อันตรายในงานขุดหลุมลึก และมาตรการป้องกันอันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

เผยแพร่เมื่อ: 02/10/2563....,
เขียนโดย คุณชลาธิป อินทรมารุต
ผู้จัดการฝ่ายอาชีวอนามัย ความมั่นคง ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

บริษัทเอกชน ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง และปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน

 

อันตรายในงานขุดหลุมลึก

และมาตรการป้องกันอันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

 

 

 

          ในตอนที่แล้ว เราพูดถึงเรื่องของงานยก ซึ่งเรามักพบเจอได้บ่อยในงานก่อสร้างทั่วไป และแน่นอนถ้าจะกล่าวว่างานยกคือนางเอกสำหรับงานก่อสร้างแล้ว  พระเอกก็คงหนีไม่พ้นงานขุด เพราะไม่ว่างานก่อสร้างโครงการเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตาม เราก็มักจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานขุดหลุมด้วยเสมอ และในงานขุดก็มีภัยอันตรายซ่อนเร้นอยู่ไม่น้อยเลย  ดังนั้นเรามาติดตามดูกันครับว่าในงานขุดจะมีอันตรายอะไร และเราจะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้อย่างไรบ้าง

          อันตรายที่อาจเกิดขึ้นในงานขุดหลุมลึก และมาตรการป้องกันอันตราย มีดังนี้
                    
1. ผนังดินในบ่อที่ขุดพังทลาย และทับคนงานที่อยู่ในบ่อ
                        
มาตราการป้องกันอันตราย ทำได้โดย: มีการประเมินและดำเนินการป้องกันดินสไลด์หรือทรุดตัวพังทลายเช่น การเจาะสำรวจดินเพื่อนำผลไปคำนวนในการตั้งตั้ง Sheet plie ให้สามารถรับแรงดันของดินได้อย่างเหมาะสม  หรือการคำนวนมุมที่จะขุดแบบลาดเอียง (Cut Slope) เพื่อป้องกันดินพังทลาย แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมบริเวณรอบๆงานขุดว่ามีพื้นที่มากพอสำหรับการขุดแบบลาดเอียง (Cut slope) หรือไม่  นอกจากนี้การพังทลายของดินอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นๆได้อีก อย่างเช่น ปริมาณน้ำฝน น้ำใต้ดิน  แรงสั่นสะเทือนจากเครื่องจักร หรือรถยนต์ที่วิ่งใกล้ๆ  และน้ำหนักของเครื่องจักร หรือกองวัสดุที่อยู่ใกล้กับบริเวณหลุมที่ขุด

                    2. เครื่องจักร หรือวัตถุที่อยู่ขอบหลุม ล่วงหล่นมาทับคนที่ปฏิบัติงานอยู่ในหลุม
                        
มาตราการป้องกันอันตราย ทำได้โดย: บริเวณที่ขุดจะต้องล้อมรั่วที่แข็งแรงห่างจากขอบหลุมอย่างน้อย 1.50 เมตร หรือห่างจากขอบหลุมเท่ากับความลึกของหลุมที่ขุดและควรติดตั้งป้ายเตือนเพื่อเน้นย้ำให้เพิ่มความระมัดระวัง และไม่เผลอลืมวางอุปกรณ์ใกล้กับขอบหลุม

                    3. ขุดโดนท่อน้ำ ท่อไฟ ท่อน้ำมัน หรือสายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน
                        
มาตราการป้องกันอันตราย ทำได้โดย: มีการตรวจสอบแผนผังที่อยู่ใต้ดินก่อนเริ่มงานขุดว่าไม่มีท่อน้ำมันท่อน้ำท่อไฟฟ้าหรือสายสัญญาณอยู่ใต้พื้นที่ที่จะทำการขุดแต่ถ้าหากมีให้หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักร ในบริเวณนั้นโดยอาจใช้แรงงานคนในการขุดบริเวณชั้นบน ใกล้กับท่อน้ำหรือสายสัญญาณแต่ถ้าหากเป็นท่อน้ำมันหรือท่อไฟฟ้าต้องทำการไล่น้ำมันในท่อให้กลับลงถังด้วยก๊าซไนโตรเจนหรือตัดกระแสไฟฟ้าในกรณีที่เป็นท่อไฟฟ้า

                    4. น้ำใต้ดินปริมาณมาก
                        
มาตรการเพิ่มความปลอดภัย ทำได้โดย: จัดเตรียมปั้มสำหรับดูดน้ำให้พร้อม โดยประเมินปริมาณของน้ำใต้ดิน กับความสามารถของปั้มให้สอดคล้องกัน ถ้าปริมาณน้ำใต้ดินมากก็ต้องจัดเตรียมปั้มน้ำขนาดใหญ่ หรือจำนวนมากให้เหมาะสม

                    5. การลง และขึ้นจากหลุมลึก ทำได้ยาก
                        
มาตรการเพิ่มความปลอดภัย ทำได้โดย: ควรจัดทำบันไดขึ้น-ลง 2 ฝั่งตรงข้ามกัน ไม่ควรใช้บันไดลิง หรือบันไดชนิดที่เป้นลูกบันไดกลมๆ ไม่มีราวจับ  ควรเป็นขั้นบันได มีราวจับ หรือราวกันตก จัดวางให้มุมลาดเอียงไม่ชันจนเกินไป ก็จะยิ่งเพิ่มความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น

                    6. ขาดอ๊อกซิเจน (อากาศ) สำหรับหายใจ หรือมีก๊าซอันจรายที่อาจทำให้ระเบิด เป็นลมหมดสติ หรือ เสียชีวิต
                        
มาตราการป้องกันอันตราย ทำได้โดย: ทำการวัดก๊าซก่อนอนุญาติให้คนลงไปปฏิบัติงานในหลุมในบ่อ ทั้งก๊าซอ๊อกซิเจนสำหรับหายใจ หรือก๊าซอันตรายอื่นๆ ที่มีน้ำหนักมากกว่าอากาศและอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานหมดสติและเสียชีวิตอยู่ในหลุมได้ ทั้งน้สำหรับคนที่จลงไปปฏิบัติงานก็ต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และมีแผนฉุกเฉินสำหรับช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน

                    7. อันตรายจากเครื่องจักรที่ใช้ในงานขุด
                        
มาตราการป้องกันอันตราย ทำได้โดย: ในการขุดหลุมลึก หรือพื้นที่กว้างมากๆ นิยมใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงานคน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แต่ก็อย่าลืมว่า เครื่องจักรที่ใช้ถ้าขาดมาตรการตรวจสอบ และการจัดการที่ดี ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้เช่นกัน ซึ่งนอกจากการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรก่อนนำมาใช้งานแล้ว ยังจะต้องจัดให้มีคนควบคุมการจราจร (Traffic man หรือ Flag man) ถือธง เป่านกหวีด เพื่อควบคุมและให้สัญญาณในขณะที่เครื่องจักรต้องเคลื่อนที่ย้ายตำแหน่ง อีกทั้งยังต้องสังเกตุว่ามีคน เดินเข้ามาใกล้กับเครื่องจักรหรือไม่ เนื่องจากเครื่องจักรไม่มีดวงตาที่ด้านหลัง และมีจุดบอดอีกหลายมุมที่ผู้ควบคุมเครื่องจักรไม่สามารถมองเห็นได้

          ทั้ง 7 ข้อนี้ก็เป็นการประเมินความเสี่ยง และแนวทางในการควบคุมอันตรายในงานขุด สำหรับท่านที่จะนำแนวทางทั้ง 7 ข้อนี้ไปใช้ ผมขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ความเสี่ยงในงานขุดอาจมีมากกว่า 7 ข้อ ดังนั้นท่านต้องประเมินความเสี่ยงจริง ที่หน้างานจริงของท่านอีกครั้ง จากดวงตาของท่านว่ายังมีความเสี่ยงใดๆ เพิ่มเติมนอกจากนี้อีกหรือไม่ เพื่อนำมาหามาตรการป้องกัน ไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน หรือผลกระทบอื่นๆ ต่อพื้นที่รอบๆ ต่อบุคคล หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในบริเวณนั้นครับ

 

 

Visitors: 367,065