The 1st TIS 18000 Certification ของประเทศไทย

เผยแพร่เมื่อ: 18/05/2563....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคม ส.อ.ป.,

 

The 1st TIS 18000 Certification ของประเทศไทย

มาฟังประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยกันหน่อยครับ

1. BSI เขาบอกว่า BS 8800 คือมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแรกของโลก ออกมาเมื่อปี 1996

2. เหตุผลที่ออกมา เพราะปี 1993 การศึกษาของ UK.HSE พบว่ามีการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุการประสบอันตรายจากการทำงานมาก รวมทั้งเรื่องจำนวนสถิติการเกิดอุบัติเหตุ

3. ต่อมาปี 1999 ก็มี OHSAS 18001 ออกมาโดยมี BSI เป็นหัวเรือใหญ่ และได้รับความนิยมจากนานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เหตุผลที่ต้องมีมาตรฐานตัวนี้ออกมา ก็เพราะ BS 8800 เป็นมาตรฐานแนะนำ ไม่มีการให้ใบ cert. กัน แต่เมื่อลูกค้า (โรงงาน) เรียกร้องอยากได้มาตรฐานที่ออกใบ cert. ได้ ก็จะช้าอยู่ทำไม เรื่องนี้มันพัวพันกับธุรกิจพอควรครับ

4. กรณีประเทศไทย ต้องให้เครดิตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน (สมัยนั้น) ที่ผลักดันให้มี ISO 18000 โดยมีทีมที่ปรึกษาช่วยกันอีกแรงหนึ่ง (สมัยนั้นออกข่าวว่าเป็น ISO 18000 อย่างนั้นจริง ๆ เล่นเอาคนรู้เรื่องแอบยิ้ม แต่ก็เอาใจช่วย) ดึงเอากระทรวงต่าง ๆ มาร่วมลงนาม MOU กัน แล้วมอบกระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ.ให้เป็นเจ้าภาพออก มอก.18000

5. ในที่สุด มอก.18000 ก็คลอดออกมาในปี 2540 เป็น Version แรก และได้ยึดเอา BS 8800 เป็นแม่แบบ (เลขาธิการ สมอ.บอกว่าเอาของ BS 8800 มาเป็นแม่แบบดีที่สุด เพราะมาตรฐานพวก ISO 9000 และ ISO 14000 ต่างก็แปรรูปมาจาก BS ทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อเราชิงเอามาทำก่อน ก็จะได้เปรียบในเรื่องความชำนาญหากต่อมามีมาตรฐาน ISO 18000)

6. แปลกแต่จริง ปกติมาตรฐานพวกนี้เขาปรับปรุงกันทุก ๆ 5 ปี แต่ มอก.18000-2540 ออกมาได้ไม่กี่เดือนเอง (เน้นว่าไม่กี่เดือนเอง) ก็ดำเนินการปรับปรุงทันที (Thailand only) จนได้ Version 2 ออกมาเป็น มอก.18001-2542 (สังเกตว่าในปีนี้ก็เป็นปีแรกที่มี OHSAS 18001 ออกมาเช่นกัน)

7. สังเกตว่าใน Version 2 เรียกเป็น 18001 (ไม่เรียกเป็น 18000 แล้ว เพราะกำหนดเป็นมาตรฐานอนุกรม - Series 18000) ต่อมาจึงเกิด มอก.18004 (Guideline) มอก.18012 (Auditor) และมอก.18011 (Audit) ตามลำดับ

8. สังเกตว่าไม่มี มอก.18002 และมอก.18003 (ทั้งนี้ เพราะเว้นไว้ กะว่าจะล้อตาม ISO 9002 และ ISO 9003 แต่ในที่สุดก็ไม่มีการกำหนดออกมาแต่อย่างใด)

9. ย้อนกลับไปตอนเปิดตัว มอก.18000 ปี 2540 มีการเปิดตัวที่ห้องประชุมของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และมีโรงงานประมาณ 30-40 แห่ง เข้าประชุมด้วย ประกาศเจตจำนงว่าจะทำมาตรฐานตัวนี้ (ช่วงนั้น กระแสมาตรฐานตัวนี้แรงมาก คิดดูแล้วกันว่ามีการเปิดตัวกันเลย)

10. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ไปดูงานที่โรงงาน Canon Hi-Tech (Thailand) LTD. และออกปากขอให้ทางโรงงานทำมาตรฐานตัวนี้ด้วย ทางเจ้านายญี่ปุ่นก็รับปากว่ายินดี ๆ

11. เวลาผ่านไปเป็นปี (ไวเหมือนโกหก) มาตรฐาน มอก.ตัวนี้ก็ไม่คลอดซะที ทางเจ้านายญี่ปุ่นเมื่อรับปากแล้ว ก็ติดตามเรื่อง ถามลูกน้องว่า “ว่าไงเรื่องการทำมาตรฐานนี้” ทางลูกน้องก็บอกว่ายังไม่ไ้ด้ประกาศออกมาเลย (ฟังมาว่า ก็มีการถามถึงอยู่บ่อย ๆ)

12. ในที่สุด ลูกน้อง (ในที่นี้คือคุณไตรรัตน์ ประยูรคำ ผู้จัดการด้านความปลอดภัยของที่นี้) ก็ทนถูกนายญี่ปุ่นถามไม่ไหว ก็ติดต่อทางการอยู่บ่อย ๆ จนในที่สุดต้องไปตามเรื่องถึงกองราชกิจจานุเบกษา ขอให้เร่งออกมาตรฐานด้วย คุณประยูรเล่าให้ฟังว่า “อาจารย์เชื่อไหม ผมตามไปถึงกองราชกิจจานุเบกษา ไปขอร้องให้เร่งให้หน่อย ก็ไปพบว่ามาตรฐานตัวนี้อยู่ชั้นล่าง ๆ ของกองกฎหมายที่รอประกาศ ถ้ารอตามคิว เจ้านายผมคงย้ายกลับไปญี่ปุ่นแล้วมั๊ง” และด้วยความที่ตั้งใจจริง ก็เห็นผลครับ มาตรฐาน มอก.18000 ได้ถูกประกาศในวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับจป.และนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยกันเลย (เรื่องนี้จึงขออนุญาตเอ่ยนามให้เครดิตกับคุณไตรรัตน์ฯด้วยครับ)

13. ในที่สุด เมื่อมีการยื่นขอใบรับรอง ด้วยมีความพยายามที่จะได้ใบรับรองเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ก็เข้าใจว่าจะเครียดกันพอควร ผมเองก็โชคดี ได้ติดตามไปนั่งในห้องประชุมด้วย ก็ได้เห็นบรรยากาศว่าเป็นอย่างไร อันนี้ต้องเล่าหลังไมค์แล้วครับ

14. ในช่วงนั้น ผมอบรมสอบผ่านหลักสูตร Lead Assessor ISO 9000 แล้ว ก็ได้ประสบการณ์ ได้เห็นการประยุกต์ความรู้ในภาคปฏิบัติ ก็เป็นประโยขน์มาก ทำให้มั่นใจมากขึ้นเวลาไปสอนหรือบรรยายในเรื่องนี้

15. ผลการดำเนินงาน ในที่สุดมี 2 โรงงานที่ได้มาตรฐาน มอก.18000 พร้อมกัน หนึ่งในนั้นคือโรงงานแห่งนี้

16. ในฐานะที่ได้ให้คำปรึกษากับที่นี้มาตั้งแต่ต้น ก็เลยได้เอกสาร Manual / Procedure / Work Instruction ของที่นี้เป็นที่ระลึก (ภาพที่โพสต์) ดีมาก ๆ สำหรับคนเป็นอาจารย์ เพราะได้ตัวอย่างจริง ๆ ว่าเขาทำกันอย่างไร

 

หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมอีกหน่อย ลองเข้าไปอ่านจุลสารสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพออนไลน์ เขียนไว้เมื่อปี 2555 คลิกไปที่นี้ได้เลยครับ

https://www.stou.ac.th/schoo…/…/booklet/book55_2/frommag.htm

#OHSWA_Meet_the_President

Visitors: 361,636