กรณีตัวอย่าง: เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในห้องปฏิบัติการ

เผยแพร่เมื่อ: 20/03/2564....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารุญ เกตุสาคร
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เรื่อง กรณีตัวอย่าง: เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในห้องปฏิบัติการ

 

          EP.8 เราพูดถึงเทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับ EP.9 นี้จะเป็นกรณีตัวอย่าง: เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในห้องปฏิบัติการโดยขอนำกรณีศึกษาของห้องปฏิบัติการ ทันตกรรมของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งในห้องปฏิบัติการทันตกรรมมีการใช้เครื่องขัด pumice และบางครั้งมีการใช้สารเคมีจำพวก Monomer โดยลักษณะการทำงานทำให้เกิดมลสารแขวนลอยอยู่ในอากาศจากการสำรวจและตรวจประเมินพื้นที่ห้องปฏิบัติการทันตกรรมสามารถสรุปได้ดังนี้ 

ตารางที่ ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality; IAQ)

 

          Air Change Rate (ACH)และ Differential Pressure: DP = มาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ: วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2559


          สรุปผลการตรวจวัด
          ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคารของห้องปฏิบัติการทันตกรรม พบว่า พารามิเตอร์อัตราการแลกเปลี่ยนอากาศเป็นจำนวนเท่าของปริมาตรห้องและความดันแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียงผ่านเกณฑ์มาตรฐานกำหนดแต่อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่เพื่อประเมินคุณภาพอากาศภายในห้องปฏิบัติการมีข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/บันทึกเพิ่มเติม เพื่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของผู้ที่ปฏิบัติงานภายในห้องดังกล่าว

          ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/บันทึกเพิ่มเติม
          
1) ฮูด (Hood) ไม่เหมาะสมกับสภาพการทำงานปัจจุบันเนื่องจากสภาพการทำงานมีการใช้เครื่องขัด pumice และบางครั้งมีการใช้สารเคมีจำพวก Monomer ฮูดในห้องดังกล่าวเป็นชนิด Canopy Hood ซึ่งจะเหมาะกับมลสารที่มีลักษณะเบากว่าอากาศ ดังนั้น มลสารที่เกิดจากการขัด pumice (มีน้ำหนักมากกว่าอากาศจึงจะตกลงสู่ด้านล่างตามแรงดึงดูดของโลก) ทำให้มอเตอร์ต้องทำงานหนักในการสร้างกำลังหรือพลังงานในการดูดมลสารเข้าสู่ตัวฮูดซึ่งแรงในการดูดมลสารไม่เพียงพอในการจับยึดมลสารเข้าสู่ตัวฮูดได้จึงทำให้ระบบการระบายอากาศเฉพาะที่ไม่มีประสิทธิภาพ มลสารสามารถตกค้างอยู่ภายในห้อง อีกทั้งถ้ามีการใช้ฮูดเพื่อดูดไอสารเคมี (Monomer) สามารถใช้ Canopy Hood ได้ แต่มีข้อต้องระวังในเรื่องของระยะความสูงของขอบด้านหน้าของฮูดกับแหล่งกำเนิดมลสารมีระยะค่อนข้างมากทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับสัมผัสสารเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ก่อนที่ฮูดจะดูดไอสารเคมี (Monomer) ออกไปข้างนอกห้อง จากการสังเกตการทำงาน/ลักษณะการทำงาน ผู้ดำเนินการตรวจวัดและประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงานมีข้อเสนอแนะสำหรับฮูดที่เหมาะสมกับลักษณะการทำงานดังกล่าว ควรเป็นฮูดชนิด Enclosing hood หรือ Side draft hood/Capturing hood (ตามภาพที่ 1 และ 2)

           2) จากข้อเสนอแนะตามข้อ 1) ถ้ามีการเปลี่ยนรูปแบบของฮูดดูดอากาศใหม่ควรพิจารณาคำนวณขนาดของพัดลมหรือมอเตอร์ใหม่(คำนวณทั้งระบบการระบายอากาศเฉพาะที่: Local exhaust ventilation) เพื่อให้ได้ขนาดของพัดลม/มอเตอร์ที่สามารถดูดอากาศเข้ามายังฮูดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน อีกทั้งเพื่อเป็นการดำเนินการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในการทำงานต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของฮูดดูดอากาศว่าเป็นไปตามที่ออกแบบ มาตรฐาน/กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่น ทดสอบความเร็วหน้าฮูด (Face velocity) และความเร็วในการจับยึดมลสารเข้าสู่ตัวฮูด (Capture velocity) เป็นต้น
          3
) ห้องปฏิบัติการทันตกรรมมีระบบการระบายอากาศแบบส่งลมเย็น (Air supply) ติดตั้งบนฝ้าเพดานจำนวน 5 หัวส่งลมเย็น ซึ่งภายในห้องดังกล่าวมีการใช้ Canopy hood ซึ่งจะต้องมีแรงดูดมลสารเข้าฮูด (พุ่งขึ้นด้านบน) และหัวจ่ายลมเย็น (Air supply) จ่ายอากาศลงด้านล่าง ซึ่งทำให้ทิศทางของอากาศมีการสวนทางกันเกิดการฟุ้งกระจายของมลสารภายในห้องปฏิบัติการ ดังนั้น ควรดำเนินการยกเลิกการใช้ระบบการระบายอากาศแบบส่งลมเย็นและให้ดำเนินการติดตั้ง Air split type แทน และการติดตั้งควรพิจารณาทิศทางของลมและตำแหน่งการทำงานร่วมด้วย
          
