Know How & How to in HSE Management Series EP.3

เผยแพร่เมื่อ: 15/07/2563....,
เขียนโดย คุณสืบศักดิ์ ชนะชัยสุวรรณ
Know how & How to in HSE Management Series...,

 

 

  “นักบริหารงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

4 -8 –73 เพื่องานความปลอดภัย

 

 

          ขึ้นต้นวันนี้ยังเป็นเรื่อง “นักบริหารงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย” คำว่า นักบริหาร และ ผู้บริหาร ต่างกันในระดับการบังคับบัญชา แต่ในมุมมองของผม มันคือศิลปะที่เราสามารถฝึกและเรียนรู้ได้ ผู้บริหารที่ขาดทักษะของการเป็นนักบริหารในส่วนต่างๆ อาจทำให้งานที่ดำเนินการอยู่ไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้ามีทักษะการบริหารงานและประสานงานได้ จะทำให้งานใดๆที่ว่ายากแสนยาก อาจประสบผลสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็น

          เห็นจั่วหัวว่า 4- 8 และ 73  มันคือสูตรปุ๋ยไว้ปลูกต้นไม้หรือ    ไม่ใช่ครับแต่มันคือหมายเลขจำนวนของ สี  บุคลิก และบทบาท ของมนุษย์ ในที่นี้ผมหมายถึง ผู้ปฏิบัติงาน ร่วมงานกับเราๆ ท่านๆนั่นแหละครับ  ผมใช้สิ่งนี้บอกกับตัวผมและทีมงานที่ทำงานด้วยกันหลายบริษัทว่า คนเรานั้น มีสีประจำตัว เรื่องนี้มีการทำการวิจัยในต่างประเทศมากมายเลยนะครับ เขาเรียนกันในมหาวิทยาลัยในกลุ่มที่เป็นเอกของจิตวิทยาทั่วไป แต่ลงลึกถึงก้นบึ้งของนิสัย ใจคอของคนนะครับ หลายแห่งเขียนบทความการค้นคว้า การนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรอุตสาหกรรมทั่วไป    ในไทยผมจำได้ว่าเคยเข้าอบรมที่ CP จัดเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เรื่อง “Getting to know you well” เพื่อทำความรู้จักตัวตนของเราเอง และเข้าใจจิตที่ส่งผลไปที่การกระทำของตนเอง ผมได้เอามาเปรียบเทียบกับงานด้านจิตวิทยาความปลอดภัยในการทำงาน มันดีมากครับ คุณสามารถระบุถึงสาเหตุของพฤติกรรมที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย ได้จากการนำพนักงานมาทำแบบทดสอบด้านจิตวิทยาเรื่องความปลอดภัย 

                                                 

          กลับมาคุยเรื่องที่ผมเกริ่นไว้นะครับ การค้นหานิสัย จากข้อมูลสีต่างนิสัย (Insight Color Personality) มีบางท่านกล่าวไว้ว่ามีนคือแผนที่โลกของสมองของแต่ละคนนั่นเองผมนำมาใช้ในงานความปลอดภัยครับร่วมกับ พฤติกรรมความปลอดภัยในองค์กร

          อิงตามผลงานของ Andi Lothian และ Andi Lothian สองพ่อลูก นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Specialist) ชาวสก็อตแลนด์ที่ได้นำทฤษฎีของนักจิตวิทยาชาวสวิสชื่อดัง Carl Jung มาประยุกต์ใช้.. และเป็นที่ใช้สอนกันทั่วไปในยุโรปเเละอังกฤษเพื่อสอนให้คนเข้าใจตัวเองและคนอื่น โดย Insight Colour จะแบ่งนิสัยใหญ่ของคนเป็น 4 สี....คือ ฟ้า แดง เขียว และ เหลือง

ข้อมูลสีต่างนิสัยนี้ มีทั้งหมด 4 สี สังเกตจากภาพนะครับ การทำงานที่ควรจะเป็นคือ 4 ขั้นตอนหลักๆ ตามจิตวิทยาเบื้องต้นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ 

