การใช้ก๊าซออกซิเจนที่บ้าน

เผยแพร่เมื่อ 02/08/2564...,
เขียนโดย ดร.เด่นศักดิ์ ยกยอน 
               อาจารย์ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล...,

 

เรื่อง การใช้ก๊าซออกซิเจนที่บ้าน 

          ภาพท่อบรรจุก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ (Oxygen cylinder) กำลังขาดตลาดเนื่องจากมีคนแห่ไปซื้อมากักตุนเห็นได้ชัดในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ราคาท่อออกซิเจนที่กรุงจาการ์ตา ปรับราคาสูงขึ้นหลายเท่า และสินค้าเริ่มขาดแคลน หลังประเทศเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ทำให้โรงพยาบาลมีการปฏิเสธการเข้ารับการรักษาของผู้ติดเชื้อ และได้ทำให้ต้องไปหาซื้อถังออกซิเจนจากร้านค้าและโรงอัดบรรจุก๊าซโดยตรง ซึ่งความต้องการที่สูงขึ้นได้ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นกว่าปกติมาก ขณะเดียวกัน บางโรงพยาบาลเริ่มขาดแคลนถังออกซิเจน

          ในภาวะวิกฤติอย่างนี้ หากสมาชิกในบ้านคุณต้องเผชิญกับการหาเตียงที่โรงพยาบาลไม่ได้ เพราะมีผู้ป่วยติดเชื้อจนล้นโรงพยาบาล เกิน Capacity ของโรงพยาบาล ที่กำลังเผชิญกับปัญหาบุคคลากรทางการแพทย์กลายเป็นผู้ติดเชื้อไปด้วย และคนที่คุณรักกำลังเกิดภาวะเลือดพร่องออกซิเจน (Hypoxia) รู้สึกหายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจลำบากขึ้น หายใจถี่ขึ้น ไอ หัวใจเต้นเร็วขึ้น การรับรู้ตัวลดลง สับสน มึนงง ซึม วิงเวียน ปวดศีรษะเนื่องจากหลอดเลือดสมองขยายตัว คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังซีด หรือเขียวคล้ำ คุณก็ย่อมต้องดิ้นรนไปซื้อหาท่อออกซิเจนมาเช่นกัน

          เกณฑ์การแบ่งความรุนแรงของภาวะเลือดพร่องออกซิเจน สามารถแบ่งความรุนแรงของผู้ป่วยได้ 3 ระดับขึ้นอยู่กับภาวะที่ระดับออกซิเจนในเลือดแดง (Partial Pressure of Arterial Oxygen -PaO2) ได้แก่
                    1. 
Mild Hypoxemia: 60-80 mmHg(มิลลิเมตรปรอท)
                    2. 
Moderate Hypoxemia: 40-60 mmHg
                    3. 
Severe Hypoxemia: น้อยกว่า 40 mmHg

          สิ่งสำคัญที่มีในการดูแลให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยที่อยู่ตามบ้าน มักใช้เพียงอุปกรณ์ชนิด Nasal Cannula หรือสายออกซิเจนแบบผ่านจมูก เนื่องจากภาวะพร่องออกซิเจนมักจะต่ำและไม่รุนแรงมากนัก ควรปรับอัตราการไหลของออกซิเจน 1-6 ลิตร/นาที ถ้าเปิดออกซิเจนแรง จะทำให้ระคายเคืองเยื่อบุจมูก และสายเล็กๆ (nasal prongs) ที่นำออกซิเจนควรอยู่ลึกในจมูกประมาณ 1 ซม.

          สำหรับผู้ที่ใช้หน้ากากออกซิเจน (Oxygen mask) อัตราการไหลของออกซิเจน 5-8 ลิตร/นาที การใช้ต้องครอบให้แนบสนิทกับหน้า ห้ามเปิดออกซิเจน น้อยกว่า 5 ลิตร/นาที เพราะจะทำให้ลมหายใจเดิมค้างในหน้ากาก ผู้ป่วยจะหายใจเอาอากาศเดิมเข้าไปใหม่ได้ ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกอึดอัด

          ควรล้างทำความสะอาด nasal prongs ด้วยน้ำสบู่อย่างน้อย 1 ถึง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และเปลี่ยนใหม่ทุก 2 ถึง 4 สัปดาห์ รวมถึงใช้ครีมประเภท “water-base moisturizer” ทาปากและจมูกเพื่อป้องกันการแห้งแตก ห้ามใช้พวก Vaseline เพราะจะทำให้ท่ออุดตันและใช้ผ้าก๊อซ (gauze) รองบนผิวหนังด้านหลังใบหูเพื่อป้องกันการเสียดสี

          การใช้เครื่องทำความชื้น ชนิด “bubble humidifier” เพื่อให้ออกซิเจนมีความชื้นก่อนเข้าสู่ผู้ป่วย ต้องใส่น้ำสะอาด (sterile water) หรือน้ำกลั่น (distilled water) ลงใน humidifier และต้องเปลี่ยนน้ำเพื่อป้องกันเชื้อโรค แบคทีเรีย ไม่ควรใช้น้ำกลั่นที่เปิดใช้แล้วเกิน 1 เดือน หากปรับอัตราการไหลเพียง 1 ถึง  4 ลิตร/นาที ไม่จำเป็นต้องใช้ “humidifier” (University of Michigan Health System – UMHS, 2009)

ภาพที่ 1: แสดงอุปกรณ์การใช้ก๊าซออกซิเจนกับผู้ป่วยที่อยู่ตามบ้าน
แหล่งที่มา: https://oregon.providence.org (2009)

 

 

ภาพที่ 2: แสดงNasal Cannula หรือสายออกซิเจนแบบผ่านจมูก
แหล่งที่มา: https://www.fairview.org/patient-education/88805 (2020)

          ที่สำคัญก๊าซออกซิเจนนั้นสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ คือเพลิงไหม้และการระเบิด เนื่องจากปริมาณความหนาแน่นที่มากของออกซิเจนเกินสภาวะปกติ และข้อควรระวังเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ การใช้สารหล่อลื่น และการทำความสะอาด วัสดุอุปกรณ์ใดๆ  ก็ตามที่จะนำมาใช้งานเกี่ยวข้องกับออกซิเจน  จะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นวัสดุอุปกรณ์ซึ่งใช้ได้กับออกซิเจน  เช่น  วาล์ว,  Regulator,  Pipeline ห้ามนำวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดที่มีส่วนผสมของคาร์บอน หรือไฮโดรคาร์บอน มาใช้งานร่วมกับระบบออกซิเจนโดยเด็ดขาด ใช้วัสดุที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยเมื่อใช้งานร่วมกับออกซิเจนเท่านั้น  วัสดุดังกล่าวได้แก่  ทองแดง  ทองเหลือง  และแสตนเลส  สตีล  (ใช้งานกับระบบ  Low Pressure เท่านั้น) การใช้สารหล่อลื่น และการทำความสะอาด พื้นผิวทั้งหมดของข้อต่อ หรือท่อที่ใช้งานกับออกซิเจนจะต้องปราศจาก น้ำมัน หรือจารบี โดยเด็ดขาด สารหล่อลื่น สารทำความสะอาด ที่จะนำมาใช้กับออกซิเจน ต้องเป็นชนิด Oxygen Grease หรือที่ระบุไว้ว่าสามารถใช้กับออกซิเจนได้เท่านั้น

 

Visitors: 417,589