การประเมินความเสี่ยงจากการทำงานโดยการใช้การประเมินด้านการยศาสตร์เพื่อการปรับปรุงงาน

เผยแพร่เมื่อ: 08/09/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม 
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,
Meet the Academic: Ergonomics Make It Simple Series...,

 

การประเมินความเสี่ยงจากการทำงานโดยการใช้การประเมินด้านการยศาสตร์เพื่อการปรับปรุงงาน

 

          “การปรับปรุงงาน (Work  improvement)” หมายถึง การพิจารณาปัจจัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อทำให้การทำงานของผู้ปฏิบัติงานมีความสะดวก สบาย ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปผลลัพธ์ในการปรับปรุงงาน คือ ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือการเกิดโรคจากการทำงานลดลง ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการลดความล้า และความเครียดจากการทำงาน จำนวนอุบัติเหตุในสถานที่ทำงานลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถานประกอบการลดลง อัตราผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้น ผู้ปฏิบัติงานมีความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน หรือมีความสุขมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้การปรับปรุงงานสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ได้มากมาย โดยเทคนิค การประเมินความเสี่ยงจากการทำงานโดยการใช้การประเมินด้านการยศาสตร์เป็นหนึ่งในเทคนิคในการปรับปรุงงานเช่นกัน

          การประเมินความเสี่ยงจากการทำงานมีการใช้เครื่องมือหรือแบบประเมินต่างๆ เข้ามาประเมินความเสี่ยงสำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวัดหรือตรวจประเมินความเสี่ยงจากการทำงานที่สัมพันธ์กับความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ แบ่งได้ 3 แบบ ดังนี้
                    - 
แบบที่ 1 คือ แบบบันทึกด้วยตนเอง เป็นการประเมินโดยใช้แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามเก็บบันทึกข้อมูลลักษณะการทำงาน ปัจจัยกายภาพและจิตใจ โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นผู้บันทึก ข้อมูลด้วยตนเอง
                    - 
แบบที่ 2 คือ แบบสังเกต แบ่งย่อยได้ 2 เทคนิค คือ เทคนิคอย่างง่าย เช่น Rapid Upper Limb Assessment (RULA) และ Rapid Entire Body Assessment (REBA) ใช้บันทึกลักษณะการทำงาน ทำให้    ผู้สังเกตสามารถประเมินและบันทึกข้อมูลได้ โดยใช้แบบประเมินที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ และเทคนิคขั้นสูง เช่น Video analysis และ Posture Activity Tools and Handling (PATH) ใช้ประเมินท่าทางการทำงาน   ที่มีการเคลื่อนไหวมาก โดยการบันทึกด้วยวีดิทัศน์หรือการวิเคราะห์โดยคอมพิวเตอร์
                    - 
แบบที่ 3 คือ แบบประเมินโดยตรง เช่น Electronic goniometry และ Electromyography (EMG) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตัวจับสัญญาณติดโดยตรงกับผู้ถูกประเมิน เพื่อวัดตัวแปรความเสี่ยงของการทำงาน

          ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงจากการทำงานโดยการใช้การประเมินด้านการยศาสตร์ มีดังนี้
                    
1. การวางแผนการสำรวจด้านการยศาสตร์ในโรงงาน
                    
2. ศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถบ่งชี้ปัญหาได้ เช่น สถิติการบาดเจ็บ การลาหยุด การลาป่วย หรือความถี่ในการพบแพทย์ เป็นต้น
                    
3. การสำรวจ และบันทึกสภาพงานจริง จะต้องเดินสำรวจข้อมูลในสภาพจริง ทำการบันทึกโดยใช้เทคนิคต่างๆ เช่น วีดีโอ หรือแบบประเมิน และเครื่องมือวัดต่างๆ
                    
4. วิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนการประเมิน ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อหาสาเหตุ โดยพิจารณาจากภาระและปัจจัยเสี่ยง และระดับความรุนแรง
                    
5. ดำเนินการประเมินความเสี่ยง
                    
6. สรุปและแปลผลการประเมินความเสี่ยง เสนอวิธีการแก้ไข ประยุกต์ใช้ และติดตามผล จากการเดินสำรวจข้อมูลในสภาพจริง ใช้แบบตรวจสอบ และรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวิเคราะห์งานต่างๆ

          ตัวอย่างงานวิจัยที่ใช้การประเมินความเสี่ยงจากการทำงานโดยการใช้การประเมินด้านการยศาสตร์เพื่อการปรับปรุงงานมาใช้งานจริงในสถานประกอบการ ได้แก่
                    
