การสูญเสียจากการประสบอันตรายจากการทำงาน

เผยแพร่เมื่อ: 27/05/2563....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคม ส.อ.ป.,

 

"...การสูญเสียจากการประสบอันตรายจากการทำงาน..."

 

เราสูญเสียจากการประสบอันตรายจากการทำงานไปมากน้อยเพียงใด ?

ในคำถามนี้ ถ้าเป็นบ้านเราก็ต้องไปค้นที่เว็บไซต์สำนักงานกองทุนเงินทดแทน มีตัวเลขให้ได้รับทราบกันดังนี้ ทั้งนี้เป็นข้อมูลเฉพาะที่มาแจ้งกับทางการเท่านั้น

1. พบว่าในช่วงระยะเวลา 14 ปี (พ.ศ. 2545-2558) เฉลี่ยแล้วในแต่ละปี มีจำนวนลูกจ้างที่เสียชีวิต ทุพลภาพ สูญเสียอวัยวะ และสูญเสียจำนวนวันทำงานไป เท่ากับ 162,574 ราย และต้องจ่ายเงินทดแทนเฉลี่ยปีละ 1,610.90 ล้านบาท

2. ในช่วงดังกล่าว มีอัตราการประสบอันตราย 20.66 ราย ต่อลูกจ้าง 1,000 คน และอัตราตายที่ 9.10 รายต่อลูกจ้าง 100,000 คน

3. เสียดายว่าเราไม่มีข้อมูลจำนวนวันทำงานที่สูญเสียไป แต่หากประเมินจากว่าในแต่ละปีเรามีจำนวนลูกจ้างที่หยุดงานเกิน 3 วัน 39,015 คน หยุดงานน้อยกว่า 3 วัน 116,509 คน เราอาจได้ภาพอย่างนี้ครับ

    1) กรณีหยุดงานเกิน 3 วัน

        ก. สมมติให้คนหนึ่งหยุดงานไป 5 วัน เราจะสูญเสียวันทำงาน 39,015x5 = 195,075 วัน

        ข. ถ้าสมมติเป็นหยุด 10 วัน เราจะสูญเสียวันทำงาน 39,015x10 = 390,015 วัน

    2) กรณีหยุดงานไม่เกิน 3 วัน

        - สมมติให้คนหนึ่งหยุดงานไป 1.5 วัน เราจะสูญเสียวันทำงาน 39,015x1.5 = 58,522.5 วัน

 

4. ดังนั้น รวมสูญเสียวันทำงานไปทั้งสิ้น 253,597.5 วัน (กรณีคิดที่ 5 วัน) หรือ 448,537.5 วัน (กรณีคิดที่ 10 วัน)

5. นั่นหมายความว่า หากคิดว่าปีหนึ่งเราทำงานกัน 300 วัน แสดงว่าประเทศไทยสูญเสียวันทำงานไปคิดเป็นเฉลี่ยปีละ 845.33 วัน และ 1,495.13 วัน ตามลำดับ วันที่สูญเสียไปนี้ นอกจากไม่ได้งาน ไม่ได้ผลผลิต จากคนที่หยุดงานแล้ว เรายังต้องเสียเงินค่ารักษา เงินทดแทน เงินประกัน คนที่บ้านต้องมาดูแล (ก็ไม่ได้ทำงานด้วย) ฯลฯ ตีเป็นมูลค่าความสูญเสียใต้ภูเขาน้ำแข็งมหาศาลแน่นอนตามผลการศึกษาของหลายคน อาทิ Frank E.Bird หรือ หน่วยงาน OSHA

 

ทีนี้ลองไปดูตัวเลขของทั้งโลกบ้างว่ามีสถิติอะไรน่าสนใจบ้าง จากข้อมูลองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO พบเรื่องน่าสนใจมาก เพราะเขาวิเคราะห์เจาะลึก ทำให้เห็นความสูญเสียมากมาย แบบว่าทำให้คนเห็นแล้วตระหนักถึงความสำคัญของงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยกันเลย ลองอ่านดูครับ

1. จำนวนการประสบอันตรายจากการทำงานรวมทั่วโลกมี 270 ล้านคน/ปี

2. จำนวนผู้เสียชีวิตจากการทำงานทั่วโลกสูงถึง 2 ล้านคน/ปี

3. จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานทั่วโลกมี 160 ล้านคน/ปี

4. ความสูญเสียทางเศรษฐกิจในแต่ละปี พบว่าทั่วโลกสูญเสีย 1,250,000 ล้านดอลล่าร์ ประมาณจากความสูญเสียจากอุบัติเหตุและความเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานคิดเป็น 4% Annual GDP

5. ความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยILO ได้นำข้อมูลความสามารถในการแข่งขันของ IMD (International Institute for Management Development) มาหาความสัมพันธ์กับข้อมูลความสามารถทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของ ILO พบว่ามีความสัมพันธ์กันสูงมาก

6. การเกษียณอายุงานก่อนกำหนด พบว่าในประเทศที่มีรายได้สูง ลูกจ้างที่เกษียณอายุก่อนที่ควรจะเป็นนั้น ร้อยละ 40 มีเหตุมาจากความพิการ (Disability)

7. การขาดงาน พบว่าทุก ๆ วันที่ลูกจ้างขอลางาน ในจำนวนนั้นมีร้อยละ 5 ที่มีเหตุจากปัญหาทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

8. การเลิกจ้างงาน พบว่า 1 ใน 3 ของการตกงาน มีเหตุจากความสามารถในการทำงานลดลง (Impairment of working capacity)

9. ความยากจนของครอบครัว พบว่าเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บจากการทำงาน จะส่งผลต่อรายได้ของครอบครัวที่ลดลง เช่นคนในครอบครัวต้องออกจากงานมาดูแลคนที่บาดเจ็บ ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาพบว่าคนที่บาดเจ็บจนความสามารถลดลง จะมีรายได้ลดลงร้อยละ 4

10. การสูญเสียจำนวนวันทำงาน พบว่าสหภาพยุโรปสูญเสียจำนวนวันทำงานในแต่ละปีสูงถึง 150 ล้านวันทำงาน

 

ความสูญเสียต่าง ๆ ดังแสดงข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า

1. ประเทศไทย ต้องให้ความสนใจในเรื่อง Safety Thailand อย่างจริงจัง ไม่ให้เป็นเพียงนโยบายที่สวยหรูเพียงลมปาก แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่อย่างใด และ

2. จป.วิชาชีพ ควรมีระบบการบันทึกและจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้สามารถนำเสนอนายจ้าง และผู้บริหารเกี่ยวกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคมที่ตามมาจากการเกิดอุบัติเหตุในสถานประกอบกิจการของเรา

 

ที่มา : ข้อมูลการประสบอันตรายจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน (ปี 2545-58) และ ILO: Work hazards kill millions, cost billions, 2003.

Visitors: 365,334