วิธีการควบคุมตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic Control Methods)

เผยแพร่เมื่อ:  10/08/2564....,
เขียนโดย อาจารย์ศรุดา จิรัฐกุลธนา 
               มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
...,

 

เรื่อง วิธีการควบคุมตามหลักการยศาสตร์
(
Ergonomic Control Methods)

          สำหรับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงตามหลักการยศาสตรนั้น มีหลายวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงและควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อปรับงานให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน หลังจากที่มีการระบุอันตราย/ปัจจัยเสี่ยงแล้ว (สามารถดูได้จาก EP.1) ควรมีวิธีการควบคุมอันตราย/ปัจจัยเสี่ยงนั้น ใน EP. นี้ ผู้เขียนจะใช้ Hierarchy of Control (ดังรูปที่ 1) มาเป็นหลักการในการควบคุมทางการยศาสตร์ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และผู้ที่เกี่ยวข้องคงจะคุ้นเคยกันดีกับ Hierarchy of Control ซึ่งประกอบไปด้วย Elimination, Substitution,Engineering Controls, Administrative Controls และ Personal Protective Equipment (PPE)

รูปที่ 1 Hierarchy of Control
ที่มา : NIOSH

          Elimination การกำจัดอันตราย/ปัจจัยเสี่ยง เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ดำเนินการได้ยากที่สุด เนื่องจากการกำจัดความเสี่ยงนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อระบบการทำงานได้ถูกออกแบบมาอย่างดี เหมาะสมกับลักษณะงานและผู้ปฏิบัติงาน ตัวอย่างการควบคุมการยศาสตร์ด้วยวิธีการ Elimination เช่น การออกแบบลักษณะงานใหม่ (job redesign) เพื่อลดท่าทางที่ไม่เหมาะสมที่อาจจะเกิดขึ้น ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 Job redesign

          Substitution การแทนที่อันตราย/ปัจจัยเสี่ยง เช่น การเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานและพื้นที่การทำงาน หรือการเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่มีความเสี่ยงและอันตรายน้อยกว่าแทน

          Engineering Controls การควบคุมด้วยวิธีทางวิศวกรรม โดยการปรับเปลี่ยนสถานีงาน อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือกระบวนการทำงาน ดังรูปที่ 3 ซึ่งช่วยลดอันตรายในงาน เช่น การออกแบบสถานีงาน เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถทำงานในท่าทางที่เหมาะสมได้ การใช้สายพานลำเลียง (Conveyor) เพื่อลดการทำงานซ้ำซากและลดแรงที่ใช้ในการเคลื่อนชิ้นงาน เป็นต้น นอกจากนี้ Engineering Controlsยังอาจรวมถึงการออกแบบขั้นตอนการทำงาน และการออกแบบ Layout พื้นที่การทำงานด้วยเช่นกัน

   

รูปที่ 3 Engineering Controls

          Administrative Controls / Work practice controls การควบคุมทางการบริหารจัดการ หรือการควบคุมการปฏิบัติงาน โดยเปลี่ยนวิธีการทำงาน มีแนวทางและขั้นตอนที่เหมาะสม เพื่อสร้างกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดอบรมและการฝึกปฏิบัติการทำงาน การใช้เทคนิคการยกที่ถูกต้องตามหลักทางการยศาสตร์ การจำกัดน้ำหนักการยกของ การสร้างระบบการทำงานให้มีการหมุนเวียนงาน การสร้างระบบการทำงานที่หลากหลาย เพื่อปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงาน เป็นต้น

          Personal Protective Equipment (PPE) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เพื่อลดการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการยศาสตร์ ทำได้โดยการใช้ soft material เช่น ถุงมือ เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับความสั่นสะเทือน ความร้อน ความเย็น สิ่งมีคม แหลม

          ทั้งหมดนี้คือหลักการควบคุมทางการยศาสตร์ตาม Hierarchy of Control ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในสถานประกอบกิจการและสถานที่ทำงาน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านการยศาสตร์ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานค่ะ สำหรับ EP.3 ฝากให้ทุกท่านติดตามในเรื่องอันตรายทางการยศาสตร์และวิธีการออกแบบแก้ไข ที่จะนำตัวอย่างต่างๆ มาให้ทุกท่านได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันค่ะ รอติดตามกันนะคะ

 

เอกสารอ้างอิง

The National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH)

 

Visitors: 365,776