จป. ต้องเตรียมการอะไรบ้าง ในการเฝ้าระวังสุขภาพพนักงาน

ผยแพร่เมื่อ: 30/01/2564...,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย (ธีรวิโรจน์) เทศกะทึก 
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เรื่อง จป. ต้องเตรียมการอะไรบ้างในการเฝ้าระวังสุขภาพพนักงาน

          กรณีศึกษา ผู้ประกอบอาชีพโรงงานผลิตโฟมแห่งหนึ่ง มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ประจำโรงงาน สงสัยว่าเขาเจ็บป่วยจาก-2,4-ไดไอโซไซยาเนท(ทีดีไอ) (2, 4 Toluene diisocyanate, TDI) จากการทำงานหรือไม่  สถานการณ์แบบนี้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ควรมีการตรวจวัดหาปริมาณสารทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม  เพื่อประเมินว่าสัมพันธ์กับอาการผิดปกติหรือไม่  หากจำเป็นต้องควบคุมสารเคมีทางวิศวกรรม วิศวกรควรปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม เพื่อจะลดการรับสัมผัสสารเคมีต่อไป

          บทบาทหนึ่งที่สำคัญที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) จะต้องทำในสถานประกอบการ คือ การเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ โดย จป.ควรมีการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลและกระจายข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องข้อมูลต่าง ๆอย่างเป็นระบบ  อย่างไรก็ตามหาก จป.ขาดการวางแผนในการเฝ้าระวังสุขภาพที่ดี นายจ้างจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเกินความจำเป็น โดยการเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพไม่จำต้องทำเหมือนกันทุกคน  เนื่องจากแต่ละบุคคลรับสัมผัสปัจจัยเสี่ยงแตกต่างกัน

          การเฝ้าระวังสุขภาพ จป.จะต้องวางแผนต่าง ๆให้เหมาะสม ประกอบด้วยอะไรบ้าง เริ่มแรกควรตรวจสอบงานที่มีอันตรายจากสารเคมี  จป.สามารถจำแนกอันตรายสารเคมีตามความไวในการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี เช่น โลหะและโซเดียมทำปฏิกิริยากับน้ำเร็วมาก หรือ ตามการออกฤทธิ์ต่อร่างกาย เช่น สาร TDI เป็นสารทำให้เกิดโรคหอบหืด ฝุ่นซิลิกา สามารถทำลายปอดได้  เป็นต้น กรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมมีการนำเอาสารเคมีชนิดใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต จป.ควรดำเนินการตรวจสอบอันตรายจากสารเคมีอย่างละเอียด  เช่น ชนิดสารเคมีที่ผู้ประกอบอาชีพรับสัมผัส และควรบรรจุจำนวนกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดไว้ในโครงการเฝ้าระวังสุขภาพ การคัดกรองผู้ประกอบอาชีพ จป.ควรคัดกรองผู้ประกอบอาชีพตามความเสี่ยง เช่น ตามผลในการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ (Health risk assessment, HRA) หรือ  แผนกที่ปฏิบัติงาน หรือ ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน (Similar Exposure Group, SEG) หรือ จำแนกตามกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น  กลุ่มไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล  และกลุ่มไม่กลัวสารเคมี  (Non-chemo phobia) เป็นต้น

          การตรวจวัดทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม จป. มีหน้าที่ในการตรวจวัดสารเคมีในสภาพแวดล้อมในการทำงานตามปัจจัยเสี่ยง เพื่อประเมินระดับการรับสัมผัสสารเคมีแต่ละพื้นที่ที่ผู้ประกอบอาชีพปฏิบัติงาน แล้วเทียบกับค่าขีดจำกัดสารเคมีตาม “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่อง ขีดจํากัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย” โดยค่าขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายสูงสุดไม่ว่าเวลาใด ๆในระหว่างทํางานของสารโทลูอีน-2,4-ไดไอโซไซยาเนท(ทีดีไอ) เท่ากับ 0.02 ppm เป็นต้น การตรวจติดตามทางชีวภาพ เพื่อประเมินการรับสัมผัสสารเคมีจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เข้าสู่ร่างกาย แล้วเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของ ACGIH-BEI (Biological Exposure Indices, BEIs) สามารถวัดสารเคมีในรูปเดิม (Parent compounds) หรือ วัดสารที่ผ่านการย่อยสลายแล้ว (Metabolite) ในลมหายใจออก ปัสสาวะ เลือด หรือ อื่นๆที่เก็บจากร่างกายผู้ประกอบอาชีพ โดยการเก็บตัวอย่างสามารถเก็บตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เช่น เก็บตัวอย่างก่อนจ้างงาน ขณะปฏิบัติงาน ภายหลังการรับสัมผัสสารเคมี  เช่น กรณีสารเคมีรั่วไหล เป็นต้น อย่างไรก็ตามสาร TDI ไม่มีค่ามาตรฐานในการประเมินหาปริมาณสารชนิดนี้ในร่างกาย

          การให้การบันทึกประวัติการรับสัมผัสสารเคมี การบัทึกข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญในการเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพมาก เช่น กรณีมีการเกิดอุบัติภัยและมีการรั่วไหลของสารเคมี   จป.ควรบันทึกการรับสัมผัสสารเคมีในผู้ประกอบอาชีพทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าของสถานประกอบการ แพทย์ประจำโรงงาน สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพในอนาคตได้ การประเมินการตอบสนองของร่างกายจากการรับสัมผัสสารเคมี หรือ อาการผิดปติจากการรับสัมผัสสารเคมี เช่น ในกรณีที่เกิดอุบัติภัยจากสารเคมี อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินการทำหน้าที่ของอวัยวะหรือ การประเมินการตอบสนองของร่างกาย  เช่น อาการเจ็บป่วยต่างๆที่เกิดขึ้นภายหลังการรับสัมผัสสารเคมี  

          ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพ  จป. ควรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพตามปัจจัยเสี่ยงที่รับสัมผัส ควรตอบคำถามผู้ประกอบอาชีพที่สงสัย เช่น ชนิดสารเคมี อันตรายสารเคมี หลักในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น หน้ากากปิดจมูก เสื้อผ้า ถุงมือ กระบังหน้า ที่ครอบหูและอุดหู อุปกรณ์ที่ใช้ชำระล้างสารเคมี เช่น ฝักบัวล้างตา ล้างตา เป็นต้น ควรให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบความปลอดภัยในการทำงาน เช่น การจัดเก็บสารเคมี การดูแลรักษาที่ดี มีสลากติดชัดเจน การทำความสะอาดพื้นไม่ให้สารเคมีหกเปรอะเปื้อน และมาตรการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นตามกฎหมายกำหนด เพื่อรับผิดชอบในการตรวจสอบความปลอดภัยร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเกิดอุบัติภัยต่าง ๆ การให้ความรู้ทำได้หลายวิธี เช่น การติดบอร์ด เสียงตามสาย วิดิทัศน์ และการพูดให้ความรู้ก่อนเริ่มงานในช่วงเช้า (Morning talk) เป็นต้น

          การเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ จะบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้นั้น มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หัวหน้างาน ผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรมฝ่ายต่าง ๆ และ วิศวกร การทำงานร่วมกันเป็นทีม จะทำให้การเฝ้าระวังสุขภาพบรรลุเป้าหมายการเฝ้าระวังสุขภาพตามที่วางเอาไว้  เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพผู้ประกอบอาชีพที่ดีสืบต่อไป 

Visitors: 367,406