4) อัตราการแลกเปลี่ยนอากาศเป็นจำนวนเท่าของปริมาตรห้อง(Air change rate : ACH) มีค่าเกินมาตรฐานค่อนข้างมากอันเนื่องมาจากอัตราการไหลของอากาศที่ออกจากหัวจ่ายอากาศจำนวน 5 หัวจ่าย ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนมาติดตั้ง Air split type ต้องพิจารณาให้อัตราการแลกเปลี่ยนอากาศเป็นไปตามมาตรฐานด้วย และควรพิจารณาการนำอากาศออกให้มากกว่าการนำอากาศเข้าเพื่อทำให้ห้องปฏิบัติการมีความดันเป็นลบเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียง
          
5) ห้องปฏิบัติการทันตกรรมมีการดึงอากาศออกจากห้องเพื่อนำอากาศเย็นไปจ่ายให้บริเวณพื้นที่อื่นๆ ซึ่งการดึงอากาศออกจากห้องปฏิบัติการทันตกรรมนั้น ต้องผ่านหน่วยจัดการอากาศก่อนที่จะจ่ายอากาศไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยในหน่วยจัดการอากาศมีแผงกรองอากาศที่สามารถกรองได้เฉพาะอนุภาคฝุ่นละอองเท่านั้น แต่เนื่องด้วยในห้องปฏิบัติการทันตกรรมมีกิจกรรมหรือลักษณะการทำงานที่ใช้สารเคมี (Monomer) ด้วย ดังนั้น หน่วยจัดการอากาศไม่สามารถกรองไอระเหยที่เกิดจากสารเคมีได้ทำให้พื้นที่อื่น ๆ มีโอกาสได้รับสัมผัสไอระเหยของสารเคมีส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยได้ ถ้ามีการดึงอากาศออกจากห้องปฏิบัติการทันตกรรมเพื่อจะนำอากาศเย็นหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ต้องติดตั้งตัวกรองอากาศชนิดคาร์บอนเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการดูดซับกลิ่นไอระเหยของสารเคมี
          
6) โดยทั่วไปไม่ควรมีการดึงอากาศจากห้องที่มีกิจกรรมหรือลักษณะการทำงานที่ใช้สารเคมีหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ที่อาศัยอยู่ภายในอาคาร
          
7) ควรมีแผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive maintenance plan : PM plan) สำหรับหน่วยจัดการอากาศ เช่น เปลี่ยนแผงกรองอากาศ (Pre-filter/ Medium filter) ตามรอบของแผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมการใช้งาน/ความถี่ในการใช้งานของห้องปฏิบัติการทันตกรรมด้วยหรือมีแบบตรวจสอบสภาพทั่วไป/แบบตรวจสอบอุปกรณ์ประจำวัน/ประจำสัปดาห์/ประจำเดือนของหน่วยจัดการอากาศ
          
8) Exhaust fan ในห้องปฏิบัติการทันตกรรมมีจำนวน 2 ตัว คือ EF7/4 และ EF7/5 ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า ไม่มีการติดตั้งตัวกรองอากาศก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ดังนั้น ควรดำเนินการติดตั้งตัวกรองอากาศก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
          
9) ช่อง Return air มีจำนวน 2 ตัว มีตัวกรองอากาศที่สามารถกรองเฉพาะอนุภาคฝุ่นละอองเท่านั้น แต่ไม่สามารถกรองไอระเหยจากสารเคมี (Monomer) ได้ และอากาศที่ผ่านการกรองจะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านคอยล์เย็น ซึ่งจะมีการหมุนเวียนอากาศที่ปนเปื้อนด้วยไอสารเคมีกลับมาใช้งานใหม่ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของผู้ที่ใช้งานห้องดังกล่าวในอนาคตดังนั้น ไม่ควรมีการหมุนเวียนอากาศกลับมาใช้ใหม่สำหรับห้องที่มีกิจกรรมหรือลักษณะการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีหรือถ้าต้องการหมุนเวียนอากาศกับมาใช้ใหม่ต้องแน่ใจว่าอากาศที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่นั้นปลอดภัยมีความบริสุทธิ์โดยติดตั้งตัวกรองอากาศชนิดคาร์บอนที่สามารถกรองไอระเหยจากสารเคมีได้


ภาพที่ 3: แผนผังห้องปฏิบัติการทันตกรรม (1)


ภาพที่ 4: แผนผังห้องปฏิบัติการทันตกรรม (2)


ภาพที่ 5: แผนผังห้องปฏิบัติการทันตกรรม (3)


ภาพที่ 6: แผนผังห้องปฏิบัติการทันตกรรม (4)


ภาพที่ 7: แผนผังห้องปฏิบัติการทันตกรรม (5)


ภาพที่ 8: แผนผังห้องปฏิบัติการทันตกรรม(Top View)

 

          สำหรับ EP. ต่อไปเราจะมาพูดถึงกรณีตัวอย่าง: เทคนิคการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยใช้หลักการระบายอากาศในสถานที่อื่น ๆ กันต่อครับสำหรับ EP.9นี้คงพอจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านบ้างนะครับและฝากติดตามEP. ต่อไปกันด้วยครับ….ขอบคุณครับ

 

 

Visitors: 367,452