PSM Case Studies for JorPor Series, EP.2

เผยแพร่เมื่อ: 25/06/2563....,
เขียนโดย คุณคุณวรากร เดชะ , PSM Case Studies for JorPor Series...,
ผู้จัดการฝ่าย SHE management / GC

 

 

 

"พนักงานเสียชีวิตจากเหตุระเบิดในงานซ่อมรอยรั่วของแท็งก์สำหรับขนส่งกรดซัลฟิวริก"

 

 


ภาพจาก http://php.diw.go.th/safety/wp-content/uploads/2015/01/sulfuric-acid.pdf

 

ในปี 2543 โรงงานผลิตกรดซัลฟิวริกแห่งหนึ่ง เกิดเหตุระเบิดในงานซ่อมรอยรั่วของแท็งก์ สำหรับขนส่งกรดซัลฟิวริก ส่งผลให้พนักงานซ่อมบำรุง 1 คน ที่กำลังเชื่อมรอยรั่วอยู่บนแท็งก์ กระเด็นทะลุผ่านหลังคาโรงซ่อมบำรุงที่สูงประมาณ 3 เมตร และตกลงกระแทกพื้น ห่างจากจุดทำงาน 20 เมตร ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา โดยมีช่างซ่อมบำรุงอีก 2 คน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ทรัพย์สินอื่นที่เสียหาย ได้แก่ แท๊งก์ฉีกขาด เครื่องสูบกรด (Acid pump) ที่ติดกับตัวแท็งก์ และหลังคาโรงซ่อมกว่า 25 m2 ชำรุด เสียหาย


ข้อมูลการเกิดเหตุ

     - ตรวจพบรอยรั่วบนแท็งก์รถขนส่งกรดซัลฟิวริกและนำเข้าซ่อม จอดรอซ่อม 1 วัน ซึ่งวันก่อนที่ตรวจพบรอยรั่ว มีฝนตกหนักทำให้น้ำฝนเข้าไปในแท็งก์ที่มีกรดซัลฟิวริกตกค้าง

     - ก่อนซ่อมรอยรั่ว ได้มีการเปิดฝาช่องทางเข้า (Manhole) ทั้งสองฝาด้านบนของแท็งก์ เพื่อระบายอากาศที่มีก๊าซโฮโดรเจนซึ่งเป็นก๊าซไวไฟ เกิดจากการกัดกร่อนของผนังแท็งก์ที่ทำด้วยเหล็กกล้า โดยระบายตามธรรมชาติเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง 

     - เมื่อระบายตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วก็เริ่มทำการเชื่อมรอยรั่ว มีประกายไฟแท็งก์ก็ระเบิดทันที


สิ่งที่ได้เรียนรู้

     1. กรดซัลฟิวริกสามารถกัดกร่อนแท็งก์ที่ทำด้วยเหล็กกล้า (Carbon steel) ที่มีธาตุเหล็ก (Fe) จะทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนได้ ซึ่งเป็นก๊าซไวไฟ (LEL = 4% in air)  ดังสมการ

     2. มีน้ำฝนเข้าแท็งก์ทำให้กรดซัลฟิริกเจือจางและเกิดความร้อน (Heat of dilution) ทำให้มีการกัดกร่อนรุนแรง เกิดก๊าซไฮโดรเจนจำนวนมากกว่าปกติ

      3. แม้ว่าก๊าซไฮโดรเจนจะเบากว่ากว่าอากาศมาก (ความหนาแน่นไอสัมพัทธ์ของไฮโดรเจน = 0.07 อากาศ = 1)  แต่ในวันเกิดเหตุเป็นวันที่มีฝนตกตลอดวัน ท้องฟ้าปิด เต็มไปด้วยเมฆ ลมพัดน้อยบางช่วงเวลา ทำให้การระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติไม่เพียงพอ  

 

ความเชื่อมโยงกับระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (PSM; Process safety management)

ผมขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันพิจารณาข้อบกพร่องที่อาจเป็นไปได้ของระบบ PSM ดังนี้

     1. ข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Information : PSI)

อาจขาดการจัดเตรียมข้อมูลอันตรายของสารเคมีอันตรายไว้พร้อมใช้ในการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจให้กับพนักงานอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะสมบัติในการกัดกร่อนของกรดซัลฟิวริก และความไวไฟของก๊าซไฮโดรเจน

     2. การอนุญาตทํางานที่อาจทําให้เกิดความร้อนและประกายไฟ (Hot Work Permits) และการอนุญาตทํางานที่ไม่ใช่งานประจํา (Non-Routine Work Permits)

อาจขาดความแข็งแรงของระบบการขอและอนุญาตทำงานที่เกี่ยวกับความร้อนหรือก่อให้เกิดประกายไฟสำหรับการซ่อมบำรุงนี้ ในประเด็นสำคัญ ได้แก่

     (1)  ขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเริ่มปฏิบัติงาน รวมถึง การระบายอากาศด้วยการใช้พัดลมเป่าหรือดูดลมออกจากแท็งก์ และการตรวจวัดสารไวไฟก่อนและระหว่างการปฏิบัติงาน

     (2)  การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย อาจใช้วิธีการ Job Safety Analysis ในการพิจารณาอันตรายแฝงและมาตรการแก้ไข ป้องกัน

 

Reference

https://www.ieat.go.th/assets/uploads/attachment/file/201809260902262140783075.pdf

http://php.diw.go.th/safety/wp-content/uploads/2015/01/sulfuric-acid.pdf

 

 

Visitors: 417,592