต่างๆนั้น เป็นการขนส่งสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ประเภทใด เช่น เป็นรถบรรทุกผลิตภัณฑ์ทั่วไป หรือ รถบรรทุกสารเคมีหรือวัตถุอันตราย หรือ เป็นรถกระบะที่ใช้ขนส่งผลิตภัณฑ์ เพราะรถขนส่งแต่ละประเภทนั้น จะมีมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่ต้องดำเนินการและควบคุมให้เป็นไปตามที่กฎหมายการขนส่งแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะกับรถบรรทุกสารเคมีหรือวัตถุอันตราย ยิ่งต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการให้สอดคล้องอย่างมาก   

          สำหรับคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะขั้นต่ำของรถบรรทุกขนส่ง ที่ควรมีการกำหนดในสัญญาจ้าง สามารถระบุถึงรายละเอียดได้ดังนี้
               
1)  ต้องกำหนดประเภท ขนาด และน้ำหนักของรถขนส่ง ต้องสามารถทำการขนส่งผลิตภัณฑ์ตามลักษณะและประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ทำการขนส่ง ให้สอดคล้อง ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพราะการดัดแปลงกระบะบรรทุก หรือการบรรทุกน้ำหนักที่เกินกำหนด จะกระทบต่อความสามารถในการควบคุมการทรงตัว การใช้ความเร็วและระบบเบรคของรถ ดังที่เคยเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกเพลาหัก รถพลิกคว่ำ หรือเบรคไม่อยู่มาแล้ว เป็นต้น
               
2)  ต้องกำหนดอายุการใช้งานของรถขนส่ง นับจากวันที่จดทะเบียนครั้งแรก กำหนดให้รถบรรทุกขนส่งทั่วไปต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 10 ปี และรถขนส่งที่มีลักษณะพิเศษหรือลักษณะเฉพาะ ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 15 ปี โดยหลังจากที่ใช้งานไปแล้ว 10 ปี ต้องจัดให้มีการตรวจสอบสภาพรถขนส่งเพิ่มเติม ตามคำแนะนำที่บริษัทผู้ผลิตรถบรรทุกกำหนด  

          สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็น ที่จะต้องจัดให้มีไว้ประจำรถบรรทุกขนส่ง ได้แก่
               
1)  ติดตั้งเครื่องรูดบัตรใบอนุญาตขับรถที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากใบอนุญาตของพนักงานขับรถไปยังศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบก ตามที่กรมการขนส่งทางบกกําหนด
               
2)  ติดตั้ง และใช้เครื่อง GPS โดยส่งข้อมูลการใช้งานของรถในลักษณะที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) หรือขั้นต่ำทุก 20 วินาที และจัดให้มีผู้ควบคุมเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง หรือตลอดเวลาทำงานของรถขนส่ง เพื่อควบคุมการขับขี่ให้เกิดความปลอดภัยตลอดเส้นทาง
               
3)  มีระบบการแจ้งเตือนเป็นสัญญาณเสียง (Warning Alarm) โดยสิ่งที่ควรกำหนดให้มีการเตือนอันตราย เป็นขั้นต่ำ ได้แก่
                      
a)  กรณีขับรถเร็วด้วยความเร็วเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งแยกตามประเภทของเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นถนนในเมือง  ทางหลวง และทางด่วน  
                      
b)  กรณีขับรถในเขตห้ามขับ เช่น ในเขตชุมชน  
                      
c)  กรณีขับรถต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การขับรถ 4 ชั่วโมงต่อเนื่อง ต้องพักผ่อนอย่างน้อย 30 นาที หรือขับขี่มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน
                      
