แนะนำผู้เขียน Meet the Academic : OccMed for JorPor Series

เผยแพร่เมื่อ: 13/05/2563 ....
สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.)...,

 

Meet the academic : OccMed for JorPor Series

“....เนื่องจากงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม มีความสำคัญกับองค์ความรู้ทางการแพทย์อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และ จป. ทำงานประสานสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการควบคุมป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อพนักงานจากสภาพแวดล้อมการทำงาน ในการพัฒนาหรือการจัดทำนโยบายและขั้นตอนการทำงาน เพื่อเน้นการป้องกันความเจ็บป่วย และโรคจากการทำงาน ตลอดจนการประเมินตรวจสอบสภาพร่างกายของพนักงานที่อาจได้รับอันตรายจากสิ่งแวดล้อมการทำงาน นำไปสู่การดูแลความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยอย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่คนทำงานและองค์กร...”   -อาจารย์แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา

 

งานของจป.วิชาชีพ และนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ที่ทำการชี้บ่งอันตรายและการประเมินระดับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่อาจมีผลต่อสุขภาพนั้น หากได้มีความเข้าใจในวิชาการทางด้านอาชีวเวชศาสตร์แล้ว รับรองว่าการทำงานจะมีความรอบด้านมาก และว่าไปแล้ว ชีวิตการทำงานของจป.ต้องร่วมทำงานกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ในเรื่องการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น ซีรีส์ OccMed for JorPor จึงเป็นซีรีส์ที่สอป.หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเสริมเขี้ยวเล็บทางปัญญาในเรื่อง OccMed ให้กับจป.วิชาชีพ และคนในวงการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

อาจารย์แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา ได้ให้เกียรติกับสอป. ตอบรับเทียบเชิญมาเป็นผู้เขียนซีรีส์ดังกล่าว ท่านเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปศึกษาต่อ Master of Public Health สาขาอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ที่ Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นได้เข้า ศึกษาต่อโปรแกรมแพทย์ประจำบ้านทางอาชีวเวชศาสตร์ ของ Harvard Medical School และ Harvard T.H. Chan School of Public Health สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ อ.พญ.ภัทราวลัย สิรินารา ยังมีประสบการณ์ที่น่าสนใจมาก และจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านซีรีส์นี้ อาทิ

1. แพทย์ที่ปรึกษาวินิจฉัยดูแลคนงานที่เจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานในระดับองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ภาวะอาการไม่สบายของผู้อาศัยในอาคาร ประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน โรคปอดจากการทำงาน พิษโลหะหนักจากการทำงาน ผื่นแพ้สัมผัสจากสารเคมี การยศาสตร์หรือท่าทางที่ผิดปกติที่ส่งผลต่อโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังในคนงาน

2. ประสบการณ์งานวิจัย งานวิจัยแบบพหุสถาบันเรื่องการยศาสตร์ในสถานประกอบการ งานวิจัยพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางสุขภาพจาก PM 2.5 ของประเทศไทย งานวิจัยติดตามอุบัติการณ์การเกิดโรคความดันโลหิตสูงและคุณภาพการนอนในบุคลากรที่เข้ากะการทำงานกลางคืนเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยงานวิจัยได้รับการตอบรับให้นำเสนอในงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (ACOEM)

3. เป็นผู้ออกมาตรฐานการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงทางอาชีวเวชศาสตร์ และ การตรวจประเมินก่อนรับเข้าทำงาน (Fitness-for-work) และ การตรวจประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return-to-Work) ให้โรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งของประเทศ

4. เป็นวิทยากรรับเชิญให้สถาบันหลายแห่ง เช่น Oregon Health & Science University (OHSU), BDMS, สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

 

อ.พญ.ภัทราวลัย มีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้และทฤษฎีทางการแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ในด้านสุขภาพ การป้องกันและรักษาโรคจากการทำงาน มาเสริมฐานความรู้ของจป.ลักษณะการเขียนจึงมีเป้าหมายชัดเจนว่าเขียนเรื่อง OccMed ให้ Non OccMed (คือจป.วิชาชีพ) อ่าน และจะทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

อาจารย์กล่าวว่า “เนื่องจากงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม มีความสำคัญกับองค์ความรู้ทางการแพทย์อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และ จป. ทำงานประสานสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการควบคุมป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อพนักงานจากสภาพแวดล้อมการทำงาน ในการพัฒนาหรือการจัดทำนโยบายและขั้นตอนการทำงาน เพื่อเน้นการป้องกันความเจ็บป่วย และโรคจากการทำงาน ตลอดจนการประเมินตรวจสอบสภาพร่างกายของพนักงานที่อาจได้รับอันตรายจากสิ่งแวดล้อมการทำงาน นำไปสู่การดูแลความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยอย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่คนทำงานและองค์กร”

ฟังแล้ว ต้องไม่พลาดซีรีส์เด็ดนี้ นำเสนอทุก ๆ วันที่ 12 ของเดือน เริ่มครั้งแรกวันที่ 12 มิถุนายนนี้ที่ www.ohswa.or.th

 

#สอป_Meet_the_Academic

Visitors: 365,689