การตัดแยกพลังงาน (LOTO) Lock-out Tag-out
เผยแพร่เมื่อ: 1/01/2564...,
เขียนโดย นายวิทยา ภูมิสามพราน
B.Eng. (Chemical Engineering) วศ.บ.(วิศวกรรมเคมี) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
B.Sc. (Occupational Health and Safety) วท.บ.(อาชีวอนามัยและความปลอดภัย) ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
M.Econ. (Master of Economics)ศ.ม.เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
เรื่อง การตัดแยกพลังงาน (LOTO)
Lock-out Tag-out
1. การตัดแยกพลังงาน (LOTO) คืออะไร
การตัดแยกพลังงาน คือการทำให้เกิด Isolation แยกเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ออกจากแหล่งจ่ายพลังงานและป้องกันการเชื่อมต่อพลังงานโดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งขณะมีการซ่อมบำรุง ซ่อมแซม หรือทำความสะอาดเครื่องจักร หรืออุปกรณ์นั้นๆ โดยใช้วิธีการ Lock-out Tag-out หรือเรียกสั้นๆว่า LOTO
2. ใครบ้างต้องเรียนรู้ อบรม และเข้าใจในขั้นตอนการตัดแยกพลังงาน (LOTO)
ขั้นตอนการตัดแยกพลังงาน เป็นจุดเล็กๆที่ช่วยป้องกันความปลอดภัยที่ส่วนใหญ่มักมองข้ามไป ทั้งอาจเกิดจากความเร่งรีบในการซ่อม ความคุ้นเคยจนเป็นความเผลอเรอในขั้นตอนการทำความสะอาด จึงมีข่าวออกมาบ่อยครั้งว่า มีพนักงานซ่อมบำรุง โดยเครื่องจักรหนีบ โดยความไม่ตั้งใจของพนักงานคนอื่นที่เผลอไปกดสวิทช์ หรือกดสวิทช์ผิดเครื่อง หรือพนักงานลงไปทำความสะอาด โดยเพื่อนเข้าใจว่าขึ้นมาจากบริเวณนั้นแล้ว ขั้นตอนการตัดแยกพลังงานอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ดังนั้น พนักงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร พนักงานที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ รวมถึง ช่างซ่อมบำรุงทุกคน จึงจำเป็นต้องมีการอบรม เรียนรู้ขั้นตอนการตัดแยกพลังงาน เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานได้ถูกต้อง และเข้าใจตรงกัน
3. ความปลอดภัยในการตัดแยกพลังงาน กฏหมายที่เกี่ยวข้องมีระบุไว้หรือไม่
เพราะว่านอกจากการเดินระบบผลิตปกติ ในโรงงานทุกประเภท หรือแม้แต่ในงานก่อสร้าง ต้องมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องมีการตัดแยกพลังงาน เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การซ่อมบำรุงตรวจเช็คสภาพ (Preventive Maintenance : PM) ตามรอบเวลาที่กำหนด การซ่อมแซมต่างๆ (Breakdown Maintenance :BM) เพื่อเปลี่ยนอะไหล่อุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย หรือแม้กระทั่งทำความสะอาด (Cleaning) ตามรอบการผลิต ฯลฯ
กิจกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องมีช่าง หรือพนักงานเข้าทำงานในส่วนที่อาจเกิดอันตรายได้ในด้านต่างๆเช่น อัตรายจากกระแสฟ้า เช่นการซ่อมแซมตู้ไฟฟ้าควบคุม อันตรายเชิงกลจากอุปกรณ์ เช่นจากการหมุนของเฟือง สายพาน มูเลย์ มอเตอร์ ใบพัด ใบกวนในถัง ใบตัด อันตรายจากความร้อน,ความเย็น,สารเคมี ที่จ่ายเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงก๊าซชนิดต่างๆที่เป็นพิษต่อร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน หรือส่งผลต่อปริมาณออกซิเจนบริเวณนั้นๆ
ตัวอย่างข้างต้นของกิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องมีการตัดแยกพลังงาน และทำให้เกิดความมั่นใจว่าการตัดแยกพลังงานทำได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่อาจต่อกับแหล่งจ่ายได้ทั้งเกิดจาก ระบบอัตโนมัติ ระบบป้องกันความปลอดภัยของอุปกรณ์ จากพนักงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งจากความพลั้งเผลอของพนักงานเอง ขั้นตอนการตัดแยกพลังงานมีไว้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในตัวของพนักงานผู้ปฏิบัติงานเอง และเป็นการปฏิบัติตามกฏหมาย ตัวอย่างเช่น ดังนี้
กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551
(ข้อ 23 ในระหว่างที่มีการทำงานติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า ให้นายจ้างจัดให้มีการใช้กุญแจป้องกันการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจร หรือจัดให้มีระบบระมัดระวังป้องกันมิให้ผู้ใดสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรตลอดเวลาที่ทำงานดังกล่าว และติดป้ายแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ห้ามสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรไว้ด้วย)
กฏกระทรวง กำหนดมาตราฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ.2552
