PSM Case Studies for JorPor Series, EP.1 Styrene monomer

เผยแพร่เมื่อ: 25/05/2563....,
เขียนโดย คุณคุณวรากร เดชะ , PSM Case Studies for JorPor Series...,
                 – ผู้จัดการฝ่าย SHE management / GC

 

เรื่อง การเรียนรู้จากเหตุการณ์สารสไตรีนโมโนเมอร์รั่วไหลที่ประเทศอินเดีย"

ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เวลาประมาณ 3.00 น. เกิดเหตุก๊าซสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) รั่วไหลจาก Tank ของบริษัท LG Polymers ตั้งอยู่ที่เมือง Visakhapatnam รัฐ Andhra Pradesh ประเทศอินเดีย เป็นอุตสาหกรรมผลิต Plastic Resin & Synthetic Fiber ส่งผลให้มีประชาชนท้ายโรงงานเสียชีวิต 12 ราย และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 800 ราย ซึ่งเป็นอุบัติการณ์จากกระบวนการผลิต (Process safety event) ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง มีความสูญเสียจำนวนมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กับกรณีสารสไตรีนโมโนเมอร์รั่วไหลจากถังบรรจุขนาด 90,000 ลิตร บนรถไฟขนส่งที่รอการขนส่ง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2548 ณ สนามบิน Lunken รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา 


ภาพจาก https://edition.cnn.com/2020/05/07/asia/india-gas-leak-death-intl-hnk/index.html

ทั้งนี้ ข้อสรุปของการสอบสวนและสาเหตุที่แท้จริงจากการรั่วไหลจาก Tank ครั้งนี้ ต้องรอรายงานฉบับเป็นทางการ ซึ่งระหว่างนี้ ผมอยากเชิญชวนทุกท่านพิจารณาข้อมูลจากสื่อต่างๆ โดยส่วนตัวแล้ว ข่าวสารที่รวดเร็วเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ทำให้เราเปิดโอกาสการเรียนรู้ไปกับสถานการณ์จริง อาจพิจารณาจากข้อมูลบางส่วนที่เชื่อมโยงกัน 

ข้อมูลเฉพาะของสารสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer)

IDLH 

ค่าขีดจํากัดการรับสัมผัสสารเคมี IDLH (Immediately Dangerous to Life and Health) หรือเรียกว่า ค่าความเข้มข้นสารเคมีในบรรยากาศที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพแบบเฉียบพลัน หากไม่สามารถหนีออกจาก บริเวณนั้นได้ทัน ภายในระยะเวลา 30 นาที โดยสารสไตรีนโมโนเมอร์ มีค่า IDLH = 700 ppm [AIHA 1959] 

เหตุการณ์นี้ มีการเสียชีวิตในชุมชนหลายคน ชี้บ่งการรั่วไหลจำนวนมาก มีผลกระทบ 1-2 กม. (Core effect & Vulnerable area) มีประชาชนกระทบ 10,000 คน ต้องอพยพ 5,000 คน  

Polymerization reaction

สารสไตรีนโมโนเมอร์สามารถเกิดปฏิกิริยาโพลิเมอไรเซชันได้ง่ายด้วยการรวมกับสารอื่น ทำให้เกิดการคายความร้อนจนไม่สามารถควบคุมได้ (Thermal reaction runaway) เกิดการรั่วไหลจำนวนมาก และอาจเกิดไฟไหม้ ระเบิดได้  โดยในสภาวะที่มีออกซิเจนมากจะเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายด้วย สำหรับการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาโพลิเมอไรเซชันในการจัดเก็บอาจใช้การเติมสารยับยั้งปฏิกิริยา (Inhibitor) เช่น สาร 4-tert-butylcatechol (TBC) ซึ่ง TBC จะยับยั้งปฏิกิริยาได้ดี ต้องอยู่ในสภาวะออกซิเจนน้อยๆ  

เหตุการณ์นี้ มีรายงานว่าอุณหภูมิใน Tank สูงขึ้น ถึง 150 oC มากกว่า 6 ครั้ง ซึ่งเกินค่าจุดเดือด 145 oC และถึงจุดเริ่มต้นของอุณหภูมิที่จะเกิด Thermal reaction runaway หากเกิด Runaway ขึ้นจริง จะส่งผลให้มีการรั่วไหลออกสู้บรรยากาศจำนวนมากได้ 

Process safety information (PSI Element) ตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัย กระบวนการผลิต (Process safety management)

ข้อมูล IDLH และ Polymerization reaction ของสารสไตรีนโมโนเมอร์ข้างต้น เป็นตัวอย่างข้อมูลด้าน Process Chemical information ที่สำคัญ ตาม PSI Element เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์อันตรายจากกระบวนการผลิต (Process hazard analysis : PHA) และนำไปใช้ในการออกแบบและการดูแลอุปกรณ์ เช่น ออกแบบวาล์วระบายก๊าซลดความดัน การต่อท่อระบายก๊าซจาก Tank ไปยังหอเผาหรือระบบกำจัดก๊าซ รองรับ Thermal reaction runaway เป็นต้น การตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ Tank system เพื่อความพร้อมใช้งาน รวมถึง การนำไปกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง (Standard operating procedure) เช่น กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานของฝ่ายผลิต กำหนดค่าควบคุมต่างๆ ของ Tank ให้เหมาะสม และการนำไปกำหนดแผนรองรับภาวะฉุกเฉิน เช่น กรณี รั่วไหล กรณีไฟไหม้ ระเบิด เป็นต้น ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด 

รายละเอียดของ PSI Element สามารถศึกษาได้จากประกาศข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับที่  4) พ.ศ. 2559  

สวัสดีครับ  

 

Reference

https://edition.cnn.com/2020/05/07/asia/india-gas-leak-death-intl-hnk/index.html

https://www.theweek.in/news/india/2020/05/15/clogged-cooling-system-caused-vizag-gas-leak-staff-didnt-use-warning-system.html

https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acsomega.9b00004

https://www.ieat.go.th/assets/uploads/attachment/file/201809260902262140783075.pdf

http://php.diw.go.th/safety/wp-content/uploads/2015/01/Stirinmonomer.pdf

 
Visitors: 367,594