เก็บตกจากการประชุมทางไกลเรื่อง ISO 39001

เผยแพร่เมื่อ: 08/07/2563....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคม ส.อ.ป.,

 

ทำระบบการจัดการ อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก

เก็บตกจากการประชุมทางไกลเรื่อง ISO 39001 ใช้ได้กับประเทศจริงหรือ

          ไม่แน่ใจว่าเพราะเป็นคนมองโลกสวยหรือไม่ ทำให้คิดเสมอว่าการทำระบบการจัดการของ ISO นั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก (เกินไป) จนทำให้รู้สึกท้อ (แม้เพียงแค่คิดว่าจะทำ ก็หมดแรงแล้ว)

จำได้แม่นเลยว่าคราวที่อ่านบทความเกี่ยวกับ BS 8800 มาตรฐานระบบการจัดการ OHS แรกของโลก เขาก็เขียนว่าตัวมาตรฐานไม่ได้มีเจตนาจะให้มีเอกสารอะไรมากมาย (เหมือนที่เกิดขึ้นกับระบบ ISO 9000 ที่นำของ BS มาเป็นแม่แบบ) (ที่ผมพูดถึงนี้ ก็หลายปีมากแล้วนะครับ) แต่เพราะมนุษย์หรือไม่ไม่รู้ ต้องมีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันให้เห็น เราจึงเห็นเอกสารเป็นตั้ง ๆ ในห้องประชุมระหว่างการตรวจประเมิน แม้ว่าตอนหลังจะเขียนเป็น Documented Informations แล้วก็ตาม

          คืนวันที่นำเสนอเรื่องนี้ ได้พูดถึงว่าโดยหลักการพื้นฐานแล้ว เวลาเราจะทำเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนั้น ให้เริ่มต้นด้วยการประเมินความเสี่ยงก่อน หากทำได้ดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วละครับ เพราะเมื่อชี้บ่งได้ว่าอันตรายคืออะไร อยู่ที่ไหน (Hazard Identification) แล้วทำการประเมินว่าเสี่ยงไหม (Risk Assessment) หากเสี่ยงก็จัดการควบคุมซะ (Risk Control) เพียงแค่นี้ เราก็จะได้แผนงาน โครงการ กิจกรรมที่ต้องทำมาเสนอให้ทางผู้บริหารตัดสินใจแล้ว (ดูภาพที่ 1 และ 2)

          เพียงแค่นี้ก็ถือว่าสถานประกอบกิจการนั้น ๆ ได้มีการจัดการที่เยี่ยมแล้วแหละครับ แต่ด้วยเพื่อให้มันหรู (แต่เขาไม่พูดอย่างนั้นนะ) เขาจะพูดว่าเพื่อให้ระบบยั่งยืน เพื่อให้กลไกมันขับเคลื่อนได้ดี ก็ต้องทำเรื่องพวกนี้ด้วย เช่น

  • มีนโยบาย มีการมอบหมายงาน การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ การให้อำนาจ
  • มีการศึกษาความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  • มีจัดงบประมาณให้
  • มีการอบรม สร้างความตระหนัก มีการสื่อสาร
  • มีการเตรียมแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน
  • มีการเฝ้าระวัง เอาข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมิน
  • มีการสอบสวนอุบัติการณ์
  • มีการตรวจประเมินภายใน
  • มีการทบทวนการจัดการ
  • แล้วก็ตามด้วยการปรับปรุงให้พรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ (ก็มาตรฐานนี้วางบนพื้นฐานของ PDCA นี้ครับ) (ดูภาพที่ 3)

          ซึ่งอ่านแล้ว ก็พื้น ๆ ใช่ไหมครับ การทำงานอะไร ก็ต้องมีอย่างที่พูดข้างต้นอยู่แล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลิศจนทำไม่ได้ ผมจึงสรุปให้คนเข้าประชุมทางไกล 108 คน ว่าเรื่องการทำมาตรฐาน ISO 39001 นั้น easy as ABC