(ข้อ 4 ในบริเวณที่มีการติดตั้ง การซ่อมแซม หรือการตรวจสอบเครื่องจักรหรือเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร นายจ้างต้องติดป้ายแสดงการดำเนินการดังกล่าว โดยใช้เครื่องหมายหรือข้อความที่เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งจัดให้มีระบบ วิธีการ หรืออุปกรณ์ป้องกันมิให้เครื่องจักรนั้นทำงาน และให้แขวนป้ายแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ห้ามเปิดสวิตช์ไว้ที่สวิตช์ของเครื่องจักรด้วย)
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562
(ข้อ 11 กรณีที่ที่อับอากาศที่ให้ลูกจ้างทำงานมีผนังต่อหรือมีโอกาสที่พลังงาน สาร หรือสิ่งที่เป็นอันตรายจะรั่วไหลเข้าสู่บริเวณที่อับอากาศที่ทำงานอยู่ ให้นายจ้างปิดกั้นหรือกระทำโดยวิธีการอื่นใดที่มีผลในการป้องกันมิให้พลังงาน สารหรือสิ่งที่เป็นอันตรายเข้าสู่บริเวณที่อับอากาศในระหว่างที่ลูกจ้างกำลังทำงาน)
จากกฏกระทรวงดังกล่าวมุ่งหวังให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ลดการสูญเสียจากการซ่อมบำรุง หรือจากการปฏิบัติงาน ดังนั้นการตัดแยกพลังงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ พนักงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นๆควรมีการอบรม ซักซ้อม ทำความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติ ตระหนักถึงความจำเป็นในการล๊อคอุปกรณ์ และเข้าใจถึงคอนเซฟหลักในการใช้อุปกรณ์ตัดแยกพลังงานเหล่านั้น จะได้เข้าใจตรงกันโดยง่าย และครอบคลุมทุกประเด็นที่อาจส่งผลให้อุปกรณ์ทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจได้
4. มาตรฐาน OSHA กับการตัดแยกพลังงาน
นอกจากกฏกระทรวงอย่างน้อยๆ 3 ฉบับข้างต้นแล้ว ยังมีมาตรฐาน OSHA ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ OSHA 1910.147 The Control of Hazardous Energy (Lockout/Tagout) ที่นิยมใช้เป็นข้อกำหนด ขั้นตอนระเบียบแบบแผนหลัก เพื่อให้เกิด Plant Isolation เป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นระหว่างการซ่อมบำรุง ซึ่งมีการลงรายละเอียดปลีกย่อย ในขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่การล๊อคแหล่งจ่ายพลังงาน( lock-out) การทำให้ระบบปลอดจากพลังงาน (Zero Energy) การแขวนป้าย (Tag-Out) การปลดจากการล๊อค เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝน มีการปฏิบัติ เข้าใจในหลักการ วิธีการ จุดที่จำเป็นต้องมีการล๊อค เพราะว่าระบบหรืออุปกรณ์ในแต่ละชนิด แต่ละแห่งย่อมไม่เหมือนกัน หลักสำคัญในการล๊อคคือ “ผู้อื่นต้องเข้าใจโดยง่ายด้วย” ทำให้เกิดความซับซ้อนน้อยที่สุดที่เป็นไปได้ เพื่อลดการเกิดข้อบกพร่องในการล๊อคที่ยากต่อการเข้าใจ ซึ่งรายละเอียดควรฝึกอบรม
5.ขั้นตอนการทำ Log-Out Tag-Out (LOTO) เบื้องต้น
ขั้นที่ 1 ระบุหาอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการซ่อมบำรุง หรือ การทำความสะอาด ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจในการทำงานของอุปกรณ์ เครื่องจักรนั้น ทั้งการเดินระบบปกติ ระบบป้องกันความปลอดภัยของตัวเครื่อง และพลังงานที่อาจสะสมตกค้างในตัวเครื่องจักร หรืออุปกรณ์นั้นๆ
ขั้นที่ 2 ปิดเครื่องจักร หรืออุปกรณ์นั้น ให้อยู่ในสภาพ shutdown ที่สมบูรณ์ ไม่มีพลังงานหรือสารเคมีใดๆตกค้าง เช่น เครื่องหยุดหมุนนิ่งสนิท ไม่มีแรงดัน ประจุไฟฟ้า หรือสารเคมีที่เป็นอันตราย
ขั้นที่ 3 ตัดแยกพลังงานภายนอกออกจากเครื่องจักรอย่างสมบูรณ์ เช่น ปิดวาล์วจ่ายสารหรือก๊าซชนิดต่างๆ และพลังงานให้สนิทโดยไม่มีการไหลเข้าเครื่องจักร หรือถอดจุดเชื่อมต่อท่อกับใช้หน้าแปลนปิด แทนที่ชั่วคราวก่อน สับเบรกเกอร์ไฟฟ้าลง
ชั้นที่ 4 ล๊อคและป้องกันการเชื่อมต่อพลังงานโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยใช้กุญแจ อุปกรณ์เสริมสำหรับล๊อคป้องกันทั้งระบบไฟฟ้า วาล์วจ่ายก๊าซหรือพลังงานที่เกี่ยวข้อง
ขั้นที่ 5 ตรวจเช็คอีกครั้งว่าไม่มีพลังงานสะสมอยู่จนก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ประจุไฟฟ้า แรงดัน ความร้อน สารเคมีอันตราย และไม่มีการเชื่อมต่อพลังงานอย่างไม่ได้ตั้งใจ ทั้งจากผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จากระบบเปิดอัตโนมัติของอุปกรณ์นั้นๆ หรือระบบเซฟตี้ของอุปกรณ์นั้น
ในการทำขั้นตอนทั้ง 5 ขั้นนั้น ควรทำร่วมกันระหว่างพนักงานปฏิบัติงาน ช่างซ่อมบำรุง และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย เพื่อระบุและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วนจนเกิดความปลอดภัยในการซ่อมบำรุง ซ่อมแซม หรือทำความสะอาด ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเป็นต้องเป็นผู้ได้รับการฝึกอบรมมาแล้วร่วมด้วย และจัดทำเป็นแนวทางปฏิบัติในการตัดแยกพลังงานสำหรับเครื่องจักรเครื่องนั้นโดยเฉพาะ