10 คำถาม ก่อนยกและเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยเครน

เผยแพร่เมื่อ: 02/09/2563....,
เขียนโดย คุณชลาธิป อินทรมารุต
ผู้จัดการฝ่ายอาชีวอนามัย ความมั่นคง ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

บริษัทเอกชน ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง และปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน

 

10 คำถาม ก่อนยกและเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยเครน

          ในสายงานก่อสร้าง แน่นอนว่ากิจกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือการยกและเคลื่อนย้ายวัตถุ ซึ่งเรานิยมใช้ปั้นจั่น หรือที่เรามักเรียกติดปากว่า “เครน” (Crane) ซึ่งมีมากมายหลายประเภท และขนาดที่แตกต่างกัน และเป็นกิจกรรมที่เรามักจะเห็นข่าวอุบัติเหตุกันอยู่บ่อยๆตามสื่อต่างๆ เช่น เครนล้มคว่ำ  สลิงขาด  เครนยกวัตถุไปเกี่ยวสายไฟฟ้า  ฯลฯ  ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก ขาดการประเมินความเสี่ยง การวางแผน การคำนวน ทักษะความชำนาญของผู้ควบคุม และการตรวจสอบเครน และอุปกรณ์ยก ก่อนเริ่มงาน

          ดังนั้นผมจึงเอา 10 คำถามที่จำเป็น เพื่อถามตัวเองและถามผู้ปฏิบัติงานทุกครั้งก่อนจะยกเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยเครน เพื่อให้มั่นใจว่าในการยกครั้งนี้ จะไม่เกิดความสูญเสียขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคน หรือ การชำรุดของเครื่องจักร  และความเสียหายของวัตถุที่กำลังจะยก  เพราะมันเป็นความสูญเสียที่ยอมรับไม่ได้จริงๆทั้งๆที่เราสามารถป้องกันได้ก่อนเกิดเหตุด้วย 10 คำถามต่อไปนี้ครับ

          1) มีการกำหนดขั้นตอนการทำงานรึยัง?
               
ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบ และปฏิบัติตามขั้นตอนการยกและเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยเครนอย่างเคร่งครัด ห้ามปฏิบัติงานข้ามขั้นตอนใดๆ เด็ดขาด และนอกจากขั้นตอนในการทำงานแล้ว ก็ควรจัดเตรียมและฝึกซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น

          2) มีการพูดคุยชี้แจง และมอบหมายหน้าที่กับผู้ปฏิบัติงานก่อนจะเริ่มงานยกรึยัง?
              
สมาชิกทุกคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ควบคุมรถเครน จำเป็นต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อพูดคุยกันก่อนเริ่มงานทุกครั้ง โดยเนื้อหาที่พูดคุย เช่น บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ การให้สัญญาณและการสื่อสาร กฏและข้อห้ามในไซต์งาน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ต้องใส่ และขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

          3) มีการตรวจเชคเครน และอุปกรณ์สำหรับยกก่อนเริ่มงานรึยัง?
              
การตรวจสอบเครนและอุปกรณ์ช่วยยก ที่จำเป็นต้องตรวจหลายอย่าง ทั้งสภาพความพร้อม และความปลอดภัยในการใช้งาน เอกสารใบรับรองการตรวจเครน (ปจ.2)  ใบรับรองผ่านการอบรม และใบขับขี่ของผู้ควบคุมเครน โดยการตรวจเชคควรทำโดยผู้ที่มีทักษะความรู้ และความเชี่ยวชาญในการใช้เครนเพื่อยกและเคลื่อนย้ายวัตถุ หากมีสิ่งผิดปกติไม่พร้อมใช้งาน ต้องสั่งหยุดงานและแก้ไข หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ชิ้นนั้นทันที

          4) อุปกรณ์ที่จะใช้มีการคำนวนน้ำหนักยก และระยะที่จะใช้รึยัง?
              
การคำนวนน้ำหนัก และระยะที่จะใช้ในการยก จะต้องใช้ตารางแสดงน้ำหนักยก (Load chart) ของเครนคันนั้นๆ มาใช้ในการคำนวน ห้ามใช้ของคันอื่นมาคำนวนและใช้สลับกันอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ระยะห่างของเครนจนถึงวัตถุที่จะยก  และระยะที่ยืดบูมของเครน ยิ่งระยะห่างเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ความสามารถในการยกได้น้ำหนักที่ลดน้อยลง

          5) มีการกำหนดหน้าที่ และความรับผิดชอบให้กับผู้ปฏิบัติงานแต่ล่ะคนรึยัง?
              
