มาตรการจัดการเมื่ออนุภาคนาโนเกิดการรั่วไหล (Measures of nanoparticles release)

เผยแพร่เมื่อ: 09/12/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกียรติศักดิ์ บัตรสูงเนิน 
สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

เรื่อง มาตรการจัดการเมื่ออนุภาคนาโนเกิดการรั่วไหล

(Measures of nanoparticles release)

 

          มาตรการในการจัดการเมื่ออนุภาคนาโนเกิดการรั่วไหล ให้ดำเนินการตามคำแนะนำตามเอกสารความปลอดภัย (Safety data sheet: SDS) ของอนุภาคนาโนนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด ถ้าในกรณีที่ไม่มีข้อมูลความปลอดภัยให้ดำเนินการ เช่นเดียวกับการจัดการสารเคมีอันตราย (NIOSH, 2015)

          การรั่วไหลเล็กน้อย (Small Spill)
          
ผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดการในกรณีที่มีการหกรั่วไหลของอนุภาคนาโนต้องมั่นใจว่า ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสมกับอนุภาคนาโนชนิดนั้น ๆ เช่น หน้ากากกรองอากาศ ถุงมือ ชุดป้องกันอนุภาคนาโน ที่ครอบตา รองเท้า เป็นต้น (โดยรายละเอียดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลจะพูดถึงในหัวข้อที่ 9) พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำตามเอกสารความปลอดภัย (SDS) ของอนุภาคนาโนนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด หลังจากนั้นก็เริ่มดำเนินจัดการ ลดการฟุ้งกระจายโดยใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีถุงกรองอากาศชนิด HEPA Filter ในการจัดการ หรือใช้ผ้าชุบน้ำซับอนุภาคนาโนนั้น ถ้ามีผงของอนุภาคนาโนจำนวนมากให้ใช้อุปกรณ์ตักอนุภาคนาโน เทลงในภาชนะที่เตรียมไว้เฉพาะที่สามารถปิดฝาได้สนิท หลังจากนั้นต้องนำของเสียที่ปนเปื้อนอนุภาคนาโนส่งกำจัดด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการกำจัดสารเคมีอันตราย รวมถึงต้องมีการสอบสวนรายงานเหตุการณที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังต่อไป

          การรั่วไหลในปริมาณที่มาก (Large Spill)
          
โดยทั่วไปแล้วสถานประกอบการควรดำเนินการจัดทำแผนฉุกเฉินเมื่ออนุภาคนาโนเกิดการรั่วไหล พร้อมทั้งมีการดำเนินการซ้อมแผนการจัดการเป็นประจำ ในกรณีที่อนุภาคนาโนเกิดการรั่วไหลในปริมาณที่มาก ควรมีการดำเนินการขั้นต่ำ ดังต่อไปนี้
                    
1. ผู้เห็นเหตุการณ์แจ้งทีมจัดการเหตุฉุกเฉินอนุภาคนาโนรั่วไหลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
                    
2. ทีมจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมเข้ายังพื้นที่อนุภาคนาโนหกรั่วไหล ประเมินสถานการณ์ กั้นเขตหรือพื้นที่อันตราย ถ้ามีการรั่วไหลในปริมาณที่มาก ต้องมีการใช้แผนอพยพคนงานไปยังจุดรวมพลที่ปลอดภัย
                    
3. ลดการฟุ้งกระจายของอนุภาคนาโนโดยการฉีดน้ำ และใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เหมะสมตักอนุภาคนาโนใส่ในภาชนะที่ปิดสนิท (อนุภาคนาโนบางประเภทละลายน้ำและบางประเภทไม่ละลายน้ำ แต่อย่างไรก็ตามการใช้น้ำสามารถลดการฟุ้งกระจายของอนุภาคนาโนในบรรยากาศได้) ยกเว้นอนุภาคนาโนที่ทำปฏิกิริยากับน้ำแล้วทำให้เกิดอันตราย จะต้องหาวิธีลดการฟุ้งกระจายด้วยวิธีการอื่น เช่น ใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มี HEPA filter สำหรับกรองอนุภาคนาโน เป็นต้น
                    
4. น้ำที่เกิดจากการชะล้างอนุภาคนาโน ต้องระมัดระวังไม่ให้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องมีการจัดการหรือกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม
                    
5. ตรวจวัดระดับความเข้มข้นอนุภาคนาโนในบรรยากาศการทำงานให้อยู่ในระดับปกติ จึงสามารถให้คนงานเข้าปฏิบัติงานตามปกติได้

 

บรรณาณุกรม
NIOSH. (2015). NIOSH Pocket Guide to Chemical Hazards of Titanium dioxide. U.S. Department of Health and Human Services, Centers for Disease Control and Prevention, National Institute for Occupational Safety and Health. http://www.cdc.gov/niosh/npg/npgd0617.html

 

 

Visitors: 367,163