มารู้จักและทำความเข้าใจ การเฝ้าระวังสุขภาพ และการเฝ้าระวังทางการแพทย์

เผยแพร่เมื่อ 24/10/2563
เขียนโดย รศ. พญ. เนสินี ไชยเอีย
หัวหน้าสาขาวิชาอาชีวเวชศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หัวหน้าสำนักงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คปอ. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์
ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขอาชีวเวชศาสตร์และอาชีวอนามัย

*************************************************************************

1st Series มารู้จักและทำความเข้าใจ การเฝ้าระวังสุขภาพ และการเฝ้าระวังทางการแพทย์

2nd Series OEL  นำมาใช้กำหนดการเฝ้าระวังทางการแพทย์

3rd Series ตัวอย่างที่นำ OELนำมาใช้กำหนดการเฝ้าระวังทางการแพทย์

4nd Series Non OEL  นำมาใช้กำหนดการเฝ้าระวังทางการแพทย์

5nd Series medical surveillance in basic occupational health service

 

เรื่อง มารู้จักและทำความเข้าใจ

การเฝ้าระวังสุขภาพ และการเฝ้าระวังทางการแพทย์

 

การเฝ้าระวังทางการแพทย์ หรือ medical surveillance เหมือนหรือต่างจากการเฝ้ารtวังสุขภาพ (health surveillance) และมีความสัมพันธ์กับการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงตาม.กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. ๒๕๖๓ หรือไม่ อย่างไร

 

          ก่อนที่เราจะแลกเปลี่ยนเรื่อง medical surveillance สำหรับพนักงานที่สัมผัสสิ่งคุกคามต่อสุขภาพนั้น อาจารย์ขอทำความเข้าใจความหมายของคำว่า การเฝ้าระวังสุขภาพ การเฝ้าระวังทางการแพทย์ และการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง อย่างไรก็ตาม จป.วิชาชีพอาจจะได้คุ้นเคยกับคำว่าการคัดกรองโรค หรือการคัดกรองทางการแพทย์มาบ้าง ซึ่งการคัดกรองทางการแพทย์ (medical screening) จะเป็นส่วนหนึ่งของการเฝ้าระวังทางการแพทย์

          สำหรับความหมายของคำต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นกิจกรรมทางด้านการแพทย์ที่นายจ้างต้องจัดให้แก่พนักงานซึ่งโดยสากลจะเป็นกิจกรรมภายใต้การบริการอาชีวอนามัยขั้นพื้นฐาน (basic occupational health service) สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้ ratify ILO Convention C161 (occupational health service)1 มาเป็นแนวปฏิบัติในด้านสุขภาพของพนักงาน อย่างไรก็ตามสถานประกอบกิจการทีมีสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ จึงจำเป็นต้องพิจารณาการเฝ้าระวังทางการแพทย์

          การเฝ้าระวังหรือ surveillance ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส หมายถึง การสังเกตอย่างใกล้ชิดในกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังถูกสนใจหรือการแสดงออกถึงการสังเกต ทั้งนี้การเฝ้าระวังเป็นกิจกรรมหลักของการบริการอาชีวอนามัย ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังสิ่งคุกคาม (hazard surveillance) และการเฝ้าระวังสุขภาพ (health surveillance)2

 

           การเฝ้าระวังสุขภาพ (health surveillance) เป็นการเฝ้าระวังที่เน้นไปที่สุขภาวะของกลุ่มประชากรที่อาจมีการสัมผัสสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ เช่น สารเคมีอย่างต่อเนื่อง หรือการสัมผัสเชื้อโรคแบบอบัติเหตุ ทั้งนี้มีความหมายมากกว่าการเฝ้าระวังโรค3,4

          การเฝ้าระวังทางการแพทย์ (medical surveillance) หมายถึง การประเมินสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังผลลัพธ์ทางร่างกายและจิตใจที่ใช้หลักเวชกรรมในการค้นหาหรือเฝ้าระวัง ในกรณีที่พนักงานมีการสัมผัสสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ การประเมินทางการแพทย์จะดำเนินการเป็นรายบุคคล เพื่อทราบผลลัพธ์ด้านสุขภาพ5-7 อาทิ การตรวจหา Acetylcholinesterase (AChE) activity ในเม็ดเลือดแดงเพื่อเฝ้าระวังการสัมผัส organophosphate ของพนักงานที่ทำหน้าที่พ่นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีส่วนผสมของสารนี้ 

           ดังนั้นการเฝ้าระวังทางการแพทย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเฝ้าระวังสุขภาพและเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. ๒๕๖๓8

          ถีงแม้กฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้ระบุหรือใช้คำว่าการเฝ้าระวังทางการแพทย์แบบสากล แต่นัยของกฎกระทรวงมีการระบุให้นายจ้างจัดให้พนักงานได้รับการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงหรือตามสิ่งคุกคามที่พนักงานได้รับสัมผัสแบบ significant exposure(จะกล่าวถึงวิธีการประเมินใน 2nd Series ต่อไป) ซึ่งในความเห็นส่วนตัวการตรวจสุขภาพตามจุดประสงค์นี้ จึงเป็นการตรวจสุขภาพเพื่อการเฝ้าระวังทางการแพทย์ โดยอาจจะเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเป็นระยะ (periodic medical examination) อาทิ การสัมผัสสารเคมีประเภท solvents หรือโลหะหนัก นอกจากนั้นการตรวจสุขภาพภายหลังจากการสัมผัสสิ่งคุกคามอาจต้องทำภายหลังจากการสัมผัสสารทันทีและมีการเฝ้าระวังทางการแพทย์เป็นระยะหลังจากนั้น เช่น ในกรณีที่เป็น accidental exposure ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกรณีการสัมผัสสารจุลชีวัน นอกจากนั้นการเฝ้าระวังทางการแพทย์ส่วนใหญ่พนักงานจำเป็นต้องมีผลการตรวจสุขภาพที่เกี่ยวข้องเป็นพื้นฐานไว้ อาทิ การตรวจ baseline audiometry หรือการตรวจค่า baseline acetylcholinesterase activity ในเม็ดเลือดแดง  ทั้งนี้เมื่อมีการตรวจเป็นระยะต่อมา ซึ่งอาจจะเป็นทุก 4-6 สัปดาห์ซึ่งได้แก่การตรวจ acetylcholinesterase activity เพื่อประเมินการลดลงจากค่าที่ตรวจแบบ baseline หรือการจัดให้มีการตรวจ audiometry ทุก 1 ปี เพื่อค้นหา standard threshold shift (OSHA) หรือ significant threshold shift (ไทย)

          การออกแบบการเฝ้าระวังทางการแพทย์ หรือ medical surveillance นั้น การระบุว่าพนักงานคนไหนหรือแผนกไหนได้รับสัมผัสสารเคมีหรือสิ่งคุกคามอย่างชัดเจนเพื่อเข้ารับการเฝ้าระวังทางการแพทย์นั้นจำเป็นต้องมีการประเมินการรับสัมผัสเชิงอาชีพหรือโดยทราบกันในชื่อ occupational exposure assessment สำหรับการประเมินการรับสัมผัสสารนั้น โดยหลักการ ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ได้แก่ นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (industrial hygienist) และแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นผู้ระบุว่าพนักงานคนไหนที่ถือว่าได้รับสัมผัสสิ่งคุกคามต่อสุขภาพที่จำเป็นต้องเข้าโปรแกรมการเฝ้าระวังทางการแพทย์ สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยการจัดให้พนักงานได้รับการตรวจสุขภาพแบบนี้ยังเป็นในรูปแบบที่อาจยังไม่มีการประเมินการรับสัมผัสก่อน เนื่องจากอาจมีข้อจำกัดของผลการประเมินการรับสัมผัสของพนักงาน อย่างไรก็ตามหลังจากการตรวจสุขภาพแบบ medical surveillance แล้วแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะให้ความเห็นโดยหลักการอาชีวอนามัย อาทิ medical removal (พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ ออกจากงานนั้นๆ ชั่วคราว หรือการจัดหา PPE หรือการควบคุมอันตรายโดยใช้หลัก hierarchy of hazard control ที่เหมาะสม

          สำหรับการจัดโปรแกรมการเฝ้าระวังทางการแพทย์ที่มีการพิจารณาค่า occupational exposure limit จะมีนำเสนอใน EP. ต่อๆ ไป

 

 

เอกสารอ้างอิง 

  1. International Labour Organization. Convention C161 - Occupational Health Services Convention, 1985 (No. 161) [Online]. 2014 [cited 2020 Apr 1]. Available from: https://bit.ly/2BWmSvV
  2. Koh D, Aw T-C. Surveillance in occupational health. Occup Environ Med. 2003;60:705-10, 633.
  3. Health and Safety Executive. What is health surveillance? [Online]. [n.d.] [cited 2020 Apr 1]. Available from: https://bit.ly/2NykTzI
  4. Carter T, Major HG, Evans SA, Colvin AP. Health and transport safety: fitness to drive. In: Palmer KT, Brown I, Hobson J, editors. Fitness for work: the medical aspects. 5th ed. Oxford: Oxford University Press; 2013. p. 564-71.
  5.  Green-Mckenzie J, Mccarthy RB. Occupational safety and health regulation. In: Guidotti TL, Guidotti TL, editors. Occupational health services: a practical approach. 2nd ed. Abingdon: Routledge; 2013. p. 47-57.
  6.  Craner J. Medical surveillance. In: LaDou J, Harrison RJ, editors. Current occupational and environmental medicine. 5th ed. New York: McGraw-Hill Medical; 2014. p. 693-710.
  7.  Occupational Health and Safety Administration. Medical screening and surveillance requirement inOSHA Standard: a guide. Washington D.C.: OSHA; 2014.
  8. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. ๒๕๖๓.  ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137, ตอนที่ 80 ก. (5 ตุลาคม 2563): หน้า 30-33.

 

 

 

 

Visitors: 361,717