10 ปี พรบ.ความปลอดภัยฯ เราได้อะไรบ้าง และควรจะได้อะไร

เผยแพร่เมื่อ: 13/01/2564....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคม ส.อ.ป.,

เรื่อง 10 ปี พรบ.ความปลอดภัยฯ เราได้อะไรบ้าง และควรจะได้อะไร

          หากนับประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ที่มีใช้งานเมื่อปี 2515 เป็นกฎหมายแม่ที่ใช้คุ้มครองแรงงาน ซึ่งรวมถึงด้านความปลอดภัยในการทำงานด้วย เราใช้เวลา 26 ปี จึงได้พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และ 39 ปี จึงได้พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554

          วันที่ 17 มกราคม 64 จึงเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้วที่เรามีกฎหมายแม่ด้านความปลอดภัยฯ ใช้งาน ผลผลิตที่เห็นชัดเจนก็คือการมี
                    
- สสปท. (ซึ่งคลอดช้ากว่าที่กำหนดประมาณ 2 ปี)
                    
- กองทุนความปลอดภัยฯ (ซึ่งไม่ทราบทำอะไรไปมากน้อยแค่ไหน) และ
                    
- กฎกระทรวงว่าด้วยอัคคีภัย สารเคมีอันตราย ไฟฟ้า ความร้อน/แสง/เสียง อับอากาศ ประดาน้ำ ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง หน่วยฝึกฯด้านอัคคีภัย และประกาศอื่น ๆ 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับพรบ.ความปลอดภัยฯ ฉบับนี้ และยังมีกฎกระทรวงอีกประมาณ 4 ฉบับที่น่าจะประกาศได้ในเร็ว ๆ นี้

          แล้วมีอะไรอีกบ้างที่เราควรจะได้ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการประกาศกำหนดซะที สรุปได้ดังนี้ (ขอเสนอเพียงสองประเด็นก่อน)
          
I. แน่นอนก็คือเรื่อง 3rd Party ซึ่งในพรบ.ความปลอดภัยฯ ได้ให้ความสำคัญกับการมี “บุคคลที่ 3” มาช่วยทางการ (กระทรวงแรงงาน) ในการบังคับใช้กฎหมาย
                    
1) ขณะนี้ เรายังไม่มีกฎหมายว่าด้วยบุคคลที่ 3 ตามมาตรา 9 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดประสงค์ “จะให้บริการในการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งจัดฝึกอบรมหรือให้คําปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน” สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อการนี้ได้
                    
2) ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ 3 ที่เป็นนิติบุคคลตามมาตรา 11 ที่จะมาทำงานตามข้างต้น (ข้อ 1))
                    
3) และอีกบุคคลที่ 3 ที่สำคัญมาก เพราะกฎหมายแม่ในมาตรา 33 กำหนดชัดเจนว่าเรื่องการประเมินอันตรายและการทำแผนควบคุม ทางสถานประกอบกิจการต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ “ผู้ชํานาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน” (รวมถึงต้องให้ผู้ชำนาญการคนนี้ ลงนามรับรองการดำเนินงานของทางสปก.อีกด้วยว่าเป็นไปตามที่แนะนำไว้)

*** การกำหนดมาตรฐานว่าด้วย 3 Party นี้ จะมีผลตามมาในเรื่องมาตรฐานการดำเนินงาน และการควบคุมคุณภาพเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องสำคัญและยกระดับการดำเนินงานด้าน HSE ของประเทศไทยทีเดียว *** ในความเห็นส่วนตัว นี้คือ Major Change สำคัญที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 28 ที่มีการกำหนดให้มีจป.ประจำสปก.

          II. การคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องจิตใจ กล่าวคือในมาตรา 6,14,16 และ 21 มีสาระสำคัญว่านายจ้างต้องจัดสภาพการทำงานและสภาพสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และรวมถึงในกรณีที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทํางาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทํางาน หรือเปลี่ยนแปลง เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทําให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย จะสังเกตเห็นว่ากฎหมายได้ใช้คำว่า “จิตใจ” ด้วย แต่กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจะคุ้มครองสุขภาพลูกจ้างเพียงด้าน “กาย” เท่านั้น

          เรื่องนี้น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่มาก เพราะลำพังการดูแล คุ้มครองให้กายของลูกจ้างปลอดภัยก็ศึกหนักอยู่แล้ว (ในแง่การบังคับใช้กฎหมาย) การจะมาดูเรื่องจิตใจด้วย ก็ดูจะทำได้ยาก ก็เข้าใจเจตนารมณ์ของผู้กำหนดกฎหมายว่าคงทำตามนิยามของคำว่าสุขภาพ ที่ครอบคลุมทั้งกาย ใจ และสังคม

          ในยุโรป จะมีการเล่นเรื่อง Stress Management กันพอควร อาจจะป็นแหล่งให้ศึกษาว่าของไทยเราจะทำอะไรได้บ้าง แต่ว่าไปแล้ว เรื่องการประเมินผลกระทบสุขภาพ หรือ HIA ในบ้านเราเอง กฎหมาย EHIA ก็กำหนดให้ประเมินผลกระทบทางจิตใจด้วยแล้ว แหล่งศึกษาเรื่องนี้ก็คือสผ.และ สช. ผมคิดว่าเอามาเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาได้ครับ


อ.สราวุธ สุธรรมาสา
นายกสมาคม ส.อ.ป.

#Meet_OHSWA_President

Visitors: 361,618