“คุณเป็นผู้นำในการลดอุบัติเหตุหรือเปล่า?”

เผยแพร่เมื่อ:  16/05/2563....,

เขียนโดย นายอภิวัฒน์ สุนทรมิตรภาพ, ที่ปรึกษาอิสระ...,

 

บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ทำงานทางด้าน Safety Leadership Coaching ซึ่งเป็นแนวคิดประยุกต์ศาสตร์ Nero Linguistic Programing (NLP) ในการสร้างผู้นำธุรกิจมาใช้กับผู้นำความปลอดภัย(safety leadership) เพื่อให้ผู้นำได้คิดและลงมือจัดการความปลอดภัยจากจิตใต้สำนึกเอง”

ขาดการดูแลอย่างใกล้ชิดจากหัวหน้างาน(ผู้นำ)” “ขาดภาวะผู้นำความปลอดภัย” “ขั้นตอนการทำงานไม่ครอบคลุมความเสี่ยง” ท่านที่เคยมีส่วนร่วมในการสอบสวนอุบัติเหตุในการทำงานคงคุ้นเคยกับวลีที่เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ ในขณะที่ผู้บริหารองค์กรหรือผู้ศึกษาเรียนรู้จากรายงานอุบัติเหตุบ่อยครั้งจะตั้งคำถามให้ขยายความของคำว่า "ผู้นำ" หน่อย คำนี้ดูกว้างๆเป็นนามธรรม (subjective) มาก ๆ จนกว่าจะได้มีตัวอย่างประกอบให้ดูชัดเจนเป็นรูปธรรม (objective) มากขึ้น การให้คำจำกัดความให้ครอบคลุมคงจะยากไปหน่อยที่จะมานั่งตีกรอบโดยไม่คิดถึงความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้นำความปลอดภัยมันแตกต่างระหว่างตัวบุคคล ตามความรู้ ทัศนคติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ (individual, knowledge, attitude, work environment and organization culture etc.) ทั้งนี้เพราะมนุษย์คือความแตกต่าง1 คำอธิบายเป็นภาษาง่าย ๆ ดังต่อไปนี้น่าจะก่อเกิดแนวความคิดต่อการปลอดหรือลดอุบัติเหตุ (incident free thoughts) และมีประโยชน์เชิงประยุกต์มากกว่า

ผู้นำระดับบริหาร (management leadership) หน้าที่หลักคือกำหนดนโยบายและระเบียบขั้นตอนต่างๆและบังคับใช้ให้เป็นไปตามกำหนด ดูออกแนวหน้าที่มากกว่าจะอธิบายความเป็นผู้นำ เคยถามผู้จัดการท่านหนึ่งว่าท่านว่าความปลอดภัยในสถานประกอบการของท่านสำคัญต่อท่านขนาดไหน ท่านตอบว่าเป็นอันดับหนึ่งแน่นอน เลยถามต่อว่าถ้าอย่างนั้นท่านใช้เวลาเป็นร้อยละเท่าไหร่หรืออย่างไรกับเรื่องสำคัญขนาดนั้นในแต่ละวัน ท่านอึ้ง เกาคางนิดหนึ่ง หัวเราะเบาๆก่อนจะพูดว่า คำถามคุณดูเหมือนง่ายแต่ตอบยากนะ “ผมมีคำตอบแต่รู้สึกไม่ค่อยพอใจกับคำตอบตัวเอง ขอให้ผมคิดดูก่อน” หลังจากนั้นเราก็ได้มีการสนทนาไปสักพักท่านก็ตอบว่า “ผมไม่มีคำตอบที่น่าพอใจต่อตัวเองแต่ผมคิดว่าผมต้องไปดูกลุ่มผู้รับเหมาติดตั้งcompressorที่เขามาได้อาทิตย์หนึ่งแล้วแต่ผมยังนึกภาพไม่ออกเลยว่าเขาทำงานเป็นยังไงบ้างปลอดภัยหรือเสี่ยง” อีกอย่างผมต้องทบทวนการแบ่งเวลาทำกิจกรรมความปลอดภัยของผมใหม่แล้ว คงต้องนัดมาคุยกันใหม่

ผู้นำระดับหัวหน้างาน (supervisor leadership) ส่วนมากรับนโยบายและนำไปใช้งานตามกฎระเบียบของบริษัท และควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย บทสนทนากับคนกลุ่มนี้ เมื่อถามว่าเราต้องเฝ้าดูลูกน้องทำงานตลอดเวลาไหม คำตอบ “คงไม่ละครับผมต้องทำงานหลายอย่างดูแลลูกน้องหลายกลุ่ม” ตามต่อว่า แล้วช่วงเราไม่อยู่ เราจะรู้ได้ไงว่าลูกน้องจะทำตามกฎระเบียบความปลอดภัย ตอบ “ต้องซื้อใจกันครับ นอกจากจะมี procedure ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของเดิมๆแล้ว ผมเชื่อว่าไม่มีใครอ่านทุกตัวทุกวันทุกครั้งหรอกครับ แต่ผมมักจะบอกลูกน้องว่าถ้าบาดเจ็บแล้วจะกระทบใครบ้างอย่างไร ทั้งงาน บริษัท และที่สำคัญสุดครอบครัวเขาเอง ผมจะให้แต่ละคนจับข้อดีและข้อเสียอย่างละข้อระหว่าง procedure กับการทำงานจริงแล้วมาคุยกันหลังงานเสร็จ ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้ลูกต้องผมทำงานอย่างมีความคิดไม่ใช่สักแต่ทำและยังทำให้ผมเอาความคิดเห็น(feedback)จากเขาไปปรับปรุงprocedureให้ปลอดภัยขึ้นอีกด้วย ผมว่ามันมีแต่ได้กับได้นะ เขาเสริมว่า "อ้อ..อีกอย่างเวลาประชุมความปลอดภัยผมมักจะให้ลูกต้องแสดงออกหรืพูดมากกว่า ผมจะได้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร อันนี้ช่วยให้ผมเข้าใจว่าผมจะวางใจใครได้แค่ไหน"

