อาชีวอนามัยและความปลอดภัย กับบทบาทด้าน ESG
เผยแพร่เมื่อ : 24/7/2567
เขียนโดย คุณวรพรรณ วสุเรืองโรจน์
ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม-อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ขอนแก่น)
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย กับบทบาทด้าน ESG
ESG คืออะไร?
ESG เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainability) ที่นอกจากการคำนึงถึงผลประกอบการของธุรกิจเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ไปพร้อมกันด้วย โดย ESG ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 มิติ (Dimensions) ซึ่งแต่ละมิติจะมีการกำหนดหัวข้อย่อยและตัวชี้วัดย่อยเพื่อการกำหนดค่าเป้าหมายในการดำเนินการอีกด้วย
E (Environmental): มิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องต่างๆ เช่น น้ำ ของเสีย ก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เป็นต้น
S (Social): มิติด้านสังคม เป็นการจัดการด้านสังคม การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การดูแลความเป็นอยู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและนอกองค์กร การส่งเสริมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
G (Governance): มิติด้านธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาล เช่น การแสดงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ โดยองค์กรต้องมีการตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเปิดเผยนโยบายและข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ทั้งงบการเงิน โครงสร้างการบริหาร เป็นต้น
การดำเนินงาน ESG มีความสำคัญมากกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากถือเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะนักลงทุน ให้ความสำคัญมากในเวลานี้ และการดำเนินงานในทุกมิติของ ESG จะต้องดำเนินการครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่คุณค่า และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนของบริษัทด้วย อีกทั้งยังส่งเสริม ผลักดันทำให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสากล SDGs (Sustainable Development Goal) กำหนดไว้
อาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความยั่งยืน
งานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งในมิติด้านสังคม(S:Social) ของ ESG โดยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนี้จะกล่าวถึงการดูแล และใส่ใจด้านบุคคล โดยการส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งที่เป็นพนักงานและผู้ที่อยู่ภายใต้การว่าจ้าง การควบคุม และ/หรือกี่ยวข้องกับบริษัท มีสุขภาพดี การป้องกันการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ภายใต้เหตุผลของสิทธิของแรงงาน (Labor Right) และสิทธิมนุษยชน (Human Right) อีกด้วย
การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ (Disclosure) การดำเนินการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร เป็นหัวข้อสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนได้เสียต้องรับทราบข้อมูลผลการดำเนินการ (Performance) จึงมีข้อกำหนดหนึ่งของการดำเนินการด้าน ESG ที่ต้องเปิดเผย บนช่องทาง เช่น แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report), รายงานความยั่งยืน(SD Report) เป็นต้น
แนวทางในการเปิดเผยข้อมูลสามารถอ้างอิงได้หลายมาตรฐาน แต่มีแนวทางที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับอันหนึ่งก็คือ Global Reporting Initiative (GRI) และสำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสามารถอ้างอิงได้ตาม GRI 403 : Occupational Health and Safety 2018 ซึ่งประกอบไปด้วย
403-1 Occupational health and safety management system ระบบการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
403-2 Hazard identification, risk assessment, and incident investigation การชี้บ่งอันตราย ประเมินความเสี่ยง และการสอบสวนอุบัติเหตุ
403-3 Occupational health services การบริการด้านความปลอดภัย
403-4 Worker participation, consultation, and communication on occupational health and safety การมีส่วนร่วมของพนักงาน การให้คำปรึกษาและสื่อสารด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
403-5 Worker training on occupational health and safety การอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้แก่พนักงาน
403-6 Promotion of worker health การส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน
403-7 Prevention and mitigation of occupational health and safety impacts directly linked by business relationships การป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เชื่อมโยงโดยตรงกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
403-8 Workers covered by an occupational health and safety management system พนักงานได้รับการดูแลโดยระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
403-9 Work-related injuries การบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการทำงาน
403-10 Work-related ill health การเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน
การดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นส่วนที่สำคัญในการผลักดันงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
หัวข้อการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ผู้ที่รับผิดชอบงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้รับความสำคัญที่ต้องดำเนินงาน และเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วนสำหรับเปิดเผยในรายงานความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นแผนงาน กิจกรรม การดำเนินงานต่าง ๆ และผลลัพท์ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน มั่นใจได้ว่าองค์กรมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเต็มที่ที่จะป้องกันการประสบอุบัติเหตุในการทำงาน และการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทุกคน และทำให้เกิดความโปร่งใสของสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบระหว่างบริษัท เพื่อนำไปสู่การแข่งขันเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทุกคนอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง