จป. จะให้คำแนะนำนายจ้าง เพื่อหาแนวทางลดการรับสัมผัสสารเคมีอย่างไรดี

ผยแพร่เมื่อ: 30/10/2563
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก 
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เรื่อง จป. จะให้คำแนะนำนายจ้าง

เพื่อหาแนวทางลดการรับสัมผัสสารเคมีอย่างไรดี

          กรณีศึกษา
          ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งมีผู้ประกอบอาชีพมีหน้าที่ผสมสารโทลูอีนไดไอโซไซยาเนต (Toluene diisocyanate, TDI) ร่วมกับสารชนิดอื่นๆ ในถังเปิดรายหนึ่ง เขาปฏิบัติงานในโรงงานแห่งนี้มานาน 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นมีอาการผิดปกติ คือ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มาทราบภายหลังว่า เนื่องจากทางเดินหายใจถูกกด สาเหตุจากการรับสัมผัสสาร TDI เคยมีข้อมูลระบุว่าอย่างน้อยร้อยละ 10 ของบุคคลที่หายใจเอาสาร TDI นี้เข้าไปจะพัฒนาทำให้เกิดโรคหอบหืดได้ เจ้าหน้าที่ในการทำงานควรหาทางเลือกในการลดการรับสัมผัสสารพิษดังกล่าวให้เหมาะสม

 

          โรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆมีการนำเอาสารเคมีมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย รวมถึง การนำสารโทลูอีนไดไอโซไซยาเนต (Toluene diisocyanate, TDI) ที่นำมาใช้ในการผลิต

          โฟมพอลิยูรีเทนชนิดยืดหยุ่น หรืออื่น ๆได้ จากกรณีศึกษา ระบุว่าผู้ประกอบอาชีพทำหน้าที่ผสมสาร TDI ร่วมกับสารชนิดอื่น ๆ ในถังเปิดมาช่วงเวลาหนึ่ง แล้วมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เป็นโรคหอบหืด ตามมา จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางระบาดวิทยา ทราบว่าการรับสัมผัสสาร TDI ที่ความเข้มข้นต่ำ สามารถกระตุ้นทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้  ดังนั้นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ และเป็นที่พึ่งในการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ กรณีนี้ จป. อาจมีข้อสงสัยว่า “ควรจะให้คำแนะนำนายจ้าง เพื่อหาแนวทางลดการรับสัมผัสสารเคมีอย่างไรดี?”

          แนวทางลดการรับสัมผัสสาร TDI นั้น ผู้เขียนมองว่ากิจกรรมเหล่านี้ จป ได้ปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว เพราะเป็นบทบาทหนึ่งที่ จป. วชาชีพต้องทำ นั่นคือ ต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี TDI ที่ใช้ ปริมาณสารเคมีที่ใช้ ปริมาณของเสีย ความรุนแรงของสารเคมีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ จป.ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายภายในเดือน มกราคมของทุกปี นอกจากนั้นควรจัดทำฉลากและป้ายของสารเคมีไว้ที่ภาชนะบรรจุ ดูแลเรื่องการคุ้มครองอันตรายจากสารเคมี เช่น การดูแลพื้นที่ปฏิบัติงานต้องเรียบร้อย ชำระล้างสารเคมี มีห้องอาบน้ำ จัดทำข้อมูลเคมีภัณฑ์ (Safety Data Sheet)  กรณีที่ไม่มีข้อมูลเคมีภัณฑ์ของสารเคมีบางชนิด เช่น สารผสม  สารตัวกลาง  ไอน้ำ ก๊าซจากกระบวนการผลิต  ฟูม ของเสีย อาจทำให้ จป. ไม่มีข้อมูลความปลอดภัยจากสารเคมี เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันอันตรายจากสารเคมีได้ อาจทำให้ผู้ประกอบอาชีพมีโอกาสรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายและเกิดพิษต่อสุขภาพได้

          สิ่งที่สำคัญ คือ ควรมีทางเลือกในการลดการรับสัมผัสสารเคมีที่เหมาะสมกับสถานประกอบการ โดยทางเลือกที่ จป.ควรจะแนะนำนายจ้าง เพื่อลดการรับสัมผัสสารเคมี มีหลายมาตรการที่ทุกท่านคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เช่น
                    1) ปิดกระบวนการผลิต เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ อาจตั้งเป้าหมายไว้ว่า “การรับสัมผัสเป็นศูนย์”
                    2) ลงทุนการควบคุมสารเคมี โดยใช้หลักการทางด้านวิศวกรรมให้มีประสิทธิภาพ เช่น มีระบบการระบายอากาศที่เหมาะสม จะเกิดผลดีต่อสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ และ การลดค่าใช้จ่ายของนายจ้างตามมา  เช่น  รับสัมผัสสารเคมีน้อยลง  ลดการตรวจวัดทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสีย
                    3) ใช้สารเคมีที่มีพิษน้อยกว่าทดแทน เคยมีการศึกษาการใช้สาร ทดแทน TDI โดยการเติมสารไดฟีนิลมีเทน ไดไอโซไซยาเนต (Diphenylmethane diisocyanate, MDI) เพื่อเป็นส่วนประกอบอของการผลิตโฟม
                    4) ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ เพื่อป้องกันผู้ประกอบอาชีพไม่ให้รับสัมผัสสารเคมีโดยตรง
                    5) ประเมินความเข้มข้นสาร TDI อย่างสม่ำเสมอตามกฎหมายกำหนด
                    6)จัดหาและแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจที่เหมาะสมกับงาน คือ หน้ากากป้องกันแบบเต็มใบหน้า (Air-purifying, full-facepiece respirator) ให้ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานกับสาร TDI สวมใส่อย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ใช้หรือไม่สวมใส่อุปกรณ์นั้น ควรสั่งลูกจ้างหยุดการทำงานทันที จนกว่าลูกจ้างจะได้ใช้หรือสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าวและ
                    7) การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพ ในเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ในการทำงาน อันตรายและการป้องกันอันตรายจากสาร TDI  เช่น  การชำระล้างสารเคมีอันตรายออกจากร่างกายทันที หากมีการรับสัมผัสสารเคมี  เพื่อป้องกันการเป็นโรคผิวหนังที่รุนแรง อธิบายประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลและ ควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบอาชีพนำไปปฏิบัติจริงได้ 

          กล่าวโดยสรุป จป. สามารถให้คำแนะนำนายจ้างในการลดการรับสัมผัสสารเคมี ประกอบด้วย ควรทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสารเคมี เช่น ข้อมูลเคมีภัณฑ์ แนะนำทางเลือกในการลดการลดการรับสัมผัสสาร TDI คือ การปิดกระบวนการผลิต การควบคุมทางวิศวกรรม เช่น จัดหาให้มีระบบการระบายอากาศในกระบวนการผลิต ใช้สารเคมีที่มีพิษน้อยกว่าทดแทน การใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ การประเมินความเข้มข้นสาร TDI ตามกฎหมายกำหนด และการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพ ในเรื่องกฎระเบียบในการทำงาน และอันตรายและการป้องกันอันตรายจากสาร TDI หากมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว จะช่วยลดการรับสัมผัสสารเคมีของผู้ประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

 

Visitors: 367,548