การยศาสตร์และปัจจัยเสี่ยงทางการยศาสตร์ที่ทำให้เกิด Musculoskeletal Disorders

เผยแพร่เมื่อ:  10/07/2564....,
เขียนโดย อาจารย์ศรุดา จิรัฐกุลธนา 
               มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
...,

 

การยศาสตร์และปัจจัยเสี่ยงทางการยศาสตร์ที่ทำให้เกิด Musculoskeletal Disorders
(Ergonomics and the cause of Musculoskeletal Disorders – exposure to risk factors)

          หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า การยศาสตร์ หรือ Ergonomics (ซึ่งบางประเทศเรียก Human Factors) อยู่บ่อย ๆ บทความนี้จึงขอสรุปความหมายว่าของการยศาสตร์ ซึ่งหมายถึง “The scientific discipline concerned with the understanding of interactions among humans and other elements of a system, and the profession that applies theory, principles, data, and methods to design in order to optimize human well-being and overall system performance.” ที่ให้ความหมายโดย International Ergonomics Association (IEA) หมายถึง การยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และองค์ประกอบอื่น ๆ ในระบบ เป็นวิชาชีพที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎี หลักการ ข้อมูล และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการออกแบบ เพื่อให้แน่ใจว่ามนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยมีหลักการสำคัญ คือ การออกแบบที่เน้นผู้ใช้เป็นหลัก (user-centered design) ซึ่งเป็นการปรับงานให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน (fitting the job to the worker) นั่นเอง

         หากหลักการของการยศาสตร์ไม่ถูกให้ความสำคัญในองค์กรหรือสถานที่ทำงาน อาจนำไปสู่ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เรียกว่า MSDs (Musculoskeletal Disorders) ที่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่ออ่อน (กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเส้นประสาท) และข้อต่อ ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดโรคเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสาเหตุของ MSDs เกิดจากการสัมผัสปัจจัยเสี่ยง มีดังนี้

                   1. ท่าทางที่ไม่เหมาะสม (Awkward posture) หมายถึง ตำแหน่งของร่างกายที่เบี่ยงเบนจากตำแหน่งที่เป็นกลางในขณะที่ทำกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพน้อยลงและต้องใช้แรงกำลังมากขึ้นเพื่อให้งานสำเร็จ ตัวอย่างลักษณะท่าทางของร่างกายที่ไม่เหมาะสม เช่น การบิด การงอ การเอื้อม การดึง การยก การทำงานด้วยมือที่ชูเหนือศีรษะ หรือข้อศอกอยู่เหนือไหล่ การทำงานที่คอหรือหลังมีการงอหรือโค้งมากกว่า 30 องศา หรือทำท่าทางเดิมค้างไว้นาน ๆ เป็นต้น

                    2. การออกแรงที่มากจนเกินไป (Forceful Exertion) จะเกิดขึ้นในกรณีการยกของหนักขึ้นและลง การเคลื่อนย้ายพัสดุหรือผลักรถเข็นที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งงานที่หนักจำเป็นต้องใช้กำลังสูง อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าเร็วขึ้น และนำไปสู่การระคายเคือง การอักเสบ การตึงและการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้

                    3. การทำงานซ้ำๆ (Repetitive motion) หรือระยะเวลาในการทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรม เป็นระยะเวลานานๆ ในท่าทางเดิม เมื่อรวมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การออกแรงที่มากเกินกำลัง หรือท่าทางที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลต่อการเกิด MSDs ที่เกี่ยวข้องกับงาน

                    4. แรงกดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย (Contact Stress) เกิดขึ้นเมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเสียดสีกับส่วนประกอบของเครื่องมือ อุปกรณ์ เช่น การสัมผัสของข้อมือและขอบโต๊ะ ทำให้เกิดแรงกดที่ข้อมือ ซึ่งอาจส่งผลต่อเส้นประสาทและหลอดเหลือด

                    5. การสั่นสะเทือน (Vibration) อาจส่งผลต่อเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นประสาท ซึ่งการสั่นสะเทือนส่งผลกระทบใน 2 ลักษณะ คือการสั่นสะเทือนเฉพาะที่ เกิดจากการใช้เครื่องจักรหรือเครื่องมือที่มีความสั่นสะเทือน ซึ่งจะทำให้เส้นประสาทและหลอดเลือดของมือและแขนเสียหายได้ ส่วนอีกลักษณะหนึ่ง คือการสั่นสะเทือนทั้งร่างกาย เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานที่ขับรถบรรทุก รถประจำทางบนพื้นถนนที่ขรุขระ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการปวดหลังส่วนล่างและความเสียหายต่อหมอนรองกระดูกสันหลัง

(Ref: safetysolutions)

                    6. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Factor) เช่น อุณหภูมิที่สูงเกินไป แสงสว่างที่ไม่เหมาะสม และรบกวน ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์และส่งผลต่อคุณภาพในการทำงาน

                    นอกจากนี้ การรวมกันของปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาอาจก่อให้เกิดอันตรายและการบาดเจ็บเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงมากกว่าหนึ่งปัจจัยในแต่ละครั้ง และเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง ทำให้เกิดการสะสม ซึ่งจะเพิ่มมีโอกาสในการเกิดการบาดเจ็บมากขึ้น

 

          สำหรับ EP.1 นี้ ผู้เขียนหวังว่าทุกท่านจะได้รับเป็นประโยชน์และทำให้เข้าใจในความหมายของการยศาสตร์และปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด MSDs นะคะ “Make the work fit the person, not the person fit the work” เพื่อป้องกันปัญหาและความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นจาก MSDs นะคะ ในส่วน EP. ต่อไป จะเป็นหลักการการควบคุมตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic Control Methods) ฝากติดตามต่อไปด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ ^^

 

Reference:

https://www.safetysolutions.net.au/content/personal-protection-equipment/article/the-dangers-

of-vibrating-tools-and-machinery-579252271

Visitors: 365,719