ไกลโฟเซตกับเกษตรกรชาวไทย

เผยแพร่เมื่อ 12/10/2564...,
เขียนโดย อาจารย์กชกร อึ่งชื่น
               อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
.
..,

 

เรื่อง ไกลโฟเซตกับเกษตรกรชาวไทย

           หากพูดถึงสารไกลโฟเซต (glyphosate)  หลายคนอาจจะรู้จักกันดี บางคนอาจจะรู้จักในชื่อทางการค้าว่า “ราวด์อั้พ” หรือหลายคนอาจคุ้นเคยจากข่าวการแบน 3 สารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในประเทศไทย เนื่องจากความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้ ดังนั้นเราลองมาทำความรู้จักกับสารไกลโฟเสตกันดูว่า สารไกลโฟเสตเป็นพิษมากน้อยแค่ไหน และเราสามารถใช้ให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างไรบ้าง

           ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับสารไกลโฟเซตกันก่อนะคะ ไกลโฟเซตจัดเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่คนไทย นิยมใช้มากที่สุด (สำนักควบคุมพืชและวัสดุ การเกษตร, 2560) เนื่องจากไกลโฟเซต มีฤทธิ์จัดวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีฤทธิ์ดูดซึมและเข้าไปทำลายบริเวณรากของวัชพืช จึงทำให้เป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกร

           โดยข้อมูลทางด้านพิษวิทยา พบว่า สารไกลโฟเซตรับสัมผัสได้โดยสัมผัสด้วยมือ เข้าตา หรือ สูดหายใจ ระหว่างการใช้งานกลืนสารโดยไม่ตั้งใจ เพราะไม่ได้ ล้างมือก่อนกิน สารไกลโฟเซต แม้สารไกลโฟเสทที่บริสุทธิ์จะมีความเป็นพิษ (Toxicity) ต่ำ แต่ส่วนใหญ่มักมีการผสมสารอื่นเข้าไป นั่นคือจำพวกสารลดแรงตึงผิวต่างๆ เช่น polyethoxylated amine (POEA) สารเหล่านี้จึงทำให้เกิด ความเป็นพิษของผู้ใช้ไกลโฟเซตมากขึ้น โดยปกติ สารไกลโฟเซตที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ แต่หากได้รับสารในปริมาณที่มากหรือการได้รับพิษสะสมมากๆ ก็สามารถทำลายร่างกายของเราแบบองค์รวม  ข้อมูลจากงานวิจัยพบ การเกิดโรคทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง พาร์กินสัน หรือแม้แต่ อัลไซเมอร์ ภาวะออติสติก นอกจากนี้องค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer - IARC) ในปี 2015 ได้แถลงผลการวิจัยและประกาศ ให้สารกำจัดศัตรูพืชไกลโฟเซตอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่อาจก่อมะเร็ง สารกลุ่ม 2A หมายถึงน่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์

           ในประเทศไทย ได้ออกประกาศ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขาย ซึ่งวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562 ข้อ 4 กำหนดว่าผู้ใช้สารไกลเซต ในการประกอบการเกษตรกรรมของตนเอง ต้องผ่านการอบรมหรือผ่านการทดสอบตามหลักสูตรที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ต้องใช้เครื่องพ่นพร้อมอุปกรณ์พ่น และต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ต้องใช้วัตถุอันตรายดังกล่าวกับพืชและพื้นที่ตามที่แสดงหลักฐานการซื้อขาย ต้องป้องกันไม่ให้วัตถุอันตรายดังกล่าวแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น และต้องเก็บรักษาวัตถุอันตรายดังกล่าวให้มิดชิด เพื่อควบคุมการขายและการใช้สารไกลโฟเซตให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง โปรดติดตามที่บทความถัดไปนะคะ

 

Visitors: 366,637