Construction Safety Series, EP.1 Hierarchy Control

เผยแพร่เมื่อ: 02/06/2563....,
เขียนโดย คุณชลาธิป อินทรมารุต, Meet the Professional : Construction Safety Series...,
HSSE Manager บริษัทเอกชน งานบริหารโครงการก่อสร้าง

 

"เปลี่ยนรายจ่ายด้านความปลอดภัย ให้เป็นผลกำไร

 

#ตอนที่1 - ใช้หลัก Hierarchy Control ช่วยให้งานเสร็จไว ปลอดภัย และเหลือเงินในกระเป๋ามากยิ่งขึ้น

 มีใครเคยสังเกตุไหมครับ ว่าทำไม?

     บริษัทที่เขามีระบบความปลอดภัยที่ดี นอกจากไม่ค่อยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว บริษัทยังเติบโตขยายธุรกิจได้รวดเร็ว มีงานล้นมือ มีลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เจ้าของก็รวยขึ้น และพนักงานได้เงิน ได้โบนัสกันทุกปี

  แต่ทำไม? 

      บริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากจะมีคนเจ็บคนตายอยู่บ่อยๆแล้ว บริษัทเหล่านี้มักจะล่มสลายภายในเวลา 3-5ปี เรียกได้ว่า ยิ่งประหยัด ยิ่งขาดทุน!! เขาทำอะไรผิด???

 ถ้าคุณอ่านถึงบรรทัดนี้ คุณโชคดี

      แต่ถ้าคุณอ่านจนจบ อาจทำให้ผลประกอบการในองค์กรของคุณเปลี่ยนไป เพราะผมจะเอาความลับของหลายๆ บริษัท ที่เขาไม่เคยบอกว่าเขา "ทำเซฟตี้อย่างไรจึงเปลี่ยนรายจ่ายให้เป็นผลกำไร" มาบอกทุกท่าน 

 อันดับแรกให้คุณทบทวนรายจ่ายส่วนใหญ่ในรอบ 3ปี ว่า 3อันดับแรก (สูงสุด) ในงานความปลอดภัย คืออะไร แล้วพิจารณาตามนี้

     1. วิธีการที่คุณใช้อยู่ มันช่วยแก้ปัญหาได้จริงๆ หรือไม่ เช่น ถ้าคุณจ่ายเงินมหาศาลไปกับคน เช่น การฝึกอบรมคน และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) แต่การบาดเจ็บไม่เคยลดลง คุณอาจต้องใช้อย่างอื่นแทนคน หรือตัดบางขั้นตอนที่มีความเสี่ยงสูงออก แล้วเปลี่ยนวิธีการทำงาน หรือใช้วัสดุสำเร็จรูปทดแทน

     2. แต่ถ้าคุณใช้เงิน ใช้เวลา และความเสี่ยงกับเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีที่ราคาแพง ต้องซ่อมบำรุงบ่อย และมีความเสี่ยงที่คนจะบาดเจ็บจากเครื่องจักรตัวนี้ บางทีการแข่งขันประกวดแนวคิด ไอเดียการแก้ปัญหาของช่างที่ประสบการณ์สูงๆ อาจช่วยให้คุณประหยัดค่าเครื่องจักรไปหลักแสน หลักล้านบาท ได้เช่นกัน ดังนั้น อย่าหยุด Update ความรู้ใหม่ๆในสายงานที่คุณทำ ว่าที่อื่น ประเทศอื่นเขามีนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรบ้าง

ตัวอย่างหนึ่ง คือ คนงานใช้พัดลมเก่าๆ มูลค่า 250บาท เป่ากล่องยาสีฟันเปล่าให้กระเด็นตกจากไลน์ผลิต แทนการสั่งซื้อเครื่องชั้งน้ำหนักติดเซนเซอร์มูลค่าหลายล้านบาท เพื่อตรวจจับไม่ให้มียาสีฟันกล่องเปล่าหลุดไปถึงมือลูกค้า

ซึ่งผมขอใช้หลักการที่เรียกว่า Hierarchy Control (ลำดับขั้นของการควบคุมอันตราย) มาแนะนำ เพื่อให้เข้าใจง่าย และเป็นแนวทางในการหาวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดครับ

ตัวอย่าง 

1. Elimination : (การกำจัดความเสี่ยงออกไป)

     1.1 ผมเคย ยกเลิกการปีนขึ้นไปบนถังน้ำมัน แล้วออกแบบให้ทุกอย่างติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิต แล้วมีเกจที่สามารถอ่านค่าจากด้านล่าง โดยที่คนไม่จำเป็นต้องปีนขึ้นไปทำอะไรบนหลังถังน้ำมันอีก ลดงานที่สูงลงได้ 100% 

     1.2 ผมลอง ยกเลิกงานเชื่อมโลหะที่ก่อให้เกิดอันตรายจากความร้อนและฟูมโลหะ แล้วใช้วิธีการขันยึดด้วยน๊อตแทน ลดงานเชื่อม 100% คุณภาพงานดีขึ้น งานเสร็จไวขึ้น 4-5เท่า (เมื่อเปรียบเทียบเวลาการขันด้วยน๊อตกับการเชื่อม)

     1.3 ผมใช้ โครงสร้างสำเร็จรูป (Pre Fab/Modular) ยกมาประกอบ/วาง ลดความเสี่ยง ลดเวลา ประหยัดเงิน 

     ผลที่ได้ คือ งานเสร็จไวขึ้น ไม่มีอุบัติเหตุจากงานเชื่อม ลดโอกาสตกจากที่สูง และอุบัติเหตุจากเครน ประหยัดค่าแรงคน ประหยัดค่าเช่านั่งร้าน เครนและอุปกรณ์อื่นๆ งานเสร็จไวขึ้น 1-2สัปดาห์ แบบนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เงินในกระเป๋าเถ้าแก่/เจ้าของบริษัท จะเหลือมากขึ้นแค่ไหน (ขอกระซิบเบาๆ ว่าในบางโครงการ เงินเหลือมากขึ้น 6หลักเป็นอย่างน้อย!!!)

2. Substitution (การแทนที่) : เปลี่ยนหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เป็น LED อายุการใช้งานยาวนานขึ้น 5เท่า ลดการทำงานบนที่สูง และการทำงานกับกระแสไฟฟ้าลง 5เท่า ค่าไฟจ่ายถูกลง 50% 

  • บางคนอาจคิดว่าจะประหยัดสักเท่าไรกับแค่ดารเปลี่ยนหลอดไฟ แต่คุณเคยนับไหมครับ ว่าในโรงงานของคุณมีหลอดไฟกี่ดวง!!!
  • ลองคิดถึงค่าจ้างคนและอุปกรณ์เปลี่ยนหลอดไฟจากปีล่ะครั้ง เป็น 5ปี/ครั้ง ก็ไม่รู้จะบอกว่าคุ้ม และปลอดภัยขึ้นมากแค่ไหน! 

       ไม่ใช่แค่หลอดไฟนะครับ ในไซต์ก่อสร้าง หรือโรงงานของคุณ ยังมีวัสดุอุปกรณ์อีกมาก ที่สามารถเปลี่ยนแล้ว ลอดภัยมากขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำงานแทนคน ที่นอกจากจะปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้รายจ่ายลดลง งานเสร็จไวขึ้น คุณภาพดีขึ้น!!!

3. Administrative Controls (การวางแผนบริหารจัดการ) : เช่น การคำนวนและวางแผนในงานขุด (Excavation plan) และงานยก (Lifting plan) โดยใช้การคำนวน การประเมินความเสี่ยง และความรู้ในด้านต่างๆ มาใช้ร่วมกันในการวางแผนงาน กำหนดขั้นตอน วิธีการ และกำหนดขนาด/ปริมาณของเครื่องจักรที่จะใช้ให้ปลอดภัย คุ้มค่า และเหมาะสมกับงาน 

       วิธีนี้ช่วยให้ไม่ต้องจ่ายเงินเกินความจำเป็น (ขี่ช้างจับตั๊กแตน) และลดความผิดพลาดในงาน ช่วยรักษาคุณภาพ แล้วยังช่วยให้งานเสร็จตามกำหนด 

 

นี่แค่ตัวอย่างแรก ของการนำเอาหลัก Hierarchy Control มาใช้ที่ไม่ใช่แค่ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น แต่ยังช่วยลดรายจ่าย และค่าเสียหายที่ไม่ควรจะต้องจ่าย 

เชื่อเถอะครับ ยังมีความลับอีกมากที่เถ้าแก่ หรือเจ้าของบริษัทที่เขาประสบความสำเร็จ เพราะเขาเข้าใจหลักการทางด้านความปลอดภัย แล้วนำมาใช้อย่างถูกวิธี ถึงแม้จะมีอีกมากสำหรับเถ้าแก่/เจ้าของบริษัท ที่อาจจะยังไม่รู้เทคนิค หรือยังเชื่อแบบผิดๆ ว่าทำเซฟตี้แล้วมีแต่รายจ่ายที่สิ้นเปลือง แต่เชื่อเถอะ ถ้าคุณเป็น จป. ที่เข้าใจหลักการของ Hierarchy Control แล้วสามารถนำเสนอให้องค์กรของคุณมีเงินเหลือมากขึ้นเป็นหลักแสน หลักล้าน แถมลดความเสี่ยงลงให้กับคนงาน และเพื่อนร่วมงานของคุณ

ไม่มีหลอกครับ เถ้าแก่ ผู้บริหารคนไหนจะไม่อยากขึ้นเงินเดือน แจกโบนัส และรักษาคุณไว้กับองค์กร คนงาน เพื่อนร่วมงานของคุณก็จะรัก เคารพ และให้ความร่วมมือกับคุณมากขึ้น ไม่ต้องไปเสียเวลาลองผิด ลองถูกอีกแล้วครับ

ชื่อผมเถอะ เพราะผมลองให้คุณมา 10กว่าปีแล้ว

บอกได้เลยว่า มันเวอร์ค มากๆ ครับ !!!

***ติดตามตอนที่ 2 "ทำ Safety ให้เป็น Marketing เติบโตก้าวกระโดดแบบทวีคูณ" 

#ถ้าพลาดแล้วจะเสียใจครับ

Visitors: 417,589