     1. เข้าใจตนเอง (บางคนบอกยากนะข้อนี้)

     2. เข้าใจผู้อื่น (ยิ่งยากเข้าไปใหญ่)

     3. เข้าใจถึงวิธีการประยุกต์ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ

     4. ลงมือปฏิบัติ

 

ในแต่ละสี

          แดง จะรีบทำและลงมือทำทันทีด้วยความรวดเร็วและมุ่งมั่น  ไม่ท้อถอยกล้าตัดสินใจในการทำงานต่างๆ คุณไม่ต้องห่วงว่าแดงจะช้าหรือโอ้เอ้ หรือไม่สนใจงานเพราะแดงจะชอบทำให้สร็จและควบคุมทุกอย่างด้วยตนเอง นอกจากนี้ แดง มักจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงก็เลยชอบทำอะไรไดด้วยตนเองมากกว่าเชื่อคนอื่นในทันที หรือไม่ได้ตรวจสอบ ศึกษางานนั้นๆด้วยตนเอง แต่แดงเองต้องระมัดระวัง... แดงจะไม่ค่อยระเอียดรอบคอบ100 % บางครั้งตัดสินใจเร็ว เกินไปบ้าง  อาจจะไม่ปลอดภัยนัก สรุปแดงคือนักนำปฏิบัติ

          ฟ้า จะต้องหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนก่อน คิดวิเคราะห์และประเมินผลได้ ผลเสียออกมาเป็นฉากๆก่อนการตัดสินใจทำอะไร การวางแผนของฟ้าจะละเอียด จนบางครั้งนำมาใช้ไม่ทันการหรือ ไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง เพราะฟ้าจะลงรายละเอียดมากเกินไป บางทีไม่ยอมตัดสินใจลงมีปฏิบัติ ปลอดภัยแต่งานไม่เกิดแน่ สรุปฟ้าคือนักวิเคราะห์

           เขียว คุณเขียวจะคอยถามความคิดเห็นของทุกคนเขาจะนำสิ่งที่เขาและทุกคนคิดมารวมกันเพื่อการตัดสินใจ   เขียวไม่ชอบการตัดสินใจด้วยตนเองคนเดียว  เขาต้องการการทำงานเป็นทีม เป็นกลุ่ม หรือมีเพื่อน ดังนั้นการตัดสินใจจะมาจากกลุ่ม ทุกขั้นตอนเขียวจะขอความเห็นและการตัดสินใจของทุกคน เขียวเอาใจใส่กับความรู้สึกของทุกคน  แต่ข้อควรระวังคือ เขียวไม่กล้าดำเนินอะไร ไม่กล้าตัดสินใจในภาวะฉุกเฉิน และกลัวว่าจะมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานจนเกินไปเลยทำให้งานไม่เดิน สร้างความร่วมมือการทำงานด้วยความปลอดภัย สรุปเขียวใส่ใจคนทั่วไป

          สุดท้ายเหลือง จะมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มากมายในการจะเริ่มทำอะไรก็ตาม ก็มักจะมองภาพใหญ่มองความสำเร็จระยะยาวมากกว่ารายละเอียดปลีกย่อยหรือความสำเร็จระยะสั้นเหลืองมักจะมองทุกอย่างในแง่ดีและมองหาความเป็นไปได้ มากกว่าติดที่ข้อจำกัดมักจะมีทางหนีทีไล่มากมายในหัวเหลืองจะเป็นเจ้าแห่ง network เพราะเป็นคนชอบเข้าสังคม ดังนั้นจึงสามารถติดต่อคนในเครือข่ายเพื่อนฝูงเพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือได้ง่าย สามารถทำให้วิธีการทำงานที่ปลอดภัยน่าจะหลากหลายมากขึ้น ข้อควรระวังเหลืองเป็นคนไม่ละเอียด เชื่อคนง่าย ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดและอาจไม่ปลอดภัยเพราะวิธีทำงานที่เชื่อก่อนทดลองทำดูว่าปลอดภัยหรือไม่ สรุปเหลืองคือนักฝัน