ผู้นำระดับปฏิบัติการ (workforce leadership) หน้าที่ของคนกลุ่มนี้คือทำงานตามนำขั้นตอนการทำงานที่ได้รับมอบหมายทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ไปปฏิบัติอย่างปลอดภัย และแน่นอน เมื่อเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเรามักจะเห็นผลการสอบสวนอุบติเหตุระบุว่าหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหรือขั้นตอนการทำงานไม่ครอบคลุมความเสี่ยงอยู่เสมอๆใช่ไหมครับ แล้วความเป็นผู้นำมาเกี่ยวอะไรกับคนในกลุ่มนี้ล่ะ แค่ทำตามคำสั่งอย่างแน่วแน่มีวินัยก็พอแล้วไม่ใช่หรือ ใช่!!แต่มันง่ายขนาดนั้นก็ดีสิ ลองคิดดู งานที่มีความเสี่ยงสูงทำทุกวันก็กลายเป็นความเคยชิน ลองนึกถึงตอนหัดขับรถเป็นใหม่ ๆนั่งขับตัวเกร็งระมัดระวังไปหมด แต่พอเริ่มคล่องก็ขับไปฟังเพลง พูดโทรศัพท์ (เบนความสนใจ) หรือยุคนี้ขับไปแช๊ตไปไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ก็ตาม ความเป็นผู้นำแบบไหน เกิดขึ้นได้ยังไง อยากให้ฟังบทสนทนาต่อไปนี้ “คุณจะทำงานที่มีอันตรายสูงแต่ซ้ำซากให้ปลอดภัยได้ยังไง?” พนักงานเล่าให้ฟังว่า “เราทำตามprocedureครับ” “ไหนขอดู procedureหน่อบ.. อืมม ตอนนี้เราอยู่ไหนขั้นไหนแล้ว?” พนักงานบางคนระบุได้ บางคนไม่สามารถ บางคนก็ให้เหตุผลว่า บางครั้งก็ต้องใช้สามัญสำนึกบ้างเพราะprocedureไม่สามารถเปลี่ยนไปตามหน้างานได้ตลอดเวลา อันนี้ฟังดูดีมีเหตุผล จึงถามต่อว่า “ในฐานะผู้มีประสบการณ์ ช่วยบอกหน่อยว่าขั้นตอนไหนที่อันตรายสูงสุดและสามารถพลาดหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย?” เมื่อตั้งคำถามแบบนี้จงอย่าคาดว่าจะได้คำตอบทันทีเพราะจุดประสงค์ต้องการให้เกิดการฉุกคิดเพื่อสร้างการเป็นผู้นำ บางครั้งถามว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุกับคุณใครได้รับผลกระทบมากที่สุด บริษัท เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือ ตัวคุณเอง กว่าร้อยละ90 ตอบว่าตัวเองและครอบครัวเพราะฉะนั้นคงจะเดาได้ว่าบทสนทนาความปลอดภัยต่อไปจะเป็นอะไร

ความปลอดภัยในการทำงานจะเกิดได้ต้องมีภาวะผู้นำเป็นตัวขับเคลื่อน การสร้างความเป็นผู้นำเกิดได้จากการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ท้าทายให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ภายใต้งานที่จำเจ สร้างคำถามให้ฉุกคิดจนกระทั่งเกิดคำถามในหัว 2 “คำถามสำคัญกว่าคำตอบ” เมื่อคนทุกระดับในองค์การคุ้นชินกับการตั้งคำถามเพื่อให้หลุดพ้นจากความจำเจ (work routine) กิจกรรมในทุกวันก็จะไม่น่าเบื่อหน่าย ระเบียบความปลอดภัยก็ไม่ใช่สินค้าบังคับขายที่จำต้องซื้ออีกต่อไป การสร้างผู้นำความปลอดภัยในองค์กรเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด สร้างความตระหนัก(awareness) และทัศนคติใหม่ๆไปสู่วัฒนธรรมองค์กรแห่งความปลอดภัย (safety culture) ซึ่งทำให้การเดินทาง(ไม่ใช่สูตรสำเร็จนะ)ไปสู่เส้นทางปลอดอุบัติเหตุ (journey to incident free) มีความยั่งยืน มาถึงจุดนี้แล้วคุณคงตอบคำถามว่า คุณเป็นผู้นำในการลดอุบัติเหตุหรือเปล่า? ได้ด้วยตัวคุณเอง..ใช่มั้ย 

Visitors: 361,628