ในการยกและเคลื่อนย้าย คนที่เกี่ยวข้องในการยกและเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยเครน ประกอบด้วย ผู้บังคับ ผู้ให้สัญญาณ ผู้ยึดเกาะวัสดุ และผู้ควบคุม ซึ่งต้องมีการกำหนด และแจ้งบทบาทหน้าที่ให้แต่ล่ะคนทราบอย่างชัดเจนก่อนเริ่มยก

          6) ผู้ปฏิบัติงานมีทักษะ ความรู้ ความชำนาญเหมาะสมหรือไม่
              
ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแค่ผ่านการอบรม แต่จะต้องมีใบประกาศนีย์บัตรรับรองความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าได้ผ่านการอบรมมาจริง และเหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นผู้ควบคุมงาน และจป.หน้างาน ต้องไม่ลืมที่จะขอดูเอกสารรับรองก่อนอนุญาติให้ปฏิบัติหน้าที่  และต้องสัมภาษณ์หรือสังเกตุอาการด้วยว่า มีความผิดปกติ เช่น  มีกลิ่นหรืออาการเมาสุราหรือไม่  มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาที่ทำให้ง่วงนอนมารึเปล่า  นอนหลับและพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ ฯลฯ

          7) มีการประเมินความเสี่ยง และทบทวนแผนงานยกรึยัง?
              
แผนงานยก ประกอบด้วย แผนผังพื้นที่ที่จะตั้งเครน จุดที่จะยกและวางวัตถุ  โหลดชาร์ต  รายการคำนวนความสามารถในการยก ระยะยืดบูม ระยะห่างเครนถึงจุดที่คล้องเกี่ยว มีการประเมินความเสี่ยง เช่นการทำ JHA และแนบใบรับรองการตรวจเครน (ปจ.2) และประกาศนีย์บัตรรับรองว่าผ่านการอบรมของผู้ที่เกี่ยวข้องในงานยก  ทั้งหมดนี้ทางผุ้รับเหมาต้องจัดเตรียมแล้วส่งให้ผู้ควบคุมงาน และผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัย เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนจะเริ่มงานยก

          8) มีการตรวจเชคสภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมรึยัง?
              
นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเชคสภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมรอบๆ เช่น ถ้ามีฝนตก ลมพายุพัดแรง ก็ควรงดงานยก รวมถึงรอบๆ บริเวณที่จะยกทีต้นไม้ใหญ่ หรือสายไฟฟ้าพาดผ่านในบริเวณนั้นหรือไม่ เพื่อวางแผน และควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายอื่นๆ 

          9) มีการกั้นพื้นที่ และมาตรการป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่รึยัง?
              
จำเป็นต้องมีการกำหนดพื้นที่งานยก (Lifting area)  แล้วกั้นรั้วเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเดินเข้ามาในบริเวณดังกล่าว เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ทั้งจากเครนที่มีการเคลื่อนไหว และการกระแทก หรือทับในขณะที่ยกและวางวัตถุ

          10) ใครเป็นคนให้สัญญาณกับผู้ควบคุมเครน และใช้อุปกรณ์สื่อสารอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่?
                 
ข้อสุดท้าย พึงระลึกไว้เสมอว่าผู้ที่ให้สัญญาณกับผู้ควบคุมเครน จะมีเพียงหนึ่งคนเท่านั้น เพราะบ่อยครั้งที่เราเห็นหลายๆคน พยายามที่จะตะโกน หรือทำสัญญาณมือให้ผู้ควบคุมเครน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และไม่ได้ช่วยผ่อนแรงแต่อย่างใด แต่จะทำให้ผู้ควบคุมเครนเกิดความสับสนหากมีผู้ให้สัญญาณหลายคน และให้สัญญาณ หรือท่าทางที่แตกต่างกัน

 

          สุดท้ายนี้ผมหวังว่า 10 คำถามก่อนการยกและเคลื่อนย้ายวัตถุนี้ จะถูกนำไปใช้ก่อนการยกและเคลื่อนย้ายวัตถุใดๆ และอย่าลืมว่าการประเมินความเสี่ยงต้องทำตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ก่อนเริ่มงาน ดังนั้นเมิ่อมีสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขใดๆ ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ควบคุมงาน หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่อยู่หน้างาน ต้องสั่งให้หยุดงาน (Stop work) ทันที เพื่อแก้ไข หรือเอาสิ่งที่อาจทำให้เกิดอันตรายนั้นๆ ออกไปก่อน  พร้อมทั้งปะเมินความเสี่ยง และความพร้อมใหม่อีกครั้ง ก่อนจะอนุญาตให้ปฏิบัติงานต่อ

 

Visitors: 417,595