ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จำเป็น สำหรับนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

เผยแพร่เมื่อ 11/4/2565
เขียนโดย คุณดิเรก สุดใจ
               ประสบการณ์ในหน่วยงานปฏิบัติการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  มากกว่า 30 ปี 
               
ปัจจุบันทำงานใน กลุ่ม บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
               
ปริญญาตรี  วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต  สาขา วิศวกรรมเครื่องกล
               ปริญญาตรี
  วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต  สาขา วิศวกรรมอุตสาหการ
               ปริญญาตรี
  วิทยาศาสตร์บัญฑิต สาขา อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (มสธ.)

 

EP.1 เรื่องความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จำเป็น
สำหรับนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

          ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะต้องนึกถึงจังวัดระยองและก๊าซธรรมชาติก่อนเป็นอันดับแรก เพราะจังหวัดระยองเป็นแหล่งของโรงงานปิโตรเคมีทีมีมานานกว่า 30 ปี มีทั้งอุตสาหกรรมขั้นต้นขั้นกลางและขั้นปลาย เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กระบวนการผลิตซับซ้อน และมีความเชื่อมโยงกันสูงในแต่ละขั้นตอนการผลิต และยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

          อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีระบบการผลิตเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยทั่วไป คือ มีกลไกลพื้นฐาน เหมือนกัน มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ
                    
1) ปัจจัยการผลิต (Input) ได้แก่ คน (Man) วัตถุดิบต่างๆ (Materials) เครื่องจักร (Machines) พลังงาน (Energy) เงิน (Money) ข่าวสารข้อมูล (Information)
                    
2) กระบวนการผลิต (Process) ได้แก่ การเตรียมวัตถุดิบต่างๆ การนำส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน การสร้างรูปทรง การตกแต่ง
                    
3) ส่วนที่เป็นผลผลิต (Output) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Products) ซึ่งผลผลิตจะออกมา ในรูปของสินค้า หรือบริการ 

          อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีลักษณะพิเศษและมีความเสี่ยง  ที่นักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยต้องมีทราบ  ดังนี้
                    
1) เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ ส่วนใหญ่จะเป็นก๊าซไฮโดรคาร์บอนมีความไวไฟ ติดไฟง่าย เครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงานจะเป็นอุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบให้ใช้กับโรงงานปิโตรเคมี อุปกรณ์เครื่องจักรที่สำคัญได้แก่ Furnace (เตาเผา), Gas compressor (เครื่องอัดก๊าซ), Reactor (หอปฏิกิริยา), Fractionator  (หอกลั่น), Heat Exchanger (อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน) ฯลฯ
                    
2) กระบวนการผลิตจะเป็นแบบต่อเนื่องและส่งต่อกันทางท่อ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พนักงานฝ่ายผลิตทำงานเป็นกะ ผลิตภัณฑ์นั้น มีทั้งเป็นของเหลว และเป็นของแข็ง เช่น น้ำมัน, เม็ดพลาสติก  
                    
3) พนักงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตเป็นอย่างดี เช่น  พนักงานฝ่ายผลิตต้องรู้และเข้าใจในอุปกรณ์ที่มาประกอบเป็นระบบกระบวนการผลิตมีการเดินเครื่องอย่างไร, พนักงานฝ่ายซ่อมบำรุงต้องรู้วิธีการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องจักรให้พร้อมใช้, พนักงานเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยต้องรู้จักอุปกรณ์และกระบวนการผลิตเพื่อประเมินอันตรายความเสี่ยงต่างๆ และแนะนำผู้ปฏิบัติงานได้  ดังนั้นจึงต้องมีการอบรมและทบทวนความรู้ให้พนักเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากปัจจัยมนุษย์ ที่จะทำให้เกิดอุบัติภัยร้ายแรงได้รวมถึงระบบการทำงาน  เช่น  ISO, PSM ฯลฯ ที่มาช่วยให้มีมาตรฐานในการทำงานต่อเนื่องและยั่งยืน  และต้องมีแผนการบำรุงรักษาที่ดีเพื่อที่อุปกรณ์สามารถทำงานได้ พร้อมใช้และปลอดภัย ต้องมีการทำ Turn around (ซ่อมบำรุงใหญ่) ในทุกๆ 2-5 ปีต่อครั้ง ตามการออกแบบ  
                    
4) มีระบบป้องกันและระบบความปลอดภัยสูง และเข้มงวด เพราะทำงานกับสารไวไฟ  ระบบ Gas detector Fire alarm  ระบบดับเพลิง ต้องมีการตรวจสอบสม่ำเสมอ ระบบ Flare (หอเผาทิ้ง) ก็เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยอันนึงที่จะถูกใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อระบบกระบวนการผลิตมีปัญหา ต้องปล่อยก๊าซออกมาจากเครื่องจักรและกระบวนการผลิต นำไปเผาทิ้ง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงตามมาได้

          สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  คือ  ทุกคนต้องมีวิธีคิด (Mindset) ทัศนคติที่ดี และ มีความรู้ความสามารถในการจัดการด้าน  Safety และ Reliability  ถึงจะอยู่รอดได้ในสภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแข่งขันสูงในปัจจุบันนี้

Visitors: 365,686