(1) การศึกษาวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงสถานีงานตามหลักการยศาสตร์เพื่อลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิด ความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อของแรงงานในกระบวนการผลิตปลาทูน่า: กรณีศึกษาโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแห่งหนึ่ง” งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสภาพการปฏิบัติงานในขั้นตอนขูดแยกเลือดปลาจากกระบวนการผลิตปลาทูน่าเพื่อลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อเนื่องจากการทำงาน ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยได้แสดงผลสำรวจสุขภาพแรงงาน ซึ่งพบว่าแรงงานในขั้นตอนขูดแยกเลือดปลาเกิดอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92 โดยตำแหน่งบนร่างกายซึ่งเกิดอาการปวดเมื่อยล้ากล้ามเนื้อมากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ ตำแหน่งหัวไหล่ซ้ายและขวา ตำแหน่งสะโพก ตำแหน่งหลังส่วนล่าง และตำแหน่งขาส่วนล่างซ้ายและขวา หลังจากนำเสนอแนวทางปรับปรุงสภาพการปฏิบัติงานในขั้นตอนขูดแยกเลือดปลาเป็นการปฏิบัติงานแบบงานนั่งด้วยการสร้างเก้าอี้และชั้นวางถาด พร้อมกับประเมินผลกระทบทางกายภาพต่อร่างกายของแรงงานในสภาพการปฏิบัติงานก่อนและหลังปรับปรุง ซึ่งพบว่า คะแนนการประเมินท่าทางการทำงานด้วย RULA มีคะแนนเฉลี่ยลดลง ผลการวิเคราะห์แรงกดและแรงเฉือนตรงบริเวณหมอนรองกระดูก L5/S1 นั้นมีค่าของแรงกดและแรงเฉือนลดลง สุดท้ายคือ ผลการประเมินค่าสัญญาณไฟฟ้ากล้ามเนื้อด้วยค่าความถี่เฉลี่ยของกล้ามเนื้อ Erector Spinae กล้ามเนื้อTrapezius และกล้ามเนื้อ Anterior Deltoid นั้นพบว่า ค่าความถี่เฉลี่ยของกลุ่มกล้ามเนื้อทั้งหมดในสภาพการปฏิบัติงาน หลังปรับปรุงมีค่าน้อยกว่าสภาพการปฏิบัติงานก่อนปรับปรุง และเมื่อประเมินผลอัตราผลิตภาพ พบว่า อัตราผลิตภาพในสภาพการปฏิบัติงานหลังปรับปรุงเพิ่มขึ้น 1.17 กิโลกรัมต่อคน-วัน โดยมีระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 6 เดือน จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า การปรับปรุงสภาพการปฏิบัติงานแบบงานนั่งด้วยการสร้างเก้าอี้และชั้นวางถาด สามารถลดความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อของแรงงานอีกทั้งเพิ่มผลผลิตด้วย 
                    (2) การศึกษาวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงด้านการยศาสตร์จากการยกกล่องฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ กรณีศึกษา บริษัท เอชจีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด” ซึ่งงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์และได้พัฒนาเครื่องช่วยยกระดับแท่นวางพาเลทเพื่อลดความเสี่ยงและเปรียบเทียบความเสี่ยงก่อนและหลังการปรับปรุงท่าทางการทำงานและการยก โดยศึกษาที่ บริษัท เอชจีเอสที 
(ประเทศไทย) จำกัด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามความเมื่อยล้า แบบประเมินความเสี่ยงด้วยวิธี REBA แบบประเมินด้วยสมการการยกของ NIOSH นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และการทดสอบค่าที ผลการวิจัย พบว่า การปรับปรุงวิธีทำงานด้วยเครื่องช่วยยกระดับให้ตำแหน่งยกไปยังตำแหน่งวางมีระดับความสูงเท่ากัน โดยไม่ต้องก้ม เมื่อประเมินความเสี่ยงด้วยวิธี REBA มีค่าลดลงจาก 11 เหลือ 3 หมายถึง ระดับที่ปลอดภัย ค่าดัชนีการยกจากสมการการยกของ NIOSH ลดลงจาก 3.37 เหลือ 0.97 หมายถึง อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย และผลการสำรวจแบบสอบถามความเมื่อยล้า พบว่า มีความเมื่อยล้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3 เหลือ 1.6 ลดลงร้อยละ 48.5 แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% และผลความพึงพอใจของของพนักงาน จำนวน 31 จาก 33 คน บอกว่า วิธีทำงานดีขึ้น ส่วนอีกจำนวน 2 คน บอกว่า เท่าเดิม เพราะ  ยังไม่ชินกับวิธีทำงานแบบใหม่
                    (3) การศึกษาวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ปัญหา และปรับปรุงงานด้านการยศาสตร์ของพนักงานขนย้าย และติดตั้งท่อสแตนเลสในกระบวนการติดตั้งงานระบบท่อในงานก่อสร้าง” งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานของพนักงานขนย้ายและติดตั้งท่อสแตนเลส ด้วยการปรับปรุงงานด้านการยศาสตร์ โดยทำศึกษาจากแบบสอบถาม เพื่อสำรวจภาระงานด้านกล้ามเนื้อ จากการประเมินตนเองของพนักงาน และการประเมิน REBA ในพนักงานทั้งหมด 17 คน ซึ่งได้จำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
                              
