แนวทางด้านการแพทย์สำหรับคนทำงานในที่สูง

เผยแพร่เมื่อ: 12/01/2564....,
เขียนโดย อาจารย์แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา 
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่อง แนวทางด้านการแพทย์สำหรับคนทำงานในที่สูง 

          ประเทศไทยกับแนวทางด้านการแพทย์สำหรับคนทำงานในที่สูง... 

          หลายท่านคงคุ้นเคยกับกฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดมาตรการป้องกันโดยกำหนดระยะทำงานที่ปลอดภัย และ การป้องกันผู้ปฏิบัติงานตกกระแทกพื้นผิว สำหรับคนทํางานบนตอม่อ เสาไฟฟ้า ปล่อง หรือคานที่มีความสูง ตั้งแต่ ๔ เมตร ขึ้นไป เพื่อป้องกันอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุพลัดตกจากที่สูงขณะทำงาน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่เคยมีแนวทางด้านการแพทย์ที่เกี่ยวกับเรื่องการตรวจสุขภาพคนทํางานบนที่สูงมาก่อน 

          แนวทางตรวจทางการแพทย์สำหรับคนทำงานในที่สูงนั้น ควรตรวจเมื่อไร และตรวจบ่อยแค่ไหน?

          การตรวจทางการแพทย์สำหรับคนทำงานในที่สูง ดีที่สุดคือ ควรตรวจก่อนคนทำงานนั้นจะเริ่มปฏิบัติงานในที่สูง และประเมินซ้ำเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี

          โรคที่ไม่สามารถปฏิบัติงานในที่สูง ได้แก่ โรคลมชักหรืออาการชัก โรควูบหมดสติชั่วคราว ภาวะใจสั่นหวิว โรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือสูญเสียการทรงตัว ที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ 

          นอกจากนี้ โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติงานในที่สูง ได้แก่ โรคบ้านหมุน โรคกลัวความสูง แขนขาพิการ ภาวะใช้ยากดประสาท หรือ ภาวะดื่มสุราเรื้อรัง กลุ่มโรคเหล่านี้ควรส่งพบแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เพื่อประเมินความพร้อมก่อนปฏิบัติงาน 

          ในกรณีโรคหรือพยาธิสภาพนั้นกระทบต่อประสิทธิภาพทำงานระดับรุนแรง แนะนำให้ออกใบรับรองแพทย์งดปฏิบัติงานชั่วคราวจนกว่าอาการจะดีขึ้น ส่วนในกรณีโรคหรือพยาธิสภาพนั้นอาจเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติงาน แนะนำให้ออกใบรับรองแพทย์อนุญาตให้ทำงานเป็นระยะเวลาสั้นลงและนัดมาประเมินอาการซ้ำกับแพทย์เร็วขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ตัวคนงานเอง อันส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังนายจ้างและสถานประกอบการในที่สุด

 

Visitors: 367,234