           ในกรณีที่เราได้ความร่วมมือในการทำงานป้องกันอันตรายในการทำงานหากมีทีมงานที่ครบทั้ง 4 สีจะทำให้งานความปลอดภัย มีความละเอียดรอบคอบ การวางแผนการปฏิบัติงานรัดกุม และประสานความร่วมมือของพนักงาน และเพื่อให้ตรงกับความพึงพอใจในระดับการทำงานที่เข้าใจง่ายและเป็นที่ยอมรับของคนในองค์กรเป็นอย่างดี ซึ่งการวางระบบความปลอดภัยนี้บางทีเราเรียกว่า Design for Safety สำหรับการวางแผนที่ก่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต้องเริ่มมาจากต้นทางเช่น Initial Design ที่รวบรวมเอาประเด็นต่างๆครับถ้วนและ ถ้าเป็นทีมที่มีการประกอบกันเป็นคณะกรรมการ ยิ่งทำให้ได้ผลงานที่ดีมากเช่นกัน ด้วยการนำทีมงานเหล่านี้มาร่วมวางแผนงานความปลอดภัย


          จาก 4 สี 4 ประเภท ในคนบางคนอาจมีสีหรือลักษณะนิสัยเพิ่มได้อีก 1 สีเป็นการรวมสีทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่สีที่เป็นหลักยังจะเรียกว่า นิสัยหลัก เราสามารถแบ่งกลุ่มคนต่างๆ ไปได้เป็น 8 กลุ่มย่อยคือ

     1. Director – ผู้อำนวยการทำงาน – แดง
     2. Motivator– ผู้สร้างแรงจูงใจ – ส้ม
     3. Inspirer– ผู้สร้างแรงบันดาลใจ - เหลือง
     4. Helper – ผู้ช่วย – เขียวอ่อน
     5. Supporter– ผู้สนันสนุน-เขียว
     6.
Coordinator – ผู้ประสานงาน – เขียวฟ้า
     7. Observer – ผู้สังเกตการณ์– ฟ้า
     8. Reformer– ผู้ปฏิรูปงาน– ม่วง

           นอกจากนี้ยังมีอีก 73 พฤติกรรมของคนในแต่ละส่วนผสมของหลายสี ขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นจะมีสีใดมากที่สุด เราอาจเรียกว่า combination mixed ซึ่งหัวข้อการเรียนการสอนนั้นเพื่อนๆ ใช้ในการวางแผนการทำงาน และแผนประชาสัมพันธ์ให้คนในแต่ละประเภทได้เข้าใจ เพื่อผลที่จะก่อให้เกิดแผนงานความปลอดภัยที่คนส่วนมาก ที่มากกว่าส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามอย่างเข้าใจ   

 

          Inner View สามารถวัดผลได้ เร็วๆ นี้ผมจะเปิดการอบรมแบบเสวนาเรื่องนี้ ฟรี เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในระบบการจัดการเกี่ยวกับพฤติกรรมความปลอดภัย ผมมีตัวอย่างการนำมาใช้ในการวางแผนงานความปลอดภัย ในคณะกรรมการความปลอดภัย ในทีมงานอบรมความปลอดภัยให้พนักงาน กลุ่มAuditors ต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เราเข้าใจคนมากขึ้น คล้ายๆกับเราทราบถึงความต้องการต่างๆของพนักงานในที่ทำงานมากขึ้น พูดภาษาเดียวกัน ทำให้การคาดการณ์เกี่ยวกับความเสี่ยงและการวางแผนป้องกันต่างๆ เข้าเป้ามากขึ้น  เที่ยวนี้คือจั่วหัวไว้ให้ผู้ที่สนใจเข้ากลุ่ม Safety Inner View เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารงานความปลอดภัยได้ดีขึ้น พบกับเป้าหมายความปลอดภัยของหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นการบริหารแนวใหม่ ที่ไม่ใช่ KPI มันคืออะไรมาคุยกันใน EP-4 นะครับ

 

 

Visitors: 417,592