การวางระบบการบริหารจัดการควบคุมความสูญเสีย ตามแนวทาง Loss Control Management

เผยแพร่เมื่อ:  31/08/2563....,
เขียนโดย นายสวินทร์  พงษ์เก่า 
นักวิชาการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

การวางระบบการบริหารจัดการควบคุมความสูญเสีย 

ตามแนวทาง Loss Control Management

 

          การบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในบริบท ใหม่ นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะในโลกที่ไร้พรมแดน องค์กรอาจได้รับผลกระทบและนำไปสู่ความเสียหายได้ เพียงเกิดอุบัติเหตุขั้นรุนแรงเพียงครั้งเดียว เราสามารถเห็นได้จากข่าวสารที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์แบบรวดเร็ว และทันทีทันใด ซึ่งนับว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อองค์กรและก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม   

          จูรานและกรายน์ ได้พบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 80% สามารถควบคุมได้โดยการบริหาร และ 20%  สามารถควบคุมโดยผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.เดมมิ่ง ปรมาจารย์ด้านการควบคุมคุณภาพ เจ้าของรางวัล  DemingPrize รางวัลอันทรงเกียรติสำหรับองค์กรที่มีการจัดการอย่างมีคุณภาพ รางวัลดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรแห่งประเทศญี่ปุ่น (Union of Japanese Scientists and Engineers: JUSE)  เมื่อปี ค.ศ.1951 เพื่อส่งเสริมและยกระดับการนำ  Total Quality Management: TQM เข้าไปใช้ในระบบการจัดการขององค์กรธุรกิจ  ซึ่งกล่าวไว้ว่าปัญหาในบริษัท 85% สามารถแก้ไขโดยผู้บริหาร และ 15% สามารถแก้ไขโดยพนักงาน

          จากผลการศึกษาและแนวคิดดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อการบริหารงานอาชีวอนามัยความปลอดภัย ซึ่งมุ่งเน้นที่การบริหารและการจัดการมากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ปฏิบัติงาน

          การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการความสูญเสียอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน มีมาตรฐาน และระบบประเมินวัดผลที่เชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จะมีองค์ประกอบ ที่สำคัญ 4 ประการคือ
                    
1. แนวคิดการบริหารจัดการ (Management Concept) มุ่งสู่การสร้างวัฒนธรรม  เชิงป้องกัน 
                    
2. ระบบข้อมูล (Management Information System)
                    
3. มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Performance Standard)
                    
4. ระบบการประเมินวัดผล (Measurement and Evaluation System)

          การวางระบบการบริหารจัดการควบคุมความสูญเสียตามแนวทาง Loss Control Management เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติ มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้
                    
1. กำหนดนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรอย่างชัดเจนโดยผู้บริหารเป็นต้นแบบ      
                    
2. ประกาศเจตนารมณ์เพื่อนำไปปฎิบัติ
                    
3. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำระบบบริหารจัดการควบคุมความสูญเสีย แบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 
                    
4. จัดอบรมคณะทำงานให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างท่องแท้และต่อเนื่อง
                    
5. ประเมินวัดผลระบบที่มีอยู่เดิม (วัดผลเบื้องต้น)  เพื่อดูสิ่งที่มีอยู่เดิมเพื่อต่อยอด  
                    
6. กำหนด Activity ที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม (ที่ยังขาดอยู่)
                    
7. ทำระบบ/ตั้งเกณฑ์มาตรฐานการปฎิบัติ
                    
8. จัดทำแผนงานเพื่อนำไปปฎิบัติ
                    
9. ปฎิบัติกิจกรรมที่กำหนดไว้ตามแผน
                    
10. ติดตามผลให้เป็นไปตามแผนปฎิบัติ
                    
11. Internal Audit
                    
12. เมื่อพร้อมขอรับ External Audit จากภายนอก 
                    
13. นำข้อแนะนำและดำเนินการปรับปรุงแก้ไข     
                    
14. ปรับปรุง (ข้อ 7 ,8) ให้เป็นผลในทางปฎิบัติ    
                    
15. ปรับปรุงคุณภาพและแรงจูงใจ จากผล (ข้อ 10,11)
                    
16. ปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

           บริหารจัดการควบคุมความสูญเสีย จะใช้หลักของแบบจำลองการบริหารจัดการเพื่อควบคุมความสูญเสียของ Prof. Frank E. Bird ได้นำเสนอโมเดลการบริหารจัดการเกี่ยวการค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุและความสูญเสียขึ้นมา (Loss Causation Model) ซึ่งมีรูปลักษณะคล้ายโดมิโนของ Heinrich โดยได้ประยุกต์ปรับปรุงให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น แต่โมเดลของ Prof. Frank E. Bird แตกต่างกันที่ Prof. Frank E. Bird นำเสนอให้เห็นว่า ปัญหาทั้งหลายมาจากหลายสาเหตุ ( Principle of Multiple Causes) จะไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว โดมิโนแต่ละแท่งจะเชื่อมโยงกันไม่สามารถยกออกจากกันโดยลำพังได้

          Prof. Frank E. Bird ใช้คำว่า การกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Sub Standard Act or Practice) แทนคำว่าการกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafeact Act) และใช้คำว่า สภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Sub -Standard Condition)  แทนคำว่า  สภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ( Unsafe condition ) Prof. Frank E. Bird ใช้คำที่เน้นผลในทางปฏิบัติ  เพราะเมื่อถามถึงการกระทำหรือสภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จึงทำให้มองเห็นว่ามาตรฐานที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร และจะต้องทำอย่างไร 

          Loss Causation Model อธิบายถึงผลหรือความสูญเสีย (Loss)  ทั้งต่อ  คน ทรัพย์สิน ขบวนการผลิต   

          เป็นผลมาจากอุบัติการณ์หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น (Incident) โดยเกินขีดจำกัดความต้านทาน (Threshold  Limit) ของพลังงานหรือสสาร ซึ่งเกิดมาจากสาเหตุขณะนั้น (Immediate Cause) ได้แก่ การกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และ/หรือ สภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน  ซึ่งท่านนำเสนอว่าสาเหตุเหล่านี้เป็นเพียงอาการที่ปรากฏ (Symptom)  เช่น พนักงานไม่ส่วมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ไม่มีระบบสัญญานเตือนภัยนั้น มิใช่สาเหตุพื้นฐานที่แท้จริง ( Basic  cause)

          Prof. Frank E. Bird นำเสนอว่า สาเหตุพื้นฐานที่แท้จริง ( Basic cause)  คือปัจจัยบุคคล (Personal Factor) เช่น ผู้ปฏิบัติงานไม่มีความรู้ในเครื่องมือที่ทำ พนักงานขาดความชำนาญ หรือ ปัจจัยงาน (Job Factor) เช่น ไม่มีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ไม่มีการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน

          สาเหตุพื้นฐานเหล่านี้เกิดจากขาดการควบคุมที่ดี    (Lack of Control)  ซึ่งหมาย ถึง
                    
(1) ไม่มีระบบในการป้องกัน ควบคุม หรือมีไม่เพียงพอ  (Inadequate Program)
                    
(2) มีระบบอยู่แต่ไม่ได้มาตรฐาน หรือมีมาตรฐานแต่ไม่เพียงพอ  (Inadequate Standard)
                    
(3) มีระบบที่มีมาตรฐานแต่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน หรือปฏิบัติไม่ได้ตามมาตรฐาน (Inadequate Compliance)   

          หากองค์กร "ยิ่งลดความสูญเสียได้มากเพียงใด ก็ยิ่งเพิ่มผลกำไรมากยิ่งขึ้น" ทุกองค์กรจะมีขีดจำกัดสูงสุดของการผลิตตามความสามารถของปัจจัยการผลิตคือ คน (แรงงาน) เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์  เงินทุน และสภาพแวดล้อมในการผลิต (ทั้งปัจจัยภายนอกที่คุมไม่ได้ เช่น นโยบายภาครัฐ  ความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น  รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในองค์กร

          เมื่อองค์กรควบคุมความสูญเสียอย่างเป็นระบบได้ ก็จะเพิ่ม productivity มากขึ้นด้วย  ในระบบการบริหารงานรวม (Total management) การบริหารงานควบคุมความสูญเสีย (Loss Control Management) เป็นส่วนในระบบการบริหารก็เป็นส่วนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานด้านอื่นๆ และการบริหารงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยก็เป็นส่วนที่สำคัญของการควบคุมความสูญเสียขององค์กร  อันจะนำไปสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน

 

 

Visitors: 417,587