การประยุกต์ใช้การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management, PSM) ในสถานประกอบการทั่วไป

เผยแพร่เมื่อ 25/4/2567
เขียนโดย คุณฐิติ วงศ์จินตนารักษ์
ปริญญาตรี  วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขา อาชีวอนามัยและความปลอดภัย รุ่น 38 (มหิดล)

 

 

การประยุกต์ใช้การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต
(Process Safety Management, PSM)
ในสถานประกอบการทั่วไป

"สถานประกอบการสามารถป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานได้ด้วยการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Health & Safety) และสามารถยกระดับการป้องกันอุบัติการณ์ร้ายแรง ไฟไหม้ ระเบิด สารเคมีรั่วไหล ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ด้วยการนำ การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management, PSM)  มาประยุกต์ใช้"

จุดเริ่มต้น PSM
          การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management, PSM) มีจุดเริ่มต้นมาจากการเกิดอุบัติการณ์รุนแรง เช่น ระเบิด สารเคมีอันตรายรั่วไหลในต่างประเทศ และอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็นกฏหมาย OSHA-PSM ขึ้นในสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับการควบคุมความเสี่ยงการเกิดอุบัติการณ์ร้ายแรงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สำหรับในประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ออก ข้อบังคับในการดำเนินการทำ PSM ขึ้น เพื่อบังคับใช้กับสำหรับสถานประกอบกิจการที่อยู่ภายใต้ กนอ. ที่เข้าข่ายความเสี่ยงสูง ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด เพื่อป้องกัน ควบคุม และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติการณ์ร้ายแรง มาตั้งแต่ปี 2559

เริ่มทำ PSM ก่อนที่จะเกิดเหตุ
         สำหรับสถานประกอบการที่ไม่เข้าข่ายตามข้อบังคับฯ PSM ของกนอ. หรืออยู่นอกพื้นที่ของ กนอ. ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามข้อบังคับก็จริง แต่หากมองย้อนกลับไปอุตสาหกรรมอื่นๆก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์รุนแรงในกระบวนการเช่นกัน เช่น อุตสากรรมแปรรูปอาหารที่ต้องใช้ระบบทำความเย็นที่ใช้สารแอมโอเนียที่เสี่ยงต่อสารแอมโมเนียรั่วไหล อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีฝุ่นจากวัตถุและมีการขนย้ายวัตถุดิบด้วยระบบลำเลียงก็ยังมีความเสี่ยงฝุ่นระเบิด เป็นต้น

          การนำหลักการของ The PSM Dilemma : Behavior vs. Technical ของ DuPont ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1. ความเสี่ยงจากบุคคล (People Risk) เกิดจากพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน  2.ความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานระหว่างคนกับเครื่องจักร (Man-Machine Interface Risk) เกิดจากทั้งพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ปลอดภัยที่ทำงานร่วมกับสภาพเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ และ 3. ความเสี่ยงจากกระบวนการผลิต (Process Risk) ที่มีสาเหตุมาจากกระบวนการที่ออกแบบและควบคุมด้านวิศวกรรมที่ไม่เพียงพอจนเป็นสาเหตุให้กระบวนการบกพร่องและเกิดความสูญเสียรุนแรงในที่สุด มาประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการทั่วไป จะยิ่งทำให้เกิดการจำแนกแยกแยะและเกิดประสิทธิภาพในการป้องกันได้อย่างตรงกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

          “อย่ารอให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง ไฟไหม้ ระเบิด สารเคมีรั่วไหล ก่อนแล้วค่อยทำ” สถานประกอบการทั่วไปควรนำ การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management, PSM) มาประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นในสถานประกอบการของตนเอง

