ไตวายเฉียบพลัน...จากสาเหตุอะไรกันแน่นะ ???

เผยแพร่เมื่อ: 05/08/2563....,
เขียนโดย คุณณัฐนิชา ทองอ่วม
วิทยากรและที่ปรึกษาอิสระด้าน OHS

“ไตวายเฉียบพลัน...จากสาเหตุอะไรกันแน่นะ ???”

 

          ติ๊งๆๆๆๆๆ เสียง Line ในโทรศัพท์ดังขึ้นหลายครั้ง จนต้องกดเปิดอ่าน พบข้อความจากน้อง จป.วิชาชีพ ท่านหนึ่ง ได้ความว่า 

          “อาจารย์คะ หนูขอรบกวนถามนิดนึงนะคะ  พอดีว่าวันนี้มีพนักงานคนนึงเป็นตะคริวที่ขา บริษัทนำส่งโรงพยาบาลแล้วหมอบอกว่าเป็นโรคไตวายเฉียบพลันต้องล้างไตทางหน้าท้อง แต่เค้าดันมาเกิดโรคนี้ในเวลาทำงาน แบบนี้ใช้สิทธิการรักษาอะไรคะ?  แต่เบื้องต้นบริษัทให้ใช้สิทธิประกันกลุ่มไปก่อนเพราะที่ประชุมยังตกลงกันไม่ได้ แต่หนูคิดว่าเป็นโรคประจำตัวของพนักงานเอง จะให้ใช้สิทธิประกันสังคมค่ะ”

 

          เอาล่ะสิ…แบบนี้เค้าเรียกว่า “งานเข้า”  แล้วเราเหล่า จป.วิชาชีพ ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่จะให้คำตอบอย่างไรดี

สำหรับตัวผู้เขียนนั้นได้ให้การตอบกลับ โดยซักถามรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

                    ผู้เขียน “พนักงานท่านนี้ทำตำแหน่งหรือมีหน้าที่อะไรหรือคะ ?”

                    น้อง จปว. “ช่างซ่อมบำรุงค่ะ”

                    ผู้เขียน “แล้วเค้าทำงานอะไรบ้างคะ  ก่อนที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยวันนี้”

                    น้อง จปว. “เมื่อช่วงสายๆเค้าเข้าไปแซะลอกตะกรันในเตาเผาแต่เตาปิดการทำงานแล้วนะคะจึงเข้าไปทำ”
                    (บริษัทนี้ทำงานเกี่ยวกับการหลอมวัสดุในเตาเผา(Furnace) ด้วยอุณหภูมิสูงมากกว่า 800 องศาเซลเซียส)

                    ผู้เขียน “ตาม procedure ของบริษัทหนู ให้ปิดการทำงานของเตาเผากี่ชั่วโมงคะ และได้วัดอุณหภูมิของเตาเผาก่อนให้คนเข้าไปทำงานไหม”

                    น้อง จปว. “ไม่มีระบุค่ะอาจารย์วันนี้เค้าปิดเตาเผา 2 ชั่วโมง แล้วเข้าทำกันเลยเพราะงานเร่ง แต่ไม่ร้อนแล้วนะคะ (แจ้งเพิ่มเติมว่าทุกทีจะปิดเตาเผา 4 ชั่วโมงถึง 2 วัน แล้วแต่ความเร่งรีบ) อีกอย่างพนักงานคนนี้ปีที่แล้วก็มีประวัติค่าไตเริ่มเสื่อมอยู่ด้ว”

(ผลการตรวจเลือดปีที่แล้วของพนักงานคนนี้มีค่า BUN = 22 mg/dL  และ ค่า Creatinine = 1.3 mg/dLส่วนปี 2561 ไม่ได้มีการตรวจการทำงานของไต และเกลือแร่เลยค่ะ  ;  ค่าปกติ BUN = 10-20 mg/dL , Creatinine = 1.0-1.3 mg/dL)

                    ผู้เขียน "เอ….แล้วผลปีที่แล้วที่เริ่มผิดปกติ บริษัทมีการปรับเปลี่ยนการทำงานของเค้าเพื่อลดการสัมผัส (exposure) งานเกี่ยวกับความร้อนลงไหมคะ  เพราะส่งผลกระทบต่อการขาดน้ำของร่างกาย(dehydration)รวมถึงการขาดเกลือแร่ (electrolyte imbalance) มีผลต่อไตเลือดไปเลี้ยงไตลดลง อาจทำให้เสื่อมมากขึ้นจนถึงขั้นไตวายได้นะคะ"

                    น้อง จปว. "ไม่ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานค่ะ  เพราะบริษัทคิดว่าเป็นโรคส่วนตัวของเค้า…"


          มาถึงตรงนี้….ผู้อ่านทุกท่าน  คงเดาไม่ยากแล้วนะคะว่าถ้าเป็นเราควรจัดการอย่างไรต่อกันดี


                    ผู้เขียน "งานนี้บริษัทต้องเอาข้อมูลทั้งหมด ให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นผู้พิจารณาว่าเป็นโรคจากการทำงาน (occupational diseases) หรือเป็นโรคเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน(work-related diseases) หรือไม่…เพราะถ้าให้พิจารณาตามตำแหน่งและหน้าที่กับอาการของพนักงานท่านนี้ สอดคล้องกับการสัมผัสสิ่งคุกคามเกี่ยวกับความร้อน  ซึ่งหมายความว่า  ต้องมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติม เช่น ระยะเวลาสัมผัส มาตรการก่อน/ขณะ/หลังสัมผัสความร้อนของบริษัท ผลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงพฤติกรรมส่วนบุคคล (การทานอาหารเค็มน การใช้ยา  การใช้ยาสมุนไพร การดื่มสุรา การพักผ่อน ฯลฯ)  ซึ่งต้องให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และวิเคราะห์ผล  พร้อมฟันธงว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่ ?.....หาก “ใช่” ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน ตามกฎหมาย หาก “ไม่ใช่” ก็ใช้สิทธิประกันสังคมค่ะ"

                    น้อง จปว. "ขอบคุณค่ะอาจารย์ สงสัยงานนี้จะได้ใช้กองทุนเงินทดแทนแน่ๆเลย เพราะพี่เค้าไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่  ไม่ทานเค็ม ไม่มีโรคประจำตัวอื่น แต่ในเรื่องการทำงานเค้าต้องเข้าแซะตะกรันแบบนี้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และตอนที่หนูคุยกับอาจารย์อยู่ มีพนักงานที่เค้าแซะตะกรันด้วยกันอีก 2 คน ขาเป็นตะคริวทั้ง 2 ข้าง กำลังนำส่งโรงพยาบาลยู่ค่ะ หนูว่างานเข้าหนูแล้ว!!!" 

 

ท่าจะงานเข้าของจริง!!!!!!...สู้ๆนะคะ

และอย่าลืมนำบทเรียนนี้ไปทบทวนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อนด้วยกันนะคะ

         

 

 

Visitors: 367,487