เสียง…ที่ไม่ได้ยิน จะทำอย่างไรกันดีนะ?

เผยแพร่เมื่อ: 05/10/2563....,
เขียนโดย คุณณัฐนิชา ทองอ่วม
หัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย สายโรงงานอุตสาหกรรม

 

“เสียง…ที่ไม่ได้ยิน จะทำอย่างไรกันดีนะ?”

         “อาจารย์มาพอดีเลยครับผมอยากปรึกษาแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงก่อนดี  ตอนนี้ผมเริ่มมีปัญหากับเมีย เนื่องจากเมียเรียกแล้วผมไม่ค่อยได้ยินจนถึงขั้นทะเลาะกัน ไม่รู้ว่าหูผมมีปัญหาหรือเปล่า แต่ผลตรวจประจำปีทุกปีผลก็ปกตินะครับ”

          แล้วในพื้นที่การทำงานเสียงดังเท่าไรทราบไหมคะ?”

          “ไม่รู้เลยครับ เค้ามาตรวจแต่ก็ไม่เห็น จป. แจ้งว่าอะไร  เลยคิดว่าน่าจะปกตินะครับ”

 ผู้เขียนนึกในใจ ถ้าอย่างนั้นเราคงต้องใช้วิชานักสืบ ค้นหาข้อมูลเพิ่มซะแล้วล่ะนะ

          “ผลตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงปีนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ?” 

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่ง หลังจากผ่านพ้นการตรวจสุขภาพประจำปีของบริษัทนี้ไป1 เดือน  จึงถามน้อง จป.วิชาชีพ เพื่อดูว่าพบปัญหาอะไรหรือไม่

          “อ๋อ…ผลปกติดีทุกคนเลยค่ะพี่” นั่นคือคำตอบที่ผู้เขียนได้รับ

          “งั้นพี่ขอดูผลตรวจสุขภาพที่เป็นเล่มรวมของทั้งบริษัทหน่อยนะคะ”

          หลังจากที่ได้ดูผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน  ผู้เขียนก็ตื่นตะลึงกับข้อมูลที่ตาเห็นว่า “ปกติ”  ที่น้อง จป.วิชาชีพ กล่าวมา มันหมายความว่าอย่างไร (ดังภาพด้านล่าง)

 

          ผู้อ่านทุกท่านเห็นความ “ปกติ” หรือ “ผิดปกติ”  ในรายงานฉบับนี้หรือไม่คะ???

 

          เป็นที่ทราบกันดีว่า การเฝ้าระวังการได้ยิน (Hearing Monitoring) เป็นเรื่องหลักที่ต้องทำในมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการที่กำหนดให้มีการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน แก่ลูกจ้างที่สัมผัสเสียงดังที่ได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8  ชั่วโมงตั้งแต่  85 dB(A) ขึ้นไป และให้ทดสอบสมรรถภาพการได้ยินของลูกจ้างครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละ1 ครั้ง  โดยใช้ผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินครั้งแรกของลูกจ้างที่ความถี่ 500 1000 2000 3000 4000 และ 6000 เฮิรตซ์ ของหูทั้งสองข้างเป็นข้อมูลพื้นฐาน (Baseline Audiogram) และนำผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินครั้งต่อไปเปรียบเทียบกับผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินที่เป็นข้อมูลพื้นฐานทุกครั้ง ซึ่งถ้าผลการตรวจไม่น่าเชื่อถือซะแล้ว ท่านจะนำมาเป็นตัวเปรียบเทียบหรือชี้วัดสมรรถภาพการได้ยินที่แท้จริงของลูกจ้างได้อย่างไร?  นับว่าเป็นปัญหาที่น่าปวดใจ และน่าปวดหัวเสียจริงๆ

          ทำให้ย้อนนึกถึงสมัยที่ผู้เขียนเริ่มทำงานในโรงงานใหม่ๆก็ได้ไปตรวจสมรรถภาพการได้ยิน ณ คลินิกแห่งหนึ่งอยู่หน้านิคมอุตสาหกรรมชื่อดังที่โรงงานได้ทำคู่สัญญาไว้โดยเทคนิคการตรวจสมรรถภาพการได้ยินของพนักงานประจำคลินิก คือ ใช้ส้อมเสียงเคาะจนดังกังวาน และถามเราว่าได้ยินไหม   จากนั้นได้ลงข้อมูลในใบรับรองแพทย์ที่คล้ายๆกับรูปด้านบน คือ ได้ยินเสียงที่ 25dB(A) ทุกความถี่!!!

          เรามาทบทวนการนำข้อมูลพื้นฐาน (Baseline Audiogram) (หมายเลข 1) มาเปรียบเทียบกับผลการตรวจปัจจุบันสักนิดนะคะ  ถ้าระดับการได้ยินที่ความถี่ 500 1000 2000 3000 4000 หรือ 6000 เฮิรตซ์ มีค่าเพิ่มขึ้นจาก Baseline audiogram ตั้งแต่15 dB HL ขึ้นไป ที่ความถี่ใดความถี่หนึ่ง ในหูข้างใดข้างหนึ่ง เรียกว่า “เกิดภาวะ15-dB shift”  ให้ส่งตรวจยืนยัน ภายใน 30 วัน นับจากวันได้รับผล ทั้งนี้ การตรวจซ้ำ ภายในวันเดียวกันจะไม่ถือว่าเป็น “การตรวจยืนยัน (Confirmation audiogram)”จากภาพด้านบนพบว่ามีภาวะ 15-dB shift (หมายเลข 2) และมีภาวะ 15-dB shift TWICE คือการตรวจซ้ำรอบ 2 และพบว่าผิดปกติจริง (หมายเลข 3)  ดังนั้น จึงถือว่า “มี Significant threshold shift” ซึ่งนับว่าเป็นโรคจากการทำงาน

          ย้อนกลับไปที่ผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินที่น้องจป.วิชาชีพ ให้ดู ตรวจพบว่าสถานพยาบาลที่มาให้บริการตรวจวัด ไม่มีการจัดตั้งกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งไม่สามารถระบุได้ว่าเครื่องมือ และบุคลากรที่มาตรวจวัดให้นั้นมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น เป็นไปตามที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค แนะนำไว้หรือไม่, เทคนิคการตรวจใช้ British Society of Audiology (BSA) ฉบับปีค.ศ. 2012 หรือเทคนิคขององค์กร American Speech-Language Hearing Association (ASHA) ฉบับปีค.ศ. 2005 เนื่องจากฝ่ายบุคคลฯเป็นผู้คัดเลือกให้เข้ามาตรวจสุขภาพ เป็นต้น

          จึงย้อนถามกลับน้องไปเล่นๆว่า  ถ้านายรู้ว่าที่จ่ายเงินไปหลักแสนแต่ได้บริการที่ไม่มีมาตรฐานวิชาชีพ ไม่มีคุณภาพ รวมถึงใช้อ้างอิงทางกฎหมายไม่ได้ จะทำอย่างไรกันดีหนอ?

          หรือท่านจะปล่อยให้เรื่องนี้เงียบๆไป ส่วนพนักงานก็รับความผิดพลาดที่(ท่านหรือฝ่ายบุคคลฯ)เป็นผู้ก่อขึ้นโดยแลกกับโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง (Noise-induced hearing loss) ไปแบบไม่รู้ตัวเพราะเข้าใจว่าตนเองหูปกติมาโดยตลอด

          …เป็นเรื่องที่ตอบคำถามได้ยากจริงๆนะคะ…

 

 

 

Visitors: 365,717