กรณีตัวอย่าง: เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

เผยแพร่เมื่อ: 20/02/2564....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารุญ เกตุสาคร
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่อง กรณีตัวอย่าง: เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคาร

โดยใช้หลักการระบายอากาศในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

          EP.7 เราพูดถึงเทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารเพื่อให้ผ่านหรือเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดโดยใช้หลักการระบายอากาศสำหรับ EP.8 นี้จะเป็นกรณีตัวอย่าง: เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยขอนำกรณีศึกษาของห้องกิจกรรมบำบัดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งในห้องกิจกรรมบำบัดต้องมีการดำเนินการหัตถการผู้มารับบริการและมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดละอองฝอย(Aerosol) ดังนั้น จึงต้องมีแนวทางปฏิบัติการปรับปรุงรูปแบบบริการฟื้นฟูในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ แนวทางปฏิบัติการปรับรูปแบบบริการฟื้นฟูเป็นอย่างนั้นฝากให้ทุกท่านติดตามอ่านใน EP.8นี้ ได้เลยครับ

  • Key steps เพื่อรองรับรูปแบบบริการการดูแลรักษาผู้ป่วยนอก (OPD) วิถีใหม่
              
    1) มีจุดคัดกรองผู้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ
              
    2) มีบริการคลินิกโรคทางเดินหายใจแยกจากคลินิกทั่วไป
              
    3) ตรวจสอบให้ผู้มาใช้บริการที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มารับบริการ
              
    4) มีระบบลงทะเบียน online หรือผ่าน kiosk และ มีระบบสำรองใช้แทนได้ทันทีที่ระบบ IT ขัดข้อง
              
    5) มีระบบตรวจสอบ/เปิดสิทธิ์ online หรือผ่าน kiosk และ มีระบบสำรองใช้แทนได้ทันทีที่ระบบ IT ขัดข้อง
              
    6) มีระบบนัดหมาย online หรือผ่าน kiosk และ มีระบบสำรองใช้แทนได้ทันทีที่ระบบ IT ขัดข้อง
              
    7) มีระบบเรียกคิว online หรือจัดคิวเหลื่อมเวลา เพื่อเข้าพบแพทย์ และมีระบบเตือนผู้ป่วยและเรียกคิวผู้ป่วย เมื่อระบบเรียกคิว online ขัดข้อง
              
    8) มีจุดล้างมือ หรือ Alcohol gel บริการให้เพียงพอ
              
    9) มีระบบ telemedicine
              
    10)  แยกห้องหัตถการความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิด Aerosol ออกจากห้องหัตถการทั่วไป โดยจัดให้มีระบบหมุนเวียนอากาศ6-12 ACH
              
    11)  มีระบบ fast tract ในการ refill ยา
              
    12)  มีระบบจัดส่งยาทางไปรษณีย์ หรือส่งยาโดย อสม. หรือรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือ drive thro (ในกรณีส่งยาทางไปรษณีย์ หรือโดย อสม. ต้องมีระบบตรวจสอบว่าผู้ป่วยได้รับยาถูกต้อง)
              
    13)  มีระบบจ่ายค่าบริการ และ ยา ด้วยการ scan QR code
  • Key steps เพื่อรองรับช่วงมีการระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจ
              
    1) ตรวจสอบให้ผู้มาใช้บริการทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่มารับบริการ
              
    2) จัดสถานที่ให้มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
              
    3) ให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัย (surgical mask) ตลอดเวลาที่ให้บริการ
              
    4) ปรับปรุงส่วนพื้นที่การทำงานของเจ้าหน้าที่แยกจากผู้ป่วยโดยใช้ฉากพลาสติก/อะคริลิกกั้น หรือถ้าทำไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่ใส่ face shield
              
    5) มีการเช็ดทำความสะอาดจุดเสี่ยงสัมผัสต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ราวจับ พนักเก้าอี้ ปุ่มลิฟต์ contour top อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
  • กรณีตัวอย่าง : เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19
    สถานที่ : ห้องฝึกกิจกรรมบำบัด

ตารางผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality; IAQ)

 

หมายเหตุ

          *คือ มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในแต่ละพารามิเตอร์ ประกอบด้วยดังต่อไปนี้
          
Air Change Rate (ACH) = มาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ: วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2559
          
Air Change Rate (ACH) = สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กรมการแพทย์: แนวทางปฏิบัติการปรับปรุงรูปแบบบริการ การบริการดูแลรักษาผู้ป่วย (OPD) ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 (จัดให้มีระบบหมุนเวียนอากาศ 6-12 ACH)

 

          สรุปผลการตรวจวัด
                    
ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคารของห้องฝึกกิจกรรมบำบัด พบว่า พารามิเตอร์ Air Change Rate Per Hour : ACH ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกำหนดในกรณีที่นำอากาศเข้ามาภายในห้องด้วยการเปิด Air Split Type เพียงอย่างเดียวต้องนำอากาศเข้ามาด้วยการเปิดจากช่องจ่ายอากาศรวม (Air Supply) ร่วมด้วยจึงจะทำให้อัตราการหมุนเวียนอากาศเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ห้องฝึกกิจกรรมบำบัดเป็นห้องหัตการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด Aerosol หรือการเกิดละอองฝอยการจัดช่องอากาศ (Air Supply) เข้ามาภายในห้องยังไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการเพิ่มการแพร่กระจายของ Aerosol หรือการเกิดละอองฝอยไปบริเวณห้องซึ่งผู้ให้บริการมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ปนมากับ Aerosol ของผู้รับบริการได้ดังนั้น ควรดำเนินการปรับปรุงสภาพห้องฝึกกิจกรรมบำบัดให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ให้บริการดังข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/บันทึกเพิ่มเติม

          ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/บันทึกเพิ่มเติม
                    
1) ควรติดตัวกรองอากาศเป็นชนิด HEPA filter (MERV17 ขึ้นไป: Minimum Efficiency Reporting Value)ก่อนนำอากาศเข้ามาภายในห้องฝึกกิจกรรมบำบัด และติดตั้ง HEPA filter ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอกห้องฝึกกิจกรรมบำบัด
                    
2) พิจารณายกเลิกการใช้ช่องจ่ายอากาศรวม (Air Supply) เนื่องด้วยการจัดช่องอากาศ (Air Supply) เข้ามาภายในห้องยังไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการเพิ่มการแพร่กระจายของ Aerosol หรือการเกิดละอองฝอยไปบริเวณห้องซึ่งผู้ให้บริการมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ปนมากับ Aerosol ของผู้รับบริการได้ให้ใช้การจ่ายอากาศจาก Air Split Type แต่ต้องปรับเพิ่มอัตราการไหลของอากาศที่ออกจาก Air Split Type เพิ่มเติมเพื่อให้มีอัตราการหมุนเวียนอากาศเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด (เพิ่มขนาด Air Split Type หรือปรับความแรงของพัดลมให้สามารถจ่ายอากาศเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 50-170 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาที: CFM หรือ 81-275.4 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง)
                    
3) พิจารณาการจัดทำห้องฝึกกิจกรรมบำบัดเป็นห้องความดันลบสัมพันธ์กับพื้นที่ข้างเคียง (Negative pressure) เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของ Aerosol หรือละอองฝอยไปยังพื้นที่ข้างเคียงโดยการนำอากาศออกจากภายในห้อง (Exhaust Fan) ให้มากกว่าการจ่ายอากาศเข้ามาภายในห้อง(Supply Fan)
                    
4) จากการตรวจประเมินคุณภาพอากาศ พบว่า ห้องฝึกกิจกรรมบำบัดไม่มีการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ (Exhaust fan)ดังนั้น ควรดำเนินการติดตั้ง Exhaust fan ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 1 ตัว (ดูดอากาศออก ติดตั้งไม่สูงมากเพราะต้องดูดอากาศที่ปนเปื้อนละอองฝอยออกจากพื้นที่) โดยปริมาณลมที่นำออกต้องมากกว่า 253 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์ 50 Hz. กำลังไฟฟ้า 31 วัตต์และติด HEPA filter ก่อนปล่อยอากาศออกจากห้องฝึกกิจกรรมบำบัด ทั้งนี้จุดที่ดำเนินการติดตั้งต้องพิจารณาทิศทางและการจัดวางให้เหมาะสมด้วย เช่น พัดลมระบายอากาศ (Exhaust fan) ควรติดตั้งตรงข้ามกับเครื่องปรับอากาศเพื่อให้ทิศทางการไหลของอากาศเป็นทิศทางเดียวกัน (One Directional Air Flow) แต่ต้องพิจารณาให้อากาศที่ไหลออกมานั้นถึงตัวผู้ปฏิบัติงานก่อนแล้วไหลออกไปยังด้านนอก ไม่ควรให้อากาศที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศผ่านผู้รับบริการก่อนถึงตัวผู้ให้บริการ (พิจารณาตามแผนผัง)
                    
5) ถ้าไม่สามารถปรับขนาด Air Split Type หรือเพิ่มความแรงของพัดลมได้ (เพิ่มอัตราการไหลของอากาศ) ให้พิจารณาเพิ่มอัตราการจ่ายอากาศให้มากขึ้นโดยการติดตั้งพัดลมระบายอากาศขนาด 6-8นิ้ว (ดูดอากาศเข้าเพิ่มเติมและต้องติดตั้งตัวกรองอากาศก่อนดูดอากาศเข้า: HEPA filter) จำนวน 1 ตัว ปริมาณลม81-275.4 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์ 50 Hz. กำลังไฟฟ้า 25 วัตต์ ซึ่งจะทำให้ห้องมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพราะอากาศที่ดูดเข้ามานั้นไม่ได้ผ่านการปรับภาวะอากาศ
                    
6) ควรพิจารณาจัดวางพื้นที่การปฏิบัติงานให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของAerosol หรือการเกิดละอองฝอย (พิจารณาตามแผนผัง)

 

แผนผัง

 

          สำหรับ EP. ต่อไปเราจะมาพูดถึงกรณีตัวอย่าง: เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19สำหรับหน่วยบริการอื่น ๆ กันต่อครับ สำหรับ EP.8 นี้คงพอจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านบ้างนะครับและฝากติดตาม EP. ต่อไปกันด้วยครับ….ขอบคุณครับ

 

 

Visitors: 370,779