ระบบแนะนำการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับสถาบันอุดมศึกษา

เผยแพร่เมื่อ 17/7/2567
เขียนโดย รศ.ดร.ปวีณา มีประดิษฐ์
           และคุณพิจิตรา ปฏิพัตร

ระบบแนะนำการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย
และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับสถาบันอุดมศึกษา

          พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 3 วรรค 2 ได้กำหนดให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น จัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในหน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตาฐานฉบับนี้ ซึ่งสถาบันการศึกษาถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และจากการทบทวนวรรณกรรมเบื้องต้นพบว่า สถาบันอุดมศึกษามีการดำเนินการเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษาในระดับที่แตกต่างกัน โดยสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่มีการดำเนินการเพียงแค่ประกาศนโยบายความปลอดภัยฯ แต่อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาพบว่าบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษามีความเสี่ยงในการทำงานไม่ว่าจะมาจากการกระทำของตัวบุคลากรเอง หรือจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งจากสารเคมีและชีวภาพ 

          ในการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถาบันอุดมศึกษา พบว่า สถาบันอุดมศึกษาควรมีการดำเนินการในเรื่องมาตรการการป้องกันโรคติดต่อหรือโรคระบาด การจัดการภาวะความเครียด แผนงานความเสี่ยง ระบบมาตรฐาน การจัดการเรื่องบุหรี่ สุรา ยาเสพติด อุบัติเหตุทางถนน การยศาสตร์ ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ร่วมกับการดำเนินการตามกฎหมายกำหนด โดยควรมีหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะ และควรมีคู่มือที่ชัดเจนและเผยแพร่ในรูปแบบโปรแกรมแนะนำ ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ได้สะดวก

          การพัฒนาระบบแนะนำการบริหารจัดการความปลอดภัยอชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้แบ่งออกแบบระบบออกเป็น 2 สิทธิ ได้แก่ สิทธิผู้ดูแลระบบและสิทธิผู้ใช้งานทั่วไป โดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ในการแสดงผลของหน้าเว็บไซต์ คือ ภาษา HTML เวอร์ชัน 5, CSS เวอร์ชัน 3 และภาษา JavaScript ใช้ ภาษา PHP เวอร์ชัน 5.6 เท่านั้น ในการพัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูล และใช้โปรแกรมระบบจัดการฐานข้อมูล MySQL เวอร์ชัน 5.6 และ phpmyadmin เวอร์ชัน 4.9 โดยผู้สนใจสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ที่ http://www.phbuu.com/occhealth/index.php/auth/login (ดังภาพ) ซึ่งระบบแนะนำฯ ที่ได้รับการพัฒนานี้จะเหมาะสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่มีนโยบายในการดำเนินการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อลดสถิติการเจ็บป่วยและการประสบอันตรายจากการทำงานในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาต่อไป

เอกสารอ้างอิง
     พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554. (17 มกราคม 2554). ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม 128 ตอนที่ 4 ก หน้า 5-25.
     
พิจิตรา ปฏิพัตร และปวีณา มีประดิษฐ์. (2560). การศึกษาการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษา : ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง. วารสารความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม, 2(1), 38-42.
     
พิจิตรา ปฏิพัตร และปวีณา มีประดิษฐ์. (2563). รูปแบบการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางานในสถาบันอุดมศึกษา. วารสารความปลอดภัยและสุขภาพ, 13(2), 120-139.
     
Pichitra Patipat, Parvena Meepradit, Komate Amphawan, Yutthapoom Meepradit. (2022). Development of a Recommendation System for OccupationalSafety, Health and Environmental Management for HigherEducation Institutions in Thailand. Thai Journal of Public Health, 52(2), 113-120.
     
พิจิตรา ปฏิพัตร ปวีณา มีประดิษฐ์ และโกเมศ อัมพวัน. (2565). ระบบแนะนำการบริหารจัดการความปลอดภัยอชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน. (ลิขสิทธิ์ เลขที่ ว1.010077).

Visitors: 417,587