PSM 5 Elements เพื่อยกระดับการควบคุม ป้องกันความเสี่ยงกระบวนการผลิต
          การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management, PSM) ในข้อบังคับของ กนอ. มีจำนวนทั้งสิ้น 13 หัวข้อ(Element)  สำหรับสถานประกอบการหรือโรงงาน ที่อยู่นอกเหนือขอบข่ายการบังคับ สามารถเลือกหัวข้อ(Element) ที่จำเป็นไปดำเนินการเพิ่มเติมร่วมกับระบบการจัดการความปลอดภัยเดิมที่มีอยู่ โดย ขอแนะนำ 5 Elements ของ PSM ได้แก่
               1.    ข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Information) : ทบทวนความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารทั้ง ข้อมูลสารเคมีอันครายร้ายแรง ข้อมูลเทคโนโลยีการผลิต และข้อมูลอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆในกระบวนการผลิต
               2.    การวิเคราะห์ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Hazard Analysis) : มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงและอันตรายร้ายแรงในกระบวนการผลิตที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเป็นระบบ โดยเน้นไปที่การวิเคราะห์ความเสี่ยงในเชิงเทคนิคและวิศวกรรม รวมทั้งติดตามมาตรการลดและควบคุมความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
               3.    ความพร้อมใช้ของอุปกรณ์ (Mechanical Integrity) : ประเมินหาอุปกรณ์วิกฤติ(อุปกรณ์เมื่อทำงานล้มเหลวแล้วส่งผลต่อความปลอดภัยกระบวนการผลิตในระดับรุนแรง เช่น ไฟไหม้ ระเบิด สารเคมีรั่วไหล) และทบทวนกระบวนการจัดการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ เครื่องจักร เพื่อให้สามารถใช้งานตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้ออกแบบอย่างเหมาะสมตลอดช่วงอายุการใช้งาน
               4.    การจัดการการเปลี่ยนแปลง (Management Of Change) : กระบวนการจัดการเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างเป็นทางการ ประเมินความเสี่ยง ผลกระทบ และอนุมัติก่อนการดำเนินการ โดยจะต้องทำการทบทวน จัดเตรียม ข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Information) , การวิเคราะห์ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Hazard Analysis) ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
               5.    การทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มเดินเครื่อง (Pre-Startup Safety Review) : การทบทวนตรวจสอบความปลอดภัยของกิจกรรมต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลง ติดตั้ง ดัดแปลง อุปกรณ์ เครื่องจักรใหม่ในกระบวนการผลิตที่มีความเสี่ยงสูง ก่อนนำสารเคมีเข้าสู่กระบวนการ รวมถึงการนำอุปกรณ์เข้าใช้งานหรือเดินเครื่อง

ประสบการณ์จากการประยุกต์ใช้ PSM 5 Elements ในสถานประกอบการทั่วไป
          ขอสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการนำ PSM 5 Elements มาประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการทั่วไป เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านในการเตรียมความพร้อม รับมือกับสถานการณ์ ปัญหาที่อาจพบในระหว่างการนำ PSM มาดำเนินการ ดังนี้
               1.    ผู้บริหารระดับสูงต้องแสดงความมุ่งมั่น สนับสนุนการดำเนินการทำ PSM
                    เนื่องจากการนำ PSM 5 Elements มาประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการทั่วไป เป็นการยกระดับการดำเนินการด้านความปลอดภัยมากกว่าที่กฏหมายกำหนด ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงจะต้อง สื่อสาร การแสดงความมุ่งมั่น ถึงวัตถุประสงค์และเหตุผลในการนำ PSM มาดำเนินการ ให้กับพนักงานทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำ PSM ในสถานประกอบการของตนเอง
               2.    ข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Information) เป็นส่วนหนึ่งของการทำ PSM ที่เป็นรูปธรรม : 
                     การเตรียมข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการ PSM ใน Element อื่นๆ ถูกต้องแม่นยิ่งขึ้น ดังนั้นก่อนเริ่มดำเนินการ PSM จะต้องอธิบายให้ผู้บริหาร ทีมทำ PSM ทุกคน เข้าใจตรงกันว่า งานเอกสาร การทำข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิต (PSI) เป็นขั้นตอนที่สำคัญ และ ถือว่าเป็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในยการดำเนินการ PSM เช่นกัน
                     สถานประกอบการทั่วไปอาจพบปัญหาจากการทำข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิตคือ กระบวนการผลิตที่สร้างมานาน หรือ กระบวนการที่ไม่ใช่กระบวนการผลิตหลัก เช่น ระบบแอมโมเนีย , ระบบ Thermal Oil , ระบบ Boiler อาจมีเอกสาร มาตรฐานทางวิศวกรรมที่ไม่ครบถ้วน  ซึ่งผู้บริหาร ผู้จัดการ จะต้องสนับสนุนเวลา งบประมาณ และบุคลากรให้กับวิศวกรที่ดูแลระบบ ในการดำเนินการจัดทำข้อมูลเทคโนโลยีการผลิต ข้อมูลอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ในทางวิศวกรรม ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน

               3.    ทีมทำ PSM ต้องได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากร จากผู้บริหาร
                     กระบวนการที่มีความเสี่ยงสูงในสถานประกอบการทั่วไปบางแห่งอาจเป็น กระบวนการที่ไม่ใช่กระบวนการผลิตหลัก เช่น ระบบแอมโมเนีย ระบบ Thermal Oil และระบบ Boiler ซึ่งอาจจะปัญหาเรื่องบุคลากรในการดำเนินการเช่น วิศวกร ช่างเทคนิค มีจำนวนน้อย ภาระงานต่อคนในปัจจุบันที่มีจำนวนมาก ประสบการณ์ความรู้ในกระบวนการที่ตนเองดูแล ดังนั้นผู้บริหาร ผู้จัดการ จะต้อง สนับสนุน งบประมาณ บุคลากร และการบริหารจัดการเวลา ให้ทีมสามารถดำเนินการทำ PSM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างขวัญกำลังใจทีมทำ PSM อย่างต่อเนื่อง
                     ตัวอย่างที่พบจากการดำเนินการคือ ในการทำ PSM ที่กระบวนการผลิตปิโตรเคมี หรือ กระบวนการผลิตหลัก การจัดตั้งทีมทำ PSM จะมีการแบ่งทีมทำ PSM ในแต่ละ Element เช่น ทีม PSI , ทีม PHA , ทีม MI แต่ในสถานประกอบการทั่วไป กระบวนการที่มีความเสี่ยงสูงอาจไม่ใช่กระบวนการผลิตหลัก เช่น ระบบแอมโมเนีย ระบบ Thermal Oil ดังนั้น ทีมทำ PSM เพียงทีมเดียวจะต้องทำทั้ง 5 Element เนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคลากร ซึ่งเป็นภารกิจที่หนัก และท้าทายเป็นอย่างมาก

               4.    ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในสถานประกอบการของตนเอง
                     สำหรับสถานประกอบการทั่วไป ที่ไม่มีสารเคมีอันตรายร้ายแรง แต่มีกระบวนการที่มีความเสี่ยงสูงอื่นๆ เช่น ฝุ่นระเบิด , Hot Oil ที่มีความร้อนสูงรั่วไหล สามารถที่จะนำ PSM 5 Element มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการได้ เช่น การวิเคราะห์อันตรายกระบวนการด้วย HAZOP และการหาอุปกรณ์วิกฤติ จะโฟกัสความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิด ฝุ่นระบิด น้ำมัน Hot Oil รั่วไหล แทนการประเมินเหตุการณ์จากสารเคมีอันตรายร้ายแรง รั่วไหล

               5.    เป้าหมายคือการนำ PSM 5 Elements เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานปกติ
                     สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ ทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำ PSM คือ “การทำ PSM ไม่ใช่ Project ลดความเสี่ยงที่ทำเสร็จแล้วจบไป แต่เป็นการยกระดับดำเนินการป้องกัน ลด ความเสี่ยงในระยะยาว” ผู้ที่รับผิดชอบดูแลกระบวนการที่มีความเสี่ยงสูง จะต้องมีเป้าหมายคือ ทำPSMเป็น ถ่ายทอดความรู้เป็น ตรวจประเมินระบบภายในเป็น และติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยการนำ PSM เข้าไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานปกติ จะทำให้การนำ PSM มาประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการทั่วไปสามารถป้องกันอุบัติการณ์ร้ายแรงได้อย่างยั่งยืน

ป้องกันอุบัติการณ์ร้ายแรงอย่างยั่งยืน
          เพื่อให้การดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สำหรับสถานประกอบการทั่วไปที่นำ PSM มาประยุกต์ใช้ ต้องพิจารณานำหัวข้อ PSM ทั้ง 5 หัวข้อนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบการ ซึ่งมีแนวทางดังนี้
               1.    เพิ่มเข้าไปในระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่มีอยู่เดิมเช่น ISO 45001 ,OHSAS 18001
               2.    เพิ่มเข้าไปในระบบการจัดการอาชีวนามัยและความปลอดภัยของบริษัทตนเอง (Safety Framework)
               3.    เพิ่มเข้าใปในระบบการจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบกระบวนการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น วิศวกรรม การผลิต

          เนื่องจากการนำการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management, PSM) มาประยุกต์ใช้ ไม่ได้เข้าข่ายข้อบังคับ PSM โดยตรงดังนั้นเมื่อสถานประกอบการนำ PSM ทั้ง 5 Elements เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินต่อไปคือการสร้างเป้าหมาย ตัวชี้วัด ทั้งเชิงรับ (Lagging) และเชิงรุก (Leading KPI) และการตรวจติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษามาตรฐานและความยั่งยืนในการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิตในระยะยาว

 

แหล่งอ้างอิง
o การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
o  Developing a Robust PSM Framework at DuPont , Davis Guss
o PSM เรื่องที่จป. และคนวงการ HSE ต้องรู้, รศ.สราวุธ สุธรรมาสา
o 7 สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ 10 กว่าปี ในงานด้าน Process Safety Management (PSM), ยุทธภูมิศักดิ์ บุญธิมา
o Process Safety Management, REPCO NEX


Visitors: 401,583