สวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ / เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่เมื่อ: 26/09/2563 ....
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

สวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ตอนที่ 1)

          การพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของภาคอุตสาหกรรมในระดับสวนอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรม(eco industrial park/estate)ที่พัฒนาจากระดับโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประกอบการเดียวกัน (zone/estate) เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเชิงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมและระบบนิเวศท้องถิ่นที่มีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศโดยสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อยู่ภายใต้การดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบการพัฒนาสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นกลุ่มสวนอุตสาหกรรมและโรงงานที่รวมตัวกันนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ส่วนโรงงานที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในตอนนี้ จะขอกล่าวถึงการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายใต้การดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

          กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้ความหมายของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (EcoIndustry) หมายถึงกลุ่มของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตและ/หรือการบริการ ที่มีศักยภาพในการแข่งขันและใส่ใจในการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องการยกระดับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการบริการโดยอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกันในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสียที่เกิดขึ้นและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ 3R และสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการลดมลพิษให้เป็นศูนย์(Zero Emission)อันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมของการรีไซเคิลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เริ่มโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในบางพื้นที่ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2554 ในเขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี และในปี พ.ศ. 2555 ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่อุตสาหกรรมอีก5แห่งได้แก่พื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชาสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ กบินทร์บุรี สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียลปาร์ค ชุมชนอุตสาหกรรมไอพีพีและเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จากนั้น ได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2557 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และระยอง และพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี และในปีงบประมาณ 2558 ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มอีก 10 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี ราชบุรี สุราษฎร์ธานีและสงขลา และได้จัดทำตัวชี้วัด (KPI) การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อวัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในจังหวัดต่างๆ ดังกล่าว มีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนแม่บทที่ได้ศึกษาจัดทำไว้ และเป็นไปตามข้อสั่งการของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรรมแห่งชาติที่มอบหมายให้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามแผนแม่บท และในปีงบประมาณ 2559 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้นำกิจกรรมในมิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ 15 จังหวัด มาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการและกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการต่อไป ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีการเลือกพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ในจังหวัด นอกจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตามแผนแม่บท เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม และปทุมธานี ศึกษาปรับปรุงตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เหมาะสมแก่การตรวจประเมินยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town Center) พร้อมทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก และตราดจนกระทั่งปี พ.ศ. 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการจัดทำเกณฑ์การประเมินการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยกำหนดเกณฑ์ประเมินตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 41 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 5 มิติ 20 ด้าน ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการโดยระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ (รายละเอียดดังภาพ) ประกอบด้วย

  1. Engagement (การมีส่วนร่วม) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางแผนปฏิบัติ ตรวจสอบ และปรับปรุง การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
  2. Enhancement (การส่งเสริม) การผลักดันและส่งเสริมให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของพื้นที่เป้าหมายเป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งดำเนินการโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ
  3. Resource efficiency (ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร) การใช้ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง ซึ่งเป็นการช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง แต่ได้ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่มากขึ้น หรือเป็นการส่งมอบคุณค่าที่มากขึ้นในขณะที่ใช้ปัจจัยป้อนเข้าที่น้อยลง
  4. Symbiosis (การพึ่งพาอาศัย) การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันระหว่าง หน่วยงาน/องค์กร/คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยปฏิสัมพันธ์นั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่ทุกฝ่าย
  1. Happiness (เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม) สภาวะทางจิตใจหรืออารมณ์ที่แสดงถึงการมีชีวิตที่ดี ซึ่งกำหนดโดยการมีอารมณ์ในเชิงบวก เช่น มีความยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เป็นต้น

ที่มา: กระทรวงอุตสาหกรรม

          สำหรับในตอนหน้า จะกล่าวถึงกรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต่อไป

 

 

 

Visitors: 361,597