กลุ่มที่ 1: งานขนย้ายท่อสแตนเลสด้วยรถเข็นท่อ และงานติดตั้งท่อในแนวตั้งในช่องชาฟต์ (เป็นขั้นตอนการทำงานต่อเนื่องกัน) จำนวน 11 คน พบว่า ส่วนของร่างกายที่พนักงานรู้สึกถึงอาการปวดเมื่อยทั้งด้านซ้าย และด้านขวา คือ บริเวณหลังส่วนล่าง, ไหล่ และแขนส่วนบน ตามลำดับ ผลประเมิน REBA มีคะแนน 13  ซึ่งหมายถึง ต้องทำการปรับปรุงงานทันที โดยการปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงานด้วยการใช้อุปกรณ์ล้อผ่อนแรง แทนการออกแรงกำลังเพื่อยกท่อสแตนเลสนั้น พบว่าส่วนของร่างกายที่พนักงานรู้สึกถึงอาการปวดเมื่อยทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ได้แก่ บริเวณหลังส่วนล่าง, บริเวณไหล่ และบริเวณแขนส่วนบน มีระดับลดลงตามลำดับ ซึ่งผลจากการประเมิน REBA มีค่าลดลงที่คะแนน 7
                              
กลุ่มที่ 2 : งานบังคับรอก จำนวน 6 คน พบว่า ส่วนของร่างกายที่พนักงานรู้สึกถึงอาการปวดเมื่อย ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา คือ บริเวณไหล่, แขนส่วนบน และแขนส่วนล่าง ตามลำดับ ผลประเมิน REBA มีคะแนน 11 ซึ่งหมายถึง ต้องทำการปรับปรุงงานทันที โดยการปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงานด้วยการใช้รอกไฟฟ้าแทนจากเดิมที่ใช้รอกโซ่มือสาวนั้น พบว่า ส่วนของร่างกายที่พนักงานรู้สึกถึงอาการปวดเมื่อยทั้งด้านซ้าย และด้านขวา ได้แก่ บริเวณไหล่, บริเวณแขนส่วนบน และบริเวณแขนส่วนล่าง มีระดับลดลง ตามลำดับ ซึ่งผลจากการประเมิน REBA มีค่าลดลงที่คะแนน 4

                    จากแบบจำลองทางกายภาพ พบว่า การออกแรงกระทำต่อท่อสแตนเลสของพนักงาน ก่อนการปรับปรุงงานนั้น พนักงานต้องออกแรงกำลังเพื่อยกท่อด้วยแรงขนาด 1072.23 นิวตัน ซึ่งคิดเป็นน้ำหนัก 106.30 กิโลกรัม แต่หลังจากการปรับปรุงงานด้วยการใช้อุปกรณ์ล้อผ่อนแรงร่วมกับการทำงานของรอกไฟฟ้าช่วยในการติดตั้งท่อสแตนเลส พบว่า พนักงานออกแรงเพื่อผลักเลื่อนท่อด้วยแรงขนาดเพียง 10.72 นิวตัน  ซึ่งคิดเป็นน้ำหนัก 1.092 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งผลที่ได้รับ คือ พนักงานมีความพอใจต่อการใช้งานอุปกรณ์ล้อผ่อนแรง เพราะสามารถลดอาการปวดเมื่อยของพนักงาน อีกทั้งส่งผลให้การทำงานมีความสะดวก และความปลอดภัยต่อพนักงานผู้ปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น

          ดังนั้นเพื่อลดปัญหาหรืออาการบาดเจ็บเกี่ยวกับความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในผู้ปฏิบัติงาน หรือเกิดปัญหา Ergonomics อื่นๆ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ควรมีการนำการประเมินความเสี่ยงจากการทำงานโดยการใช้การประเมินด้านการยศาสตร์เพื่อการปรับปรุงงานไปปรับใช้ในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน และด้วยแนวทางขั้นตอนการดำเนินงานที่กล่าวมา ผู้เขียนเชื่อว่าสถานประกอบ/องค์กรของท่านจะสามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้การปรับปรุงงานเกิดประโยชน์สูงสุดได้แน่นอน

 

 

Visitors: 365,661