d)  กรณีจอดรถบนไหล่ทาง ทางเดินรถ หรือบริเวณที่ไม่ใช่จุดจอดที่ปลอดภัย ซึ่งอาจจะเป็สาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
               4)  ติดตั้งกล้องบันทึกภาพวิดีโอ 2 ด้าน (ด้านหน้ารถและภายในห้องโดยสาร) เพื่อบันทึกพฤติกรรมของพนักงานขับรถและสถานการณ์ด้านหน้าของรถตลอดเวลาที่ทำการขนส่ง และต้องจัดเตรียม memorycard ที่สามารถตรวจสอบภาพวิดีโอย้อนหลังได้อย่างน้อย 15 วัน และเจ้าของบริษัทผู้ขนส่ง จะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่จะทำการสุ่มตรวจสอบวิดีโอ เพื่อตรวจสอบถึงพฤติกรรมการขับขี่อย่างต่อเนื่อง หรืออาจนำ ระบบ ADAS/DMS มาใช้ โดยระบบ Advanced Driver Assistant System; ADAS คือ ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะของกล้องที่ตรวจจับสภาพแวดล้อมของรถ และสภาพถนน เพื่อช่วยในการขับขี่อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการขับรถจี้ท้ายคันหน้าเกินไป ตรวจสอบสิ่งกีดขวาง หรือการหักหลบกระทันหัน และระบบ Driver Monitoring System; DMS คือ ระบบตรวจจับพฤติกรรมการขับขี่สภาพแวดล้อมของรถ และสภาพถนน ช่วยในการขับขี่อย่างปลอดภัยมาใช้ในการตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ เช่น พฤติกรรมการหาว การสูบบุหรี่ เล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างขับขี่ เป็นต้น
               
5)  มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้สําหรับป้องกันอันตรายเมื่อมีอุบัติเหตุหรือภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นตามกฎหมาย ลักษณะและความอันตรายของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น กรวยสะท้อนแสง อุปกรณ์เก็บกวาดทำความสะอาด หรือวัสดุดูดซับกรณีที่เป็นของเหลว เบอร์โทรฉุกเฉิน เป็นต้น
               
6)  รถทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัยติดอยู่ทุกที่นั่ง และไม่อนุญาตให้พนักงานขนถ่ายนอนราบในเบาะหลังคนขับ ในขณะที่รถเคลื่อนตัว
               
7)  น้ำหนักบรรทุกของรถต้องปลอดภัยและไม่เกินน้ำหนักที่บริษัทผู้ผลิตรถกำหนดไว้หรือน้ำหนักตามที่กฎหมายกำหนด เพราะน้ำหนักบรรทุกที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เพลาหัก ควบคุมรถได้ยากขึ้น ระบบเบรคและระบบขับเคลื่อนทำงานหนักขึ้น เป็นต้น
               
8)  รถขนส่งจะต้องมีป้ายแสดงเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อต้นสังกัดของบริษัทขนส่งได้อย่างชัดเจน โดยเบอร์โทรศัพท์ต้องติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน รวมถึงเบอร์ของบริษัทประกันภัยที่ใช้ 
               
9)  กรณีขนส่งวัตถุอันตราย รถขนส่งต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตราย
               
10)  กรณีรถที่ใช้ก๊าซอัดธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง

          นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวปฏิบัติ ที่บริษัทผู้ให้บริการขนส่ง จะต้องนำเพื่อพัฒนาให้เป็น วิธีการปฏิบัติงาน (WI: Work Instruction) สำหรับทุกงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่ โดย
               1. 
ต้องจัดให้มีการกำหนดจุดพักรถที่ปลอดภัย สำหรับให้พนักงานขับรถพักในเส้นทางการขนส่งทุกเส้นทาง กรณีที่ต้องจอดในจุดที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ได้กำหนดไว้ ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมและต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมาย
               2. 
ต้องกำหนดให้มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์พนักงานขับรถและพนักงานขนถ่ายสินค้าก่อนมารับสินค้าที่บริษัท โรงงานหรือคลังของผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนผู้ว่าจ้างทุกครั้ง และระดับแอลกอฮล์ต้องเป็น 0 mg% เท่านั้น
               3. 
ต้องมีการตรวจวัดสารเสพติด (ยาบ้า) พนักงานขับรถตามระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ต้องทำการตรวจวัดไม่เกิน 3 เดือนต่อครั้งต่อคน
               4. 
ต้องมีการตรวจสอบสภาพร่างกายและจิตใจของพนักงานขับรถก่อนทำงาน โดยพนักงานขับรถต้องมีความพร้อมที่จะขับรถ ไม่มีอาการเจ็บป่วย ไม่มีการรับประทานยาที่มีผลต่อระบบประสาทซึ่งทำให้เกิดอาการง่วง ซึม หรืออาการอื่นที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและอาจทำให้เกิดอันตรายในการขับรถ
               5. 
ต้องมีการตรวจสภาพรถขนส่งก่อนมารับผลิตภัณฑ์ที่บริษัท โรงงานหรือคลังของผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนผู้ว่าจ้างทุกครั้ง
               6. 
ต้องกำหนดวิธีการปฏิบัติและสื่อสารให้พนักงานขับรถรับทราบในกรณีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินหรือจอดรถนอกบริเวณที่กำหนดให้จอด
               7. 
แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อดูแลระบบบริหารการจัดการและกิจกรรมส่งเสริมเรื่องความปลอดภัย
               8. 
ต้องกำหนดให้มีระบบการตรวจสอบแบบสุ่มพฤติกรรมการขับรถจากคลิปวิดีโอจากกล้องบันทึกภาพวิดีโอในรถและผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนผู้ว่าจ้างสามารถเข้าไปสุ่มตรวจสอบได้
               9. 
ต้องมีตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (KPI) ตามที่ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนผู้ว่าจ้างกำหนด โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
                       
