ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพิษจากสารเคมีในการทำงาน

เผยแพร่เมื่อ: 18/05/2563....,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 

Meet the Academic: Toxicology for jorpor series...,

 

การพูดแบบเก่าๆว่า "สิ่งที่คุณไม่รู้ไม่สามารถทำร้ายคุณได้ "what you don't know can't hurt you"  ตัวผู้เขียนคิดว่า “ไม่ใช่คำแนะนำที่ดีเสมอไป” เนื่องจากเมื่อพูดถึงสารพิษ หากเรารู้เท่าทันเขาไม่ดีพอ เขาพร้อมจะโจมตีและทำร้ายชีวิตเราได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น เรดอนในชั้นใต้ดิน ตะกั่วในน้ำดื่ม ไอเสียจากรถยนต์ สารเคมีที่ปล่อยออกมาจากหลุมฝังกลบ รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและของเสียที่ปล่อยออกมา นับเป็นตัวอย่างบางส่วนของสารพิษที่สามารถทำร้ายชีวิตพวกเราได้เสมอๆ ดังนั้นการทำความเข้าใจว่า “เราจะสามารถลดการรับสัมผัสสารเคมีและลดความเสี่ยงของผลกระทบจากสารเคมีต่อสุขภาพที่เป็นอันตรายได้” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อความปลอดภัยของชีวิตเราและผู้ประกอบอาชีพที่ดีต่อไป 

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำสารเคมีมาใช้ประโยชน์ในงานต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย  ยิ่งเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีควบคู่กับการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม นับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีในกระบวนผลิตผู้ประกอบอาชีพมีโอกาสรับสัมผัสสารเคมีชนิดต่าง ๆ จนเกิดพิษต่อร่างกาย หากมีวิธีในการควบคุมสารเคมี และผู้ประกอบอาชีพมีวิธีในการป้องกันตนเองไม่เหมาะสม การไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การสูบบุหรี่ขณะปฏิบัติงานก็มีโอกาสเสี่ยงต่อสุขภาพมากเช่นกัน เช่น เคยมีการศึกษา พบว่าการรับสัมผัสสารเบนซีนจากการทำงาน โดยการประเมินระดับกรดทรานส์มิวโคนิกในปัสสาวะ (Trans-muconic acid; t,t-MA) ผลการศึกษาพบว่าระดับสารในกลุ่มที่สูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากมีการหายใจเอาสารเบนซีนที่ปนเปื้อนในบรรยากาศเข้าสู่ร่างกายมากกว่ากลุ่มไม่สูบบุหรี่ 

ผู้ประกอบอาชีพรับสัมผัสสารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลักษณะของงาน ความถี่การรับสัมผัส ปริมาณสารเคมี มาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อมในการทำงาน การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ก่อนอื่นผู้เขียน จึงขออธิบายความหมายของคำว่า “การรับสัมผัส (Exposure)” และ “ขนาด (Dose)” โดยการรับสัมผัส หมายถึง การรับสัมผัสสารเคมีบนผิวนอกของร่างกาย เช่น การหายใจเอาสารเคมีเข้าสู่ปอดทางการหายใจ การรับสารเคมีเข้าสู่ทางเดินอาหารทางการกลืนกิน และ การรับสัมผัสเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง  ส่วนขนาด หมายถึง ขนาดสารเคมีที่รับเข้าสู่ร่างกาย ประกอบด้วย ขนาดดูดกลืน (Absorbed dose) หรือ ขนาดภายใน (Internal dose) สามารถดูดซึมผ่านอวัยวะต่าง ๆได้ ในแต่ละวันมนุษย์มีโอกาสรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายมากน้อยแตกต่างกัน เช่น การรับประทานยา อาจรับประทานวันละหลายครั้ง  นานต่อกันหลายวัน หรือ ตลอดชีวิต  เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ หรือการรับสัมผัสสารเคมีจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานบางวัน หรือทุกวัน เป็นต้น

กลไกการเกิดพิษของสารเคมีต่อสุขภาพมนุษย์ เริ่มตั้งแต่
1) การดูดซึมสารเคมีเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ทางหายใจ หรือทางปาก
2) การกระจาย โดยสารเคมีกระจายไปตามระบบการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกาย
3) การย่อยสลาย ร่างกายสามารถย่อยสลายสารเคมีจากรูปหนึ่งไปสู่รูปหนึ่ง มักย่อยสลายที่ตับ ม้าม ไต
4) ผลกระทบต่อร่างกาย สารเคมีเกิดการออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมาย ทำให้เกิดโรคได้ และ
5) การกำจัด สารเคมีที่ย่อยสลายแล้ว จะถูกกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะ อุจจาระ ลมหายใจออก สารเคมีบางชนิดมีค่าครึ่งชีวิตยาวนาน อาจจะสะสมในร่างกายได้นาน โดยสารเคมีที่สะสมอยู่ในร่างกายนั้น อาจแสดงความเป็นพิษแบบชั่วคราว หรือถาวรได้

  

ดังนั้นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จ.ป.) ควรมีองค์ความรู้เกี่ยวกับพิษจากสารเคมีที่เกี่ยวข้องต่อสุขภาพ กลไกการของพิษของสารเคมี สามารถประเมินความเป็นพิษจากสารเคมีเบื้องต้นได้ มีวิธีการป้องกันสารเคมีในการทำงานที่เหมาะสม สามารถให้คำแนะนำ ดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพไม่ให้เกิดพิษจากสารเคมีต่อไป 

 เอกสารอ้างอิง : อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก (2554). พิษสารเคมีรู้ทันป้องกันได้. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ.

Visitors: 365,760