ทีนี้เจ้ามาตรฐานตัวนี้ ใช้ศัพท์ที่แปลก ๆ (ในสายตาผมนะครับ เพราะไม่คุ้นเลย) เช่น

  • Risk Exposure Factors
  • Final Safety Outcome Factor
  • Intermediate Safety Outcome Factor

อ่านหลายรอบก็ไม่เข้าใจ จนไปอ่านตัวอย่างในภาคผนวก เลยถึงบางอ้อ ว่าที่แท้มันคือ ปัจจัยเสี่ยง วัตถุประสงค์ และ มาตรการ (ตามลำดับ)

          Risk Exposure Factors ของคนในวงการ Road Safety เขามีหลักจำง่าย ๆ ครับว่า “คน รถ ถนน” (ถือเป็น 3 เสาหลักของการจัดการความปลอดภัยทางถนน จากที่มีทั้งหมด 5 เสาหลัก) (ดูภาพที่ 4-6)

 

          ได้ชี้แจงผู้เข้าประชุมว่า งาน Road Safety เป็นงานความปลอดภัยในการทำงานแน่นอน เพราะไม่งั้นจะเคลมเงินทดแทนไม่ได้ดอก เจ้ายานพาหนะคือสิ่งที่ทำให้ลูกจ้างเสียชีวิตถึงประมาณร้อยละ 48 จากจำนวนลูกจ้างเสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละปี (ภาพที่ 7) ที่สำคัญคือ WHO องค์การอนามัยโลกระบุว่า 1 ใน 3 ของ Road accident เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน (ก็คิดดู ทุกวี่ทุกวัน คนที่ขับรถบนถนน คงไม่ขับไปกินลมเล่นใช่ไหมครับ ต่างขับออกไปทำงานกัน หรือไม่ก็ไปทำธุระส่วนตัว) ดังนั้น จป.วิชาชีพต้องดำเนินการเรื่อง Road Safety ครับ

          เรื่องรถจักรยานยนต์ที่เป็นแชมป์ทำให้เกิดเหตุมากที่สุดนั้น ก็เป็นแชมป์บนถนนทางหลวงชนบท แต่ทางหลวงและทางการพิเศษแล้ว ปรากฎว่ารถปิคอัพ และรถยนต์ส่วนบุคคล/สาธารณะ เป็นแชมป์ครับ (ดูภาพที่ 7-8)


ดังนั้นจป.อย่างพวกเราก็ต้องไปศึกษาบริบทขององค์กรของเราว่าอะไรคือยานพาหนะที่เราต้องให้ความสนใจ

          สุดท้าย ได้แนะนำไปว่าเรื่องการนำมาตรฐาน ISO 39001 มาใช้นั้น ใช้ได้จริงครับ และไม่ยากเกินเหตุ และหากอยากได้ตัวช่วย ทางศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ก็ได้มอบหมายให้รศ.สราวุธ สุธรรมาสา สมัยที่ยังทำงานที่สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มสธ.จัดทำคู่มือการพัฒนาระบบนี้ครับ

          ในคู่มือการพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน ทำแบบบูรณาการ ISO 39001 เข้ากับข้อกำหนดของกฎกระทรวงว่าด้วยระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (กฎกระทรวงปี 2553) เขียนแบบ step by step สำหรับคนไม่เคยทำระบบ มีตัวอย่างเอกสารที่ต้องจัดทำให้ดูด้วยประกอบด้วย (ภาพที่ 9)

  • Manual ระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน
  • Procedure ว่าด้วยการแก้ไขข้อบกพร่อง
  • Procedure ว่าด้วยการตรวจติดตาม
  • Procedure ว่าด้วยการควบคุมเอกสาร
    (ซึ่งได้ดร.พนิดา ชลังสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำระบบการจัดการ และผู้ตรวจประเมินระบบการจัดการมาช่วยเขียนให้)

เอกสารคู่มือนี้ หากสนใจ เข้าไป downloads ได้ที่เว็บไซต์ของศวปถ.ครับ ตามลิงก์นี้

http://www.roadsafetythai.org/project_download_menu-edoc-4-…

#Meet_OHSWA_President

Visitors: 367,276