- ตัวชี้วัดตาม (Lagging KPI) เช่น อุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง
                       - ตัวชี้วัดนำ (Leading KPI) เช่น จำนวน alert จากการขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พนักงานขับรถมีการหยุดพัก 30 นาที ทุก 4 ชั่วโมงระหว่างการขับรถ เป็นต้น
               10. 
ต้องกำหนดวิธีปฏิบัติกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินในระหว่างขนส่งที่อาจเกิดขึ้น โดยต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บไว้ที่รถขนส่งตลอดเวลา โดยแบ่งตามชนิดของภาวะฉุกเฉินเรียงตามความรุนแรง ผู้ที่จัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response)
               11. 
ต้องจัดให้มีทีมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Rescue Team) ให้กับรถขนส่งสินค้าหากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการขนส่งสำหรับการขนส่งสินค้าประเภทวัตถุอันตราย รวมทั้งจัดให้มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินตามลักษณะและความอันตรายของผลิตภัณฑ์ ผู้ที่อยู่ในทีมตอบโต้ฉุกเฉินต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response)
               12. 
ต้องกำหนดวิธีการปฏิบัติเรื่องการสอบสวนอุบัติการณ์และการรายงานผลการสอบสวนอุบัติการณ์ โดยต้องมีการรายงานอุบัติการณ์ทุกกรณีให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนผู้ว่าจ้างทราบ ผู้ที่ทำหน้าที่สอบสวนอุบัติการณ์ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการสอบสวนอุบัติการณ์ (Incident Investigation)
               13. 
ต้องทำการซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อาจซ้อมร่วมกับคู่ธุรกิจขนส่งรายอื่นได้
               14. 
ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับพนักงานขับรถตามที่จำเป็น โดยในการฝึกอบรมจะต้องพิจารณาให้ครอบคลุม Model ในการเรียนรู้และพัฒนา 70:20:10 และกำหนดวิธีการประเมินผลหลังฝึกอบรม เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานขับรถมีความรู้ความเข้าใจในการขนส่งอย่างปลอดภัยเพียงพอก่อนปฏิบัติงาน

          มาตรการดังกล่าวข้างต้นเหล่านี้ ถูกกำหนดและบังคับใช้ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุทางจราจรนั้น จะต้องอาศัยมาตรการ และวิธีการที่หลากหลายในการควบคุม และลดปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการกำหนดมาตรฐาน เรื่องของผู้ขับขี่ มาตรฐานของรถบรรทุก จะช่วยลดสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุลงได้อย่างมาก แต่ก็ยังมีมาตรการการจัดการเส้นทางเดินรถ (Route Hazard Analysis) มาตรการบริหารจัดการการขนส่ง (Fleet Management) (ซึ่งประกอบได้ด้วย การคัดเลือกคู่ธุรกิจขนส่ง การวัดผลและรายงานผลการดำเนินงาน การรายงานอุบัติเหตุ การตรวจติดตาม (Audit) ความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร) และมาตรการการจัดการเหตุฉุกเฉิน (Emergency Preparedness) ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมและครบถ้วนทุกมาตรการข้างต้น ก็จะสามารถลดหรือปิดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจราจรลงได้อย่างยั่งยืน

          มาช่วยกันลดอุบัติเหตุจากการขนส่งด้วยกันนะครับ   

 

Visitors: 417,589