เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกำหนด 5 โรคจากการประกอบอาชีพ และ 2 โรคจากสิ่งแวดล้อม เเล้วไงต่อ

เผยแพร่เมื่อ: 31/12/2563....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคม ส.อ.ป.,

 

เมื่อกระทรวงสาธารณสุข

ประกาศกำหนด 5 โรคจากการประกอบอาชีพและ 2 โรคจากสิ่งแวดล้อม

แล้วเรา - จป.วิชาชีพและนักสิ่งแวดล้อม จะต้องทำอะไรต่อ

          ตามพรบ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 จะต้องมีกฎหมายลูกออกมาอีกหลายฉบับ (ณ ขณะนี้มีแล้ว 6 ฉบับ รวมทั้งสองฉบับล่าสุดที่เพิ่งประกาศเมื่อ 29 ธค.63 นี้เอง) สองฉบับล่าสุด มีอะไรบ้าง ก็ตามนี้ครับ คือ 
                    1) กำหนด 5 โรคจากการประกอบอาชีพ ได้แก่ โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว โรคจากฝุ่นซิลิก้า โรคจากภาวะอับอากาศ โรคจากแอสเบสตอส หรือโรคมะเร็งจากแอสเบสตอท และโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช
                    2) และกำหนด 2 โรคจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่โรคจากมลพิษตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว และโรคจากฝุ่น PM 2.5

          จป.วิชาชีพ และนักสิ่งแวดล้อมโรงงานต้องทำอะไรบ้าง
                    1. หากมีการใช้หรือสัมผัสสาร/ภาวะที่กำหนด ก็เข้าข่ายต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมตามที่กำหนดในพรบ.นี้
                    2. การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม ต้องทำตามวิธีที่รมต.สาธารณสุขกำหนด (ตอนนี้ยังไม่กำหนดเป็นกฎหมายลูก แปลว่าก็ยังไม่ต้องทำอะไร)
                    3. การเฝ้าระวัง ก็คือการตรวจสุขภาพ ต้องว่าจ้าง “หน่วยบริการ” ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข หากจ้างที่ไหนไม่รู้ โดนปรับไม่เกิน 50,000 บาท (แต่จะตรวจอะไร อย่างไร รอเขากำหนดมาเป็นกฎหมายลูกอีกที)
                    
***ที่จะต่างจากปกติของเราคือ หากโรงงานเราอยู่ใน list ว่าเป็น “แหล่งกำเนิดมลพิษ” ก็งานเข้าละครับ ต้องไปตรวจสุขภาพประชาชนโดยรอบด้วย (แต่รายละเอียดว่า How ก็รอกฎหมายลูกนะครับ) หากฝ่าฝืนข้อนี้ก็โดนปรับไม่เกิน 50,000 บาท
                    
4. เมื่อได้ข้อมูลการเฝ้าระวังมา ก็ไม่ใช่เก็บเข้าแฟ้ม เราต้องทำ Risk Communications โดยแจ้งข้อมูลให้กับลูกจ้างและประชาชน (กรณีเราเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ) (ก็รอกฎหมายลูกก่อนนะว่าให้แจ้งข้อมูลอะไรบ้าง ด้วยวิธีการใด หากไม่แจ้ง ก็โดนปรับไม่เกิน 20,000 บาท
                    
5. เรื่องเฝ้าระวังนี้ ก็มีเพิ่มเติมอีกว่า กรณีแรงงานนอกระบบ เขาก็ต้องได้รับสิทธิ์ในเรื่องการตรวจสุขภาพด้วยเช่นกัน รายละเอียดรอกฎหมายลูก
                    
6. หากผลการตรวจสุขภาพพบว่าประชาชนรอบแหล่งกำเนิดมลพิษมีปัญหา คือเป็นโรค ทางโรงงานก็ต้องแจ้งทางการด้วยวิธีการที่กำหนด (รอกฎหมายลูก) (กรณีนี้คือกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่กระทรวงแรงงานเท่านั้น) หากไม่บอก ก็โดนปรับไม่เกิน 20,000 บาท (อันนี้รวมถึงผู้ให้บริการด้วยนะที่ต้องแจ้งด้วย หากเก็บเงียบ ก็ 20,000 บาทครับ) (กฎหมายนี้ดี ล๊อคสองเด้งลอย)
                    
