Fire Protection Series EP.2

เผยแพร่เมื่อ: 27/08/2563 ....
เขียนโดย คุณคณาธิศ เกิดคล้าย
อดีตผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

ทำไมน้ำสำรองดับเพลิงตามกฎหมายที่ออกตาม

“พรบ.โรงงาน พศ. 2535” และ “พรบ.วัตถุอันตราย พศ. 2535”

ซึ่งเป็นกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 2 ฉบับ

จึงกำหนดปริมาณไม่เท่ากัน?

 

          จากประสบการณ์ในการตรวจสอบโรงงานให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและการให้คำปรึกษากับโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะนักวิชาการในขณะที่ผู้เขียนรับราชการอยู่สำนักควบคุมวัตถุอันตรายและสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรมนั้นพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานหรือนักกฎหมายของสถานประกอบการโรงงานเองมีความสับสนกับกฎหมายที่ออกตามประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 2 ฉบับที่จะกล่าวต่อไปนี้ออกมาบังคับใช้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในหลายๆประเด็น และหนึ่งประเด็นแรกที่จะนำเสนอในบทความนี้ก็คือ ปริมาณน้ำสำรองระบบดับเพลิงโดยที่มีกฎหมายประกาศเรื่อง คู่มือการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พศ. 2552 (ออกตาม พรบ.โรงงานอุตสาหกรรม พศ. 2535) ข้อ 10 “ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดเตรียมน้ำสำรองดับเพลิงในปริมาณที่เพียงพอที่จะส่งจ่ายน้ำให้กับอุปกรณ์ดับเพลิงได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบนาที” และคู่มือการเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตราย พศ. 2551 (ออกตาม พรบ.วัตถุอันตราย พศ. 2535) ข้อ2.9.2.4 “ปริมาณน้ำดับเพลิงที่ใช้ในการดับเพลิงต้องมีเพียงพอเพื่อใช้ในการผจญเพลิงเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง” หากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) และมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตเช่น มีการเก็บถังบรรจุของเหลวไวไฟ หรือถังเก็บก๊าซไวไฟ ผู้ตรวจสอบควรจะแนะนำให้คำปรึกษาอย่างไรเพื่อให้การปฏิบัติสอดคล้องตามกฎหมายและให้การประกอบกิจการมีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

          นอกจากการจัดวางผังโรงงาน โดยการให้มีมาตรการกำแพงกันไฟ (Fire Compartment) กั้นระหว่างห้องเก็บวัตถุดิบผลิตภัณฑ์และสารเคมีที่ติดไฟได้กับพื้นที่ส่วนผลิต ตามประกาศ เรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พศ. 2552 (ตามข้อ 19) เพื่อป้องกันไฟลุกลาม (Domino Effect) กรณีเกิดไฟไหม้ในโรงงานตามที่เคยลงบทความไว้ในMeet the Professional: Fire Protection Series EP1 แล้วนั้น ปริมาณน้ำสำรองดับเพลิงก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่กฎหมายทั้งสองฉบับที่ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมนั้นกำหนดปริมาณน้ำสำรองสำหรับระบบดับเพลิงไว้ไม่เท่ากันเจตนาความของกฎหมายเป็นเช่นไร เป็นเรื่องที่ควรหาคำตอบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

          เหตุผลหนึ่งเมื่อเกิดอัคคีภัยในโรงงานที่มีการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายในกระบวนการผลิต ซึ่งจะมีการเก็บถังภาชนะบรรจุสารเคมีที่อาจจะเป็นก๊าซไวไฟ หรือก๊าซพิษ หรือของเหลวไวไฟปัญหาที่ตามมาที่สำคัญอย่างมากก็คือขณะที่เกิดเหตุไฟไหม้จะก่อให้เกิดรังสีความร้อนที่อาจจะไปกระทบกับถังภาชนะบรรจุก๊าซหรือของเหลวไวไฟยกตัวอย่างเช่นถังภาชนะบรรจุทินเนอร์ที่มักมีในโรงงานทั่วไป ทำให้มีอุณหภูมของถังภาชนะบรรจุสูงขึ้นจนกระทั่งถึงจุดที่ติดไฟได้ด้วยตัวเองและเกิดการระเบิด BLEVE (Boiling Liquid Expensing Vaper Explosion) ซึ่งถังบรรจุของเหลวไวไฟจะระเบิดลอยสูงไปตกสถานที่อื่นๆได้ในส่วนของถังภาชนะบรรจุก๊าซ LPG ที่มีใช้ในขบวนการผลิต ชณะเกิดเพลิงไหม้โรงงานถังบรรจุก๊าซก็อาจจะได้รับรังสีความร้อนเช่นเดียวกัน อุณหภูมิถังภาชนะบรรจุสูงขึ้น ความดันก๊าซภายในก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยทำให้วาล์วนิรภัยลดความดันทำงาน (Pressure Relief Valve) จะปลดปล่อยก๊าซไวไฟออกมาทำให้เกิดติดไฟลุกลาม (Domino Effect) ทำให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นฉะนั้นน้ำสำรองสำหรับระบบดับเพลิงนอกจากจะใช้ในการฉีดเพื่อควบคุมเพลิงและดับไฟแล้ว การฉีดพ่นน้ำอีกส่วนหนึ่งเพื่อลดอุณหภูมิ (Cool Down) ถังภาชนะบรรจุของเหลวไวไฟ หรือถังภาชนะบรรจุก๊าซไวไฟเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ควรต้องมีการลดอุณหภูมิและควบคุมให้ได้อีกด้วย เพื่อป้องกันการเกิดการรั่วไหล เกิดการระเบิดและจะเกิดไฟลาม ก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัยภายนอกมาช่วยควบคุมเพลิงต่อไป

รูปการใช้ก๊าซไวไฟและของเหลวไวไฟในโรงงานโดยทั่วไป

 

          จากประสบการณ์ผู้ประกอบกิจการโรงงานมักคิดว่าโรงงานมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกตาม พรบ.โรงงาน พศ. 2535 เท่านั้นแต่หากดูเจตนาของกฎหมายแล้วเรื่องการลดอุณหภูมิ (Cool Down) ถังบรรจุสารเคมีถือเป็นสิ่งจำเป็นมากหากเกิดเหตุอัคคีภัยในโรงงานของตนเอง หรือโรงงานข้างเคียง ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินควรเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ไม่ควรยกเว้นครับ

หมายเหตุ พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายพ.ศ. ๒๕๓๕ ; มาตรา ๑๕ ในกรณีที่มีกฎหมายว่าด้วยการใดบัญญัติเรื่องใดไว้โดยเฉพาะแล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น

 

 

Visitors: 370,711