ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-Cycle Power Plant) สำหรับนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

เผยแพร่เมื่อ 9/8/2566
เขียนโดย คุณธีระวัฒน์  ปัตตาลาโพธิ์        
           ประสบการณ์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยประมาณ 20 ปี ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ,อุตสาหกรรมเหล็ก ,โครงการก่อสร้างโรงงาน ฯลฯ
           ปัจจุบันทำงานที่บริษัท PPTC จำกัด (ลาดกระบังโคเจนเนอเรชั่น)
           การศึกษา ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต อาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เรื่อง ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
(Combined-Cycle Power Plant)
สำหรับนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม คือ อะไร 
          โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-Cycle Power Plant; CCPP) มีการทำงาน 2 ระบบร่วมกัน คือ ระบบของโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ ทำงานร่วมกับระบบของโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ โดยคอมเพรสเซอร์อัดอากาศ (Air Compressor) อัดอากาศจากภายนอกและนำเข้าสู่ห้องเผาไหม้ (Combustor) เชื้อเพลิง (Fuel Gas) จะถูกฉีดเข้ามาผสมกับอากาศและจุดระเบิด ก๊าซร้อนจากการเผาไหม้ขยายตัวผ่านเครื่องกังหันก๊าซ (Gas Turbine) ทำให้กังหันก๊าซหมุนและไปขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ก๊าซที่ปล่อยออกจากกังหันก๊าซ (Gas Turbine Exhaust) จะนำมาใช้ต้มน้ำในหม้อน้ำ (Heat Recovery Steam Generator; HRSG) ได้ไอน้ำนำไปขับเคลื่อนเพลาของเครื่องกังหันไอน้ำ (Steam Turbine)ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Gas_Turbine_Combined_Cycle_Generation_01.svg

อันตรายหลัก ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมคืออะไร 
          อันตรายหลักจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เช่น การรั่วไหลและเพลิงไหม้ของก๊าซธรรมชาติ, หม้อน้ำระเบิด, อันตรายจากไฟฟ้าดูด, อันตรายจากการเกิดอาร์คไฟฟ้าและการระเบิดจากไฟฟ้า เป็นต้น

การป้องกันและควบคุมอันตราย ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
          1. เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นก๊าซไวไฟ
               1) ต้องมีการแบ่งพื้นที่อันตราย (Hazardous area) ตามมาตรฐาน IEC (สากล) และ NEC (อเมริกา) เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกใช้อุปกรณ์ระดับต่างๆ ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของพื้นที่ เช่น การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันการระเบิด (Explosion proof )
               2) ติดตั้งเครื่องวัดก๊าซ (Gas detector) สำหรับเตือนกรณีเกิดก๊าซรั่วไหล หรือสั่งหยุดการผลิตโดยอัตโนมัติหากตรวจพบการรั่วไหลพร้อมกันหลายตัวก็สามารถทำได้

          2. หม้อน้ำต้องมีการควบคุม 
               1) คุณภาพของน้ำที่นำมาใช้กับหม้อน้ำ
               
2) ระดับน้ำ
               
3) มีการตรวจสอบภายในหม้อน้ำ การทดสอบแรงดันด้วยน้ำ (Hydrostatic test) การทดสอบวาล์วนิรภัย (Safety valve)

          3. อันตรายจากไฟฟ้าดูด
               
1) ป้องกันได้โดย การทดสอบว่าวงจรไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวยังมีแรงดันไฟฟ้าหรือไม่  ภายหลังจากได้ปลดวงจรและล็อค/พร้อมติดป้ายห้าม (lockout / tag-out) และได้ต่อลงดินอย่างปลอดภัยก่อนเข้าไปปฏิบัติงาน
               
2) เมื่อจำเป็นต้องทำงานกับหรือใกล้กับวงจรไฟฟ้าที่มีไฟฟ้าอยู่ การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับแรงดันไฟฟ้า เช่น ถุงมือหนัง ถุงมือยาง แขนเสื้อยาง หมวกนิรภัย รองเท้ายาง ฯลฯ ตลอดเวลาด้วยความระมัดระวัง สามารถเพิ่มความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงานได้

          ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ปฎิบัติงานกับก๊าซธรรมชาติ หม้อน้ำ และไฟฟ้าต้องมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนผู้ปฎิบัติงานสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ  ผู้ควบคุมประจำหม้อน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และผ่านการอบรมความปลอดภัยในการทำงานกับไฟฟ้าตามกฎหมายเป็นพื้นฐานร่วมกับระบบการจัดการอื่นๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทั้งบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม

Visitors: 417,589