สถานการณ์ “โรคปัจจุบัน” ของกลุ่มคนวัยทำงานใน “โลกปัจจุบัน”

เผยแพร่เมื่อ 3/11/2563 
อาจารย์ดร.พว.วุชธิตา คงดี
ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
 

สถานการณ์ “โรคปัจจุบัน” ของกลุ่มคนวัยทำงานใน “โลกปัจจุบัน”


          กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในช่วงวัย 15-60 ปี จากผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า โครงสร้างของประชากรไทยมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ประชากรวัยทำงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข, 2562) กลุ่มคนวัยทำงานนับได้ว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ คือเป็นกำลังสำคัญในการหารายได้ เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว และเป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีในวัยทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ

          สุขภาพเป็นพื้นฐานที่สำคัญในคุณภาพชีวิตของพนักงาน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีใน“โลกปัจจุบัน” ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจสูง เราจะเห็นว่าในหนึ่งวันคนทำงานส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับงานมากกว่า8-12 ชั่วโมง บางคนใช้เวลาบนถนนในการเดินทางไป-กลับจากการทำงานวันละ 3-4 ชั่วโมงต้องให้ชีวิตบนความเร่งรีบ และใช้ชีวิตในสถานที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน มีความเหนื่อยล้าจากภาระงานจนทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพโดยรวมของตนเอง เช่นเรื่องการพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีแนวโน้มการสูบบุหรี่และดื่มสุราเพิ่มขึ้น มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง ไม่รับประทานอาหารเช้า ไม่พิถีพิถันในการเลือกทานอาหาร มีความเครียดสูง ขาดทักษะในการจัดการความเครียด ซึ่งความเครียดและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมนี้จะเป็นตัวการสำคัญของการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มาตาม

          รายงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม จากคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC)กระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 พบว่าแนวโน้มโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มวัยทำงานมีอัตราการป่วยลดลงอย่างต่อเนื่องและบางโรคมีอัตราการป่วยเป็น 0 ติดต่อกันมาหลายปี นั่นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพของประเทศไทย

          แต่กลับพบอัตราการป่วยอุบัติใหม่ด้วยโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องข้อมูลจากผลการสำรวจ BRFSS พบว่า กลุ่มวัยทำงานอายุ 18-59 ปี มีดัชนีมวลกาย(BMI) มากกว่าเกณฑ์ปกติเพิ่มขึ้นทุกปีและพบว่าสถานการณ์ภาวะอ้วนลงพุงของประชากรกลุ่มวัยทำงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทุกจังหวัด โดยข้อมูลจากระบบรายงาน HDCพบว่าความชุกของภาวะอ้วนในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังพบอุบัติการณ์โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง และมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทางตา ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคเครียดจากการทำงาน ซึ่งโรคดังกล่าวมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้แนวโน้มการเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการทำงาน และส่งผลกระทบต่อองค์กร

ตาราง อัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน ปี พ.ศ. 2563

ที่มา ระบบรายงาน HDC กระทรวงสาธารณสุข ,2563 

          องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ให้นิยามโรคจากการประกอบอาชีพและโรคเนื่องจากงานตามสาเหตุปัจจัยไว้ดังนี้
                    1. 
โรคจากการประกอบอาชีพ (Occupational Diseases) หมายถึง โรคหรือการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน โดยมีสาเหตุจากการสัมผัสสิ่งคุกคามสุขภาพในที่ทำงาน ซึ่งอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในขณะทำงานหรือหลังจากการทำงานเป็นเวลานาน โรคจากการประกอบอาชีพบางโรคอาจเกิดภายหลังหยุดการทำงานหรือลาออกจากงานนั้นๆแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของสิ่งคุกตามสุขภาพ รวมทั้งโอกาสหรือ วิธีการที่ได้รับ ตัวอย่างของโรคที่สำคัญ เช่น โรคพิษตะกั่ว โรคซิลิโคสิส(โรคปอดจากฝุ่นหิน) โรคพิษสารตัวทำละลายต่างๆ (Organic solvent toxicity) เป็นต้นซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ในเชิงสาเหตุและผลกระทบ
                    2. 
โรคเนื่องจากงาน (Work-related Diseases) หมายถึง โรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน โดยมีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน และการทำงานในอาชีพเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรค ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวานจะมีอาการโรคเส้นเอ็นอักเสบได้ง่าย ดังนั้นลักษณะการทำงานในอาชีพ หากมีการ ออกแรงซ้ำๆ หรือมีท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ก็จะแสดงอาการขึ้น เป็นต้น หรือถ้ามีสาเหตุจากปัจจัยส่วนตัวร่วมกับสภาพและสิ่งแวดล้อมการประกอบอาชีพทำให้อาการของโรคมากขึ้น เกิดความผิดปกติชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ถือเป็นกลุ่มโรคเนื่องจากการประกอบอาชีพ เช่น โรคปวดหลัง ซึ่งคนที่มีอริยาบถไม่ถูกต้องมีแนวโน้มปวดหลังได้ง่าย เมื่อต้องมาประกอบอาชีพรีบเร่งหรือยกย้ายของหนัก ๆ ก็ยิ่งทำให้ปวดหลังง่ายขึ้นหรือทำให้อาการปวดหลังกำเริบมากขึ้น เป็นต้น
                    3. 
โรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อม (Environmental Diseases) หมายถึงผลกระทบที่เกิดจากมลพิษปนเปื้อน ในดิน น้ำ อากาศ ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดโรคหรือผลกระทบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

          จากรายงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กำลังสะท้อนให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จในการจัดการปัจจัยการก่อให้เกิดโรคด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (Environment) และการกำจัดสิ่งที่ก่อเกิดโรค (Agent) จากการทำงานของหน่วยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของหลายองค์กรในการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ, โรคเนื่องจากงานและโรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อม  แต่สิ่งที่ควรระวังและต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน คือโรคอันเนื่องจากตัวพนักงานเอง (Host) หรือปัจจัยด้านผู้ประกอบอาชีพ (workers)เช่น โรคจากพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม ซึ่งกำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเกิดปัญหาสุขภาพในกลุ่มวัยทำงานของ“โลกปัจจุบัน”

          จากสถิติอัตราค่ารักษาพยาบาลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  และสถิติการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานในหลายๆ องค์กร พบว่ากำลังสูญเสียงบประมาณด้านค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากไปกับค่ารักษาจากการเจ็บป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของพนักงานทำให้เกิดภาระและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมหาศาลเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมัน โรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองใหญ่(อัมพฤกษ์อัมพาต) นอกจากนั้นกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังรายงานว่ากลุ่มวัยทำงานอายุ 15- 59 ปี ตายจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อในสัดส่วนที่สูงสุดของกลุ่มอายุอื่น ในประชากรไทย

          ผลกระทบจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมของวัยทำงานนี้ กำลังเป็นปัญหาสำคัญของการก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคฮิตในยุคปัจจุบัน ที่ไม่ควรละเลย เพราะกลุ่มวัยทำงานเป็นวัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจถึงเวลาที่ จป. เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด“โรคปัจจุบัน” ใน “โลกปัจจุบัน” ของกลุ่มวัยทำงานอีกปัจจัยหนึ่ง นั่นคือ พฤติกรรมสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพ (workers/Host)เพราะสุขภาพที่ดีของคนกลุ่มนี้เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อพนักงานมีสุขภาพที่ดี จะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลดีต่อสถานประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศตามมาด้วย

 

Visitors: 365,789