จะเริ่มต้นในการประเมินความต้องการ ในการเฝ้าระวังทางการแพทย์อย่างไรดี

ผยแพร่เมื่อ: 28/02/2564...,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย (ธีรวิโรจน์) เทศกะทึก 
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เรื่อง จะเริ่มต้นในการประเมินความต้องการ 

ในการเฝ้าระวังทางการแพทย์อย่างไรดี 

          กรณีศึกษา
          โรงงานอุตสาหกรรมผลิตยางสังเคราะห์ยาง เพิ่งเปิดกระบวนการผลิตใหม่ มีการนำสารเคมีมาใช้ประโยชน์หลายชนิด เช่น Ethylene, propyrene, 1,3 butadiene, styrene, vinyl acetate, acrylonitrile และ isoprene  ในกระบวนการผลิต

          จากกรณีศึกษาของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยางสังเคราะห์ยาง เพิ่งเปิดกระบวนการผลิตใหม่ มีการนำสารเคมีมาใช้ประโยชน์หลายชนิดด้วยกัน หากท่านเป็น จป. ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมประเภทนี้ ท่านจะต้องเริ่มต้นในการเฝ้าระวังทางการแพทย์กับผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสสารเคมีอย่างไรดี แท้ที่จริงแล้วการเฝ้าระวังทางการแพทย์ เป็นบทบาทหนึ่งในการบริการทางอาชีวอนามัยที่มีความสำคัญต่อสถานประกอบการเป็นอย่าง อาจจะประกอบด้วย การเฝ้าระวังทางสุขภาพ (Health surveillance) และการเฝ้าระวังสิ่งคุกคาม (Hazard surveillance) หรือทั้งสองอย่าง กิจกรรมการเฝ้าระวังอาจจะเป็นแบบเชิงรับ (Passive) และเชิงรุก (Active) ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ควรมีการกำหนดเป้าหมายและขั้นตอนในการทำงานให้ดี

          หากจะพูดถึงขั้นตอนการดำเนินการเฝ้าระวังทางการแพทย์ มีทั้งหมด 8 ขั้นตอนด้วยกัน คือ 1) การประเมินความต้องการ 2) การเลือกเป้าหมายโครงการและประชากรเป้าหมาย 3) การเลือกรูปแบบการทดสอบ  4) การเก็บรวบรวมข้อมูล  5) การแปลผลข้อมูลรายบุคคล 6)  การแปลผลของข้อมูลตามกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ  7)  การสื่อสารข้อมูล  และ 8) การประเมินโครงการ ตามลำดับ  อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะขออธิบายถึงจุดเริ่มต้นในการเฝ้าระวังทางการแพทย์ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยางสังเคราะห์ยาง คือ การประเมินความต้องการ

          การประเมินความต้องการ (Need assessment) นับว่าเป็นขั้นตอนแรกของการเฝ้าระวังทางการแพทย์  ดังนั้น จป. ควรจะต้องประเมินความต้องการในการเฝ้าระวังทางการแพทย์ให้ได้ก่อน ที่จะประสานกับโรงพยาบาล เพื่อให้บริการทางคลินิกต่อผู้ประกอบอาชีพกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด คำถามที่จะพบบ่อย คือ“อะไร คือ สิ่งที่ผู้ประกอบอาชีพต้องการตรวจ” ตัวอย่างเช่น ระดับสาร 1,3 butadiene และระดับเมแทบอไลต์ของสาร 1,3 butadiene เช่น 1,2-dihydroxybutyl mercapturic acid (DHBMA) ในปัสสาวะ และ “ตัวอย่างอะไรที่ต้องส่งตรวจ (Specimen)” เช่น เลือด ปัสสาวะ หรือลมหายใจออก เป็นต้น

          จป. ควรทบทวนข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินความต้องการในการเฝ้าระวังทางการแพทย์เช่น โรงงานนี้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตใหม่ ใช้สารเคมีชนิดใหม่หรือไม่? โรงงานนี้มีประกอบอาชีพรายใหม่เข้ามาปฏิบัติงานหรือไม่? มีผู้ประกอบอาชีพเข้าปฏิบัติงานกี่คน? มีกฎหมายใหม่หรือไม่? เป็นต้น นอกจากนั้นจป.ควรทบทวนกระบวนการผลิตและความรุนแรง หรือ พิษของสารเคมีทุกชนิดที่ใช้ ตัวอย่างเช่น มีการใช้ สาร 1,3 butadiene ในกระบวนการผลิต ทบทวนแล้วพบว่า สารชนิดนี้เป็นก๊าซไม่มีสี หากผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับสารแบบเฉียบพลัน โดยกลืนกินเข้าไป จะเป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สายตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ชีพจรช้าลง ความดันโลหิตลดลง และถึงขั้นหมดสติได้ หากรับสัมผัสเรื้อรังความเข้มข้นน้อย ๆเป็นเวลานาน อาจมีอันตรายต่อหัวใจและปอด

          ควรทบทวนค่ามาตรฐาน และแนวทางต่าง ๆตามกฎหมายกำหนด ตัวอย่างเช่น ค่ามาตรฐานตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน“ค่าขีดจํากัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย” ระบุว่าค่าขีดจํากัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทํางานปกติของสาร 1,3 Butadiene เท่ากับ 1 ส่วนในล้านส่วน เป็นต้น และ ควรทบทวนวิธีการทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมอย่างครอบคลุม สามารถเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ตัวอย่างสาร 1, 3 butadieneด้วยวิธีการของ NIOSH METHOD: 1024, Issue 2 เป็นต้น

          ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้ทีมงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังทางการแพทย์ เช่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พยาบาลอาชีวอนามัย นักอนามัยสิ่งแวดล้อม นักสุขศึกษา และ อื่นๆ มีข้อมูลสนับสนุนในการดำเนินงานเฝ้าระวังทางการแพทย์ตามความต้องการได้ ข้อมูลที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ควรรวบข้อมูลที่เป็นผลจากการตรวจประเมิน (Audit) ทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม กฎหมายที่เกี่ยวกับงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม การจ่ายเงินค่าทดแทน รวมทั้งผลการตรวจสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การตรวจวัดระดับ 1,3 butadiene บรรยากาศการทำงานและการประเมินการรับสัมผัสสาร 1,3 butadiene เข้าร่างกายทุกทาง  เช่น ทางปาก ทางผิวหนัง เป็นต้น

          กล่าวโดยสรุป หาก จป.มีการประเมินความต้องการในการเฝ้าระวังทางการแพทย์ที่เหมาะสม จะช่วยทำให้การดำเนินงานในการเฝ้าระวังทางการแพทย์ให้กับกลุ่มเสี่ยงในขั้นตอนต่อมาเป็นไปตามแผนและเหมาะสม ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีตามมาได้

 

 

Visitors: 366,682