ทบทวน รู้ตัว...เพื่อกำหนดผลลัพธ์

เผยแพร่เมื่อ: 04/03/2564....,
เขียนโดย โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา, Mentoring & Coaching for JorPor Series,
วิทยากร/ที่ปรึกษา/โค้ช/นักเขียน

เรื่อง ทบทวน รู้ตัว...เพื่อกำหนดผลลัพธ์ 

         ในการรับมือ/ปรับตัวช่วงภาวะวิกฤตการไม่ตื่นตระหนกเป็นสิ่งสำคัญ 

         โฆษณาชุดใช้ชีวิตอย่างมีสติ ของยาหม่องน้ำยี่ห้อหนึ่ง ที่ออกผลงานมาสู่สายตาของผู้ชมในช่วงของสถานการณ์ COVID-19เป็นสื่อบันเทิงที่แฝงสาระตอกย้ำเรื่องของการไม่ตื่นตระหนกได้อย่างดีโดยเสนอวิธีการ คือ การมีสติ 

         กรมสุขภาพจิต ก็แนะนำหลัก 3I เพื่อดูแลสุขภาพกายและใจ สำหรับป้องกันตัวเองและแนะนำผู้อื่นในการปรับตัวช่วงภาวะวิกฤตCOVID-19จะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ตื่นตระหนก เพราะหากเรามีความตระหนกจะทำให้ขาดสติ ไม่สามารถจัดการอะไรได้ ผ่านการถามตัวเองด้วย3Iดังนี้ 

         I am       คือ ตัวเรา พิจารณาว่า เราเองเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีหรือไม่ เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ 

         I have    คือ เรามีอะไรอยู่บ้าง (ตนเองและประเทศ) เช่น ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ระบบการจัดการ เป็นต้น 

         I can      คือ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง, นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, กินร้อน, ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไปควรต้องป้องกันตัวเองโดยใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น 

         การรู้/รับรู้/เข้าใจตนเองอย่างมีภาวะรู้ตัว “รู้ตัว มีสติ” คือ การตระหนักรู้ในตนเอง (Self Awareness) 

         การตระหนักรู้ในตนเองมีประโยชน์ เช่น 1. ช่วยให้เปิดรับความคิดที่หลากหลายและมีใจเป็นกลาง, 2. รู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองเมื่อยิ่งตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น, 3. รู้ว่าอะไรที่เราทำได้ดี อะไรที่จะต้องพัฒนา เป็นต้น และการตระหนักรู้ในตนเองสามารถฝึกฝนได้ เช่น  1. การฝึกสมาธิโดยอยู่กับลมหายใจ,2. การอยู่กับความเงียบกับธรรมชาติ, 3. การตั้งคำถามเพื่อสำรวจตนเอง,4. การจดบันทึกเพื่อทบทวนตนเองในแต่ละวัน,5. การรับฟังและขอ Feedback จากผู้อื่นเป็นต้น 

         เมื่อเรารู้ตัว มีสติการแสดงออกและการตอบสนองของเราก็จะดีขึ้น อธิบายได้ด้วยข้อมูลเหล่านี้ 

         ดร.เดวิด ร็อค ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ด้านสมองกับภาวะผู้นำ อธิบายเกี่ยวกับสมองเอาไว้ว่า สมองของคนเราจะพยายามทำงานให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด เวลาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ สมองต้องใช้พลังงานเยอะ แต่ถ้าเรื่องใหม่ๆ กลายเป็นสิ่งที่ทำไปนานๆ สมองจะค้นพบว่า ไม่ต้องคิด ไม่ต้องวิเคราะห์ ไม่ต้องจำ มนุษย์เราก็สามารถทำเรื่องนั้นได้ สมองจึงเอาความสามารถส่วนนี้ไปจัดเก็บไว้ในส่วนของสมองที่สิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุด นั่นก็คือ พฤติกรรมดังนั้น หากมนุษย์เราทำอะไรประจำๆ ซ้ำๆ ไปนานๆ เช่น การทำงานแบบเดิม เจอปัญหาแบบเดิม ใช้ทางแก้ไขแบบเดิม เป็นต้น เราจะกลายเป็นมนุษย์ที่เลิกใช้สมองในการทำงาน ใช้แค่พฤติกรรมที่เคยชิน 

         T. Harv Ekerผู้เขียนหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind กล่าวถึงสูตร กระบวนการปรากฏผล (Process of Manifestation) ไว้ว่า ความคิด --> ความรู้สึก --> การกระทำ = ผลลัพธ์ นั่นก็คือ ลักษณะนิสัย วิธีคิด และความเชื่อของคนเรานั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ระดับความสำเร็จ (ผลลัพธ์) ของคนนั้นๆ 

         Jack Canfield’s ผู้เขียนหนังสือ The Success Principles กล่าวถึง สมการของการมีชีวิตที่ยอดเยี่ยม ไว้ว่า E + R = O (E = Event = เหตุการณ์, R = Respond = การตอบสนอง, O = Outcome = ผลลัพธ์) 

         ดังนั้น หากมีเหตุการณ์ต่างๆ มากระทบกับตัวเราเช่น ภาวะวิกฤต เป็นต้น ข้อมูลในสมองของเราจะถูกดึงออกมาใช้ประกอบการพิจารณาว่าเราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรในสถานการณ์นั้นๆโดยสิ่งที่สามารถช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีและไม่ทำให้สมองเข้าสู่การใช้พฤติกรรมที่เคยชิน คือ ใช้การมีสติ ตั้งสติ (สังเกตความคิด สังเกตการกระทำของตัวเรา) เพื่อให้เราสามารถเลือกทางที่ดีที่สุดในปัจจุบัน 

         เมื่อเรารู้ตัว มีสติ เราตระหนักรู้ในตนเอง รู้ว่าต้องการอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร คาดหวังอะไร มีการคิดก่อนพูด คิดก่อนทำ เราก็จะดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถนำศักยภาพ ทักษะ และความสามารถของเราออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่               

         สำหรับการโค้ช (Coaching) กล่าวถึง การตระหนักรู้ ด้วยเช่นกันตามแผนภาพ นั่นคือ เมื่อมีการบริหารด้วยการโค้ช (สไตล์การบริหารจากการสั่งการ เป็น การโค้ช) ผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น

          หากตอนนี้ สภาพการเป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับการรับมือ/ปรับตัวช่วงภาวะวิกฤตยังไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้ นั่นหมายความว่า ได้เวลาต้องกลับมาทบทวนตัวเรา ได้เวลาตรวจสอบวิธีคิดและการกระทำที่ผ่านมาของเราว่าส่งผลต่ออะไร อย่างไร และมีอะไรที่สามารถปรับเปลี่ยนปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้บ้าง เพื่อให้ปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ

.

ด้วยรักและห่วงใย

จากใจ..โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา

วิทยากรความปลอดภัยในการทำงาน (หลักสูตรจิตสำนึกความปลอดภัย,หลักสูตรพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานBBS และหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานอื่นๆ)

ที่ปรึกษาอิสระ (ด้านความปลอดภัยฯ, ด้านสิ่งแวดล้อม, ด้านพัฒนามาตรฐานแรงงาน และด้านการพัฒนาองค์กร)

โค้ชด้านจิตวิทยาการสื่อประสาท NLP : Neuro Linguistic Programming Coach หรือ NLP Coach (หลักสูตรการโค้ช,รับปรึกษาปัญหาเพื่อทะลายทุกข้อจำกัดที่ฉุดรั้งคุณ)

นักเขียน หนังสือเรื่อง จิต(ใต้)สำนึกความปลอดภัย

 

 

Visitors: 367,452