What is Health Promotion?

เผยแพร่เมื่อ 3/10/2563 
อาจารย์ดร.พว.วุชธิตา คงดี
ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

 

What is Health Promotion?

          สถานการณ์ผลกระทบของการทำงานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนทำงานในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เรื่องสุขภาพในสถานที่ทำงานเป็นจุดสนใจขององค์กรระหว่างประเทศรวมถึง UN, องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), WHO, สุขภาพแห่งชาติ และองค์กรแรงงานตลอดจนนายจ้าง จนเกิดสนธิสัญญาและกฎบัตรต่าง ๆ เกิดขึ้น จุดสนใจนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนรับรู้ถึงผลกระทบดังกล่าวและสนใจที่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพคนทำงาน

          หลายคนคงเคยได้ยิน คำว่า “ส่งเสริมสุขภาพ” และอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ง่ายๆ ไม่สำคัญ อาจคิดว่าการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นแค่วิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมสุขภาพนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คนและยากสำหรับหลายๆ องค์กร เนื่องจากพนักงานบางคนมีความรู้เรื่องสุขภาพ แต่กลับไม่ปฏิบัติพฤติกรรมที่ถูกต้อง บางคนมีความรู้ และมีความตะหนัก แต่ก็ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บางคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ไม่มี วินัยและไม่มีความต่อเนื่องในการสร้างเสริมสุขภาพมากเท่าที่ควร  จึงนำมาซึ่งการไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่แท้จริง ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

          What is Health Promotion?
          
“การส่งเสริมสุขภาพ” เป็นกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ที่ต้องการปรับปรุงสภาพร่างกายและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม (The World Health Organization's:WHO, 1990)

          What is Healthpromotion in the Workplace?
          
Health Promotion Workplace (HPW) เนื่องจากสุขภาพของคนทำงานไม่เพียงจะได้รับผลกระทบจากอันตรายจากการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางสังคมและปัจจัยส่วนบุคคลด้วย ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานจึงต้องมากกว่าการป้องกันอันตรายจากการทำงานและต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงที่ทำงานให้มีสุขภาพดีทั้งองค์กร
          
การส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงาน” จึงเป็นการผสมผสานระหว่าง ความคิดริเริ่มด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านนโยบายองค์กร ด้านจิตวิญญาณ ด้านสังคมของพนักงานในองค์กร ที่ทุกคนในองค์กรร่วมกันออกแบบมา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเชิงบวก เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพไปในทางที่ดี เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม และสภาพสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงานที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานในองค์กร โดยมุ่งเน้นไปสู่การป้องกัน การกำจัดสาเหตุ หรือปัจจัยอันก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของพนักงาน 
          
โดยกลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงาน ที่กำหนดไว้ในกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter, 1986)จะมุ่งเน้นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้คนทำงานสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของตนและต่อองค์กร ในขณะที่วิธีการแบบดั้งเดิมและแบบเก่าของอาชีวอนามัยจะให้ความสำคัญกับความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายจากการทำงาน แต่แนวทางการส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงาน (HPW)นี้จะยอมรับปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้นและครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงทุกด้านของคนทำงานในสถานที่ทำงาน

Adopted from WHO Healthy Workplace framework and model [(Burton, 2010), P.14].

           วิวัฒนาการของการส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงาน
                      - 
หลังจากการก่อตั้ง WHO และ ILOในปี 2493 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกในความร่วมมือของทั้งสององค์กรในการออกแบบกฎระเบียบด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
                      - 
ในปี 2524 มี "การประชุมด้านอาชีวอนามัย" และให้สัตยาบันในปี 2528 (Burton, 2008) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกพัฒนาแนวปฏิบัติระดับชาติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยซึ่งส่วนใหญ่นำไปสู่นโยบายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานที่ทำงานเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงานและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์และการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยการลดอันตรายในสถานที่ทำงานและรวมถึงสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการทำงานและการยศาสตร์
                      - 
ต่อมาได้มีการจัดตั้งเครือข่ายอาชีวอนามัยซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ความร่วมมือกว่า 60 แห่งทั่วโลก จนถึงขณะนี้มีแนวทางมากมายเกี่ยวกับอาชีวอนามัย ด้านอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (HSE) และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHSAS )ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในองค์กรและอุตสาหกรรมต่างๆ
                      - 
ในปี 2539 ยุโรปเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่องการส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานโดยจัดตั้ง European Network of Workplace Health Promotion (ENWHP) ขึ้นทำให้เกิด WHP จึงมีความเป็นองค์รวมและบูรณาการมากขึ้น โดยดูทั้งปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคลและปัญหาด้านองค์กร และสิ่งแวดล้อมที่กว้างขึ้น โครงการ WHPได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและวัฒนธรรมองค์กรที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ
                      - 
ปี 2540 กฎบัตรกรุงเทพ ได้นำการสร้างเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงาน : WHP มาใช้ โดยมุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ครอบครัวและองค์กร
                      - 
ปี 2553 WHO ได้เปิดตัว Global Framework for Healthy Workplaces ซึ่งเป็นคู่มือและกรอบปฏิบัติ และเผยแพร่แนวทางปฏิบัติและเครื่องมือดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกเพื่อนำไปปฏิบัติ

           ข้อแตกต่างระหว่าง Health promotion& Occupational Health & Health promotion in the Workplace
                      - 
Health Promotion เป็นกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ที่ต้องการ (ประชาชนทั่วไป) เพื่อปรับปรุงสภาพร่างกายและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มคนทำงาน
                      - 
Occupational Health เป็นกระบวนการส่งเสริมสุขภาพสำหรับกลุ่มคนทำงาน นโยบายจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานที่ทำงาน เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์และการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
                      - 
Health promotion in the Workplaceเป็นกระบวนการส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงานซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการป้องกันผลกระทบและอันตรายจากการทำงานเท่านั้น แต่มองในภาพองค์รวมทั้งหมดของคนทำงานที่มีผลต่อสุขภาพทั้งด้านกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ รวมถึงปัจจัยทางสังคม และปัจจัยส่วนบุคคลของคนทำงานเองด้วย
           
ดังนั้นHealth promotion in the Workplace จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเท่านั้น การจะทำให้โครงการส่งเสริมสุขภาพในองค์กรประสบผลสำเร็จ จึงจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การส่งเสริมสุขภาพพนักงานได้อย่างครบองค์รวม ถึงเวลาที่เราต้องหันมาจับมือและร่วมมือกันอย่างจริงจังในการดูแลสุขภาพพนักงาน จากประสบการณ์การเข้าไปให้คำปรึกษาทำโครงการสุขภาพต่างๆ ในหลาย ๆ โรงงาน อาจารย์พบว่า SHE ไม่ได้ทำงานประสานกันอย่างแท้จริง เช่น ข้อมูลด้านผลกระทบและอันตรายจากการทำงานอยู่ที่เจ้าที่ความปลอดภัย ข้อมูลการเจ็บป่วยและผลการตรวจสุขภาพของพนักงานอยู่ที่ห้องพยาบาล ข้อมูลผลกระทบและอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานอยู่ที่แผนกสิ่งแวดล้อม ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมของพนักงานอยู่ที่แผนกสวัสดิการ/HR เมื่อต่างฝ่ายต่างทำงานและต่างแก้ปัญหาในเรื่องที่ตนดูแล ไม่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันในภาพรวมขององค์กร ก็ยากที่จะทำให้การส่งเสริมสุขภาพพนักงานในองค์กรสำเร็จตามคาดหวัง    

           ซีรีส์  Health promotion in the Workplace นี้จึงเกิดขึ้น โดยอาจารย์หวังว่าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยมีมุมมอง และมีกรอบการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานแบบองค์รวมที่ชัดเจนขึ้น ทำให้โครงการส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานมีขั้นตอน มีกรอบการทำงาน มีเครื่องมือ และเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจะได้สามารถนำไปใช้ในสถานที่ทำงาน และเกิดประโยชน์ในอนาคตต่อไป แล้วพบกันในEP. ต่อไปเกี่ยวกับกลยุทธ์และขั้นตอนในการส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงาน (Health promotion in the Workplace: HPW)

 

ที่มา

Masoud Motalebi G., & others, 2017. How far are we from full implementation of health promoting

workplace concepts. National Library of Medicine. Health Promotion Int. 2018 Jun 1;33(3):488-504.

Ottawa Charter for Health Promotion, 1986

The World Health Organization: WHO, 1990

 

 

Visitors: 365,684