7. และหากหน่วยงานรัฐ และเอกชน อยากได้ข้อมูลตรวจสุขภาพ เพื่อประโยชน์ของการเฝ้าระวังฯ ก็ขอได้ด้วยนะ (รอกฎหมายลูกกำหนดวิธีการ) (อันนี้ก็ถือเป็นจุดเด่นของพรบ.นี้นะครับ ในสายตาของผม)
                    
8. พรบ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับ “หน่วยบริการ” มาก วัดจากหากหน่วยบริการทำงานไม่ได้มาตรฐานที่กำหนด (รอกฎหมายลูกออกรายละเอียดมาตรฐานที่ว่า) แต่ไปรับงาน ก็โดนปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากให้บริการไปแล้วต่อมาเพี้ยน ทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ก็โดนปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาถึงตอนนี้ จะพบว่า ***** 8 ข้อแรกนี้ว่าด้วยเรื่องการเฝ้าระวัง ก็รอกฎหมายลูกอย่างน้อย 8 ฉบับเข้าไปแล้ว นี้ยังมีบางเรื่องอีกนะครับ แต่ไม่ได้หยิบมาเล่า เป็นเรื่องของพวกตั้งกรรมการต่าง ๆ *****

 

          มาดูเรื่องการป้องกันและควบคุมบ้าง
                    
9. แต่ละจังหวัด จะต้องตั้ง “หน่วยปฏิบัติการ” ขึ้นมา เพื่อทำการสอบสวน (หากมีรายงานจากการเฝ้าระวังว่าเกิดโรคขึ้นมา) แล้วหาทางเรื่องเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมต่อไป ในพรบ.จะกำหนดโครงสร้างไว้ แต่จะตั้งกันอย่างไร จะสอบสวนกันอย่างไร ก็รอกฎหมายลูก (อีกแล้ว)​
                    
10. หรือแม้ทางการ “สงสัย” (แบบมีเหตุผลนะ) ก็สามารถ (คือมีอำนาจ) ให้ทางนายจ้างหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ (ตามแต่กรณี) ส่งลูกจ้างหรือประชาชนเข้ารับการตรวจวินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูได้ หากดื้อแพ่ง ทางการก็ดำเนินการแทน แล้วมาเก็บเงินภายหลัง รายละเอียดการใช้อำนาจนี้ ก็รอกฎหมายลูก
                    
11. มาถึงข้อ 12 รวมอย่างน้อยต้องรอกฎหมายลูก 11 ฉบับ แสดงว่าอีกนานพอควรที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ตามพรบ.ฉบับนี้

โดยสรุปขณะนี้คือ
                    1. ทางจป.วิชาชีพและนักสิ่งแวดล้อมโรงงาน รวมถึงบริษัทที่ปรึกษา ศูนย์บริการการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งหลาย ต้องรอติดตามข่าวสารการประกาศใช้กฎหมายลูก ๆ ระหว่างรอ อาจเตรียมตัวให้พร้อมในบางเรื่องก็ได้
                    2. กรมควบคุมโรค ต้องเร่งเรื่องการออกกฎหมายลูก ๆ ทั้งหลาย อาจต้องมองภาพรวมการต่อจิกซอร์ของกฎหมายลูก จะได้ทำงานหน้ากระดานออกมา
                    3. มีความจำเป็น และสำคัญ (หากต้องการมีการทำงาน “แบบลูกค้าต้องมาก่อน”) กรมควบคุมโรค และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ต้องประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีความซ้ำซ้อนกันมากของกฎหมายของสองหน่วยงานนี้ ไม่งั้นลูกค้า (คือโรงงาน) ปวดหัวในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างแน่นอน

หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

รศ.สราวุธ สุธรรมาสา
นายกสมาคม ส.อ.ป.

#Meet_OHSWA_President

 

Visitors: 361,564