“Health conditions vs Worker : ภาวะสุขภาพกับคนทำงาน”

เผยแพร่เมื่อ: 05/06/2563....,
เขียนโดย คุณณัฐนิชา ทองอ่วม, Health Matters for JorPor Series...,
              หัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย สายโรงงานอุตสาหกรรม

Health conditions vs Worker : ภาวะสุขภาพกับคนทำงาน

 

คำถาม  ทำไมกฎหมายประเทศไทย  ต้องบังคับนายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง? 

คำตอบ คือ  เพื่อเป็นการประเมินสุขภาพของลูกจ้างว่าเหมาะสมกับงานนั้นหรือไม่ (Fit for work) และป้องกันไม่ให้ลูกจ้างเกิดโรคจากการทำงาน (Occupational Diseases) รวมไปถึงป้องกันไม่ให้ลูกจ้างเกิดโรคเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน (Work-related diseases) อีกด้วย

ในทุก ๆ ธุรกิจ ทุก ๆ องค์กร ที่ต้องมี “คน” เพื่อทำงาน… 

 

หัวใจที่สำคัญที่สุด คือ “สุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์ของคนทำงาน”

 เมื่อ “คน” ต้องมาทำงานในที่ที่มีปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors) ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันตามลักษณะงาน กระบวนการ/วิธีการทำงาน สิ่งแวดล้อมขณะทำงาน ที่อาจก่อให้เกิดสิ่งคุกคามต่อสุขภาพและความปลอดภัย (Workplace Hazards) และเมื่อคนทำงานรับสัมผัส (Exposure) สิ่งคุกคามนั้น  ก็จะเกิดการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้  ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินความเสี่ยง (OH&S  Risk Assessment) เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้คนทำงานเกิดผลกระทบจากสิ่งคุกคามนั้น (Hazards Control) นั่นเอง  เพื่อให้เห็นภาพว่าสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์มีความสัมพันธ์ต่อคนทำงานอย่างไร ใน EP.1 นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงเรื่องสุขภาพกาย ดังนั้น มาทบทวนองค์ประกอบร่างกายของมนุษย์พื้นฐานที่เป็นเหมือนยาขมให้เข้าใจกันก่อนนะคะ  

 เริ่มต้นจากหน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกายที่เรา เรียกว่า “เซลล์ (Cell)” 

  • ภายในเซลล์ประกอบด้วยโครงสร้างและหน้าที่ต่างๆ เช่น ให้เกิดกระบวนการเมตาบอลิซึม(นำสารอาหารเข้าไปในเซลล์และเปลี่ยนสารอาหารให้กลายเป็นพลังงาน) อีกทั้งยังมีธาตุต่างๆมากมาย เช่น ไฮโดรเจน คาร์บอน ออกซิเจน โซเดียม โปแตสเซียม คลอไรด์ ฯลฯ และมีน้ำอยู่ภายในร่างกายประมาณ 70% โดยที่น้ำเป็นตัวกลางในการเกิดปฏิกิริยาเคมีทุกชนิดในกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกายมนุษย์


  เมื่อหลายๆล้านเซลล์มารวมกัน เซลล์ชนิดเดียวกันจะรวมกันเป็น “เนื้อเยื่อ (Tissue)”

  • ในร่างกายประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 4 ชนิดหลัก ได้แก่ 1) เนื้อเยื่อบุผิว 2) เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน 3) เนื้อเยื่อประสาท 4) เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ  โดยแต่ละเนื้อเยื่อจะมีความพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันไป

 เนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ มารวมกันจะเจริญเติบโตเกิดเป็นโครงสร้างและกลายเป็น “อวัยวะ (Organ)” แบ่งเป็น  

      1) อวัยวะภายนอก เช่น ตา หู จมูก ปาก ผิวหนัง ฯลฯ  

      2) อวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด ตับ ลำไส้ กระดูก ฯลฯ


 

 อวัยวะแต่ละอวัยวะมาทำงานร่วมกันจนเกิดเป็น “ระบบ (System)”

  • ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยระบบหลักๆ 11 ระบบ  ได้แก่ 

          1) ระบบโครงกระดูก    2) ระบบกล้ามเนื้อ    3) ระบบปกคลุมร่างกาย    4) ระบบไหลเวียนโลหิต    5) ระบบหายใจ    6) ระบบประสาท    7) ระบบทางเดินอาหาร    8) ระบบต่อมไร้ท่อ    9) ระบบน้ำเหลือง     10) ระบบขับถ่ายปัสสาวะ    11) ระบบสืบพันธุ์  

          ซึ่งแต่ละระบบมีหน้าที่และการทำงานผสานสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น  เมื่อระบบใดระบบหนึ่งไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ ระบบอื่นอาจได้รับผลกระทบตามมาด้วย  


จากองค์ประกอบของร่างกายจะเห็นไว้ว่าทุกชิ้นส่วนมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด  ถึงแม้จะมีการทำลายแค่ระดับเซลล์  ก็อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย ส่งผลต่อให้อวัยวะถูกทำลายหรือทำงานผิดปกติ  สุดท้ายจะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย  หากระบบของร่างกายนั้นไม่สามารถทนไหว ก็จะสูญเสียหน้าที่โดยสิ้นเชิง  และส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายล้มเหลวตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้   ซึ่งเมื่อเราเกิดการเจ็บป่วยทางกายนั่นย่อมหมายถึงร่างกายเราถูกสิ่งคุกคามทำลายระดับใดระดับหนึ่งไปแล้ว เพียงแต่ร่างกายเรานั้นมีความสามารถที่จะฟื้นฟูหรือซ่อมแซมตัวเองได้หรือไม่ หรือสามารถหยุดการทำลายไม่ให้เพิ่มเติมจากเดิมได้หรือไม่

ถ้าองค์กรต้องการให้ “คน” มีร่างกายที่พร้อมต่อการทำงานควรทำอย่างไร ? 

ทั้งในงานด้านระบาดวิทยาและงานด้านอาชีวอนามัย ให้หลักการเรื่องของ “คน” ไว้ดังนี้

1. การเพิ่มความทนทาน (Tolerance) หรือความต้านทาน (Resistant) ต่อโรคให้กับคนทำงานหรือคนที่จะมาทำงานเนื่องจากแต่ละคนมีความทนทานไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีน การบริหารร่างกาย   เมื่อคนทำงานสุขภาพแข็งแรงมีความทนทานต่อโรคสูง เมื่อทำงานสัมผัสกับสิ่งคุกคามโอกาสเกิดโรคก็จะน้อยลง 


2.การป้องกันคนที่มีความไวรับต่อโรค (Susceptible group) ไม่ให้เข้ามาทำงานในที่เสี่ยงอันตรายหรือมีสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ เช่น ลูกจ้างที่สูบบุหรี่จะไม่ให้ทำงานพ่นสีหรืองานเชื่อมโลหะ เนื่องจากอาจส่งเสริมให้เป็นมะเร็งปอด เป็นต้น

ในหลายๆองค์กรมักใช้หลักการในข้อที่ 2 โดยมีการสร้างเงื่อนไขด้านภาวะสุขภาพก่อนที่จะรับคนเข้ามาทำงานในองค์กร ยกตัวอย่างเช่น รับสมัครตำแหน่งพนักงานช่างเชื่อมโลหะ มีข้อแม้ว่าหากตรวจสุขภาพแล้วผลเอกซเรย์ปอด ผลสมรรถภาพปอด ผลการทำงานของตับและไตผิดปกติจะไม่รับเข้าทำงาน   เป็นต้น  ซึ่งการสร้างเงื่อนไขลักษณะนี้ไม่ได้ถือเป็นการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนด แต่เป็นเงื่อนไขที่องค์กรนั้น ๆ กำหนดเอง  ถึงแม้ว่าโปรแกรมการตรวจเป็นการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพก็ตาม  เนื่องจากยังไม่ได้รับเข้ามาเป็นลูกจ้างขององค์กร ส่วนจะขัดกับกฎหมายฉบับไหนหรือผิดจริยธรรมหรือไม่องค์กรควรศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรืออาจปรึกษาสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประจำจังหวัด/เขตของตนเอง เนื่องจากเงื่อนไขของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน

กรณีที่เป็นลูกจ้างขององค์กร  เมื่อตรวจสุขภาพแล้วพบว่า “ผิดปกติ” และมีความเสี่ยงต่อการทำงานในปัจจุบัน (Unfit for work) ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคจากการทำงานหรืออุบัติเหตุได้สูงมาก ให้องค์กรนั้นพิจารณาจัดหางานอื่นที่เหมาะสมสำหรับภาวะสุขภาพของลูกจ้างต่อไป  การตรวจสุขภาพในที่นี้ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น แต่รวมถึงการตรวจสุขภาพอื่นๆเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพก็ควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งผู้เขียนจะลงรายละเอียดใน EP. อื่น ๆ ถัดไป …..โปรดติดตามตอนต่อไปกับ “สุขภาพใจของคนทำงาน” กันนะคะ